วัดพุทธปัญญา

บทความ\ประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน

ประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน

            หากพุทธศาสนิกชนได้นำเอา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสามวันคือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา มาวางเรียงกันแล้วจับหลักสำคัญของแต่ละวันมาปฏิบัติที่กาย วาจา และใจ ก็จะมีการปฏิบัติธรรมกันทั้งปี ในการจับประเด็นธรรมของวันสำคัญแต่ละวันก็จับตามสะดวก หรือจะจับเอาหลักสำคัญในวันมาฆบูชามาเป็นหลักธรรมนำร่องก็จะสามารถเริ่มต้นการปฏิบัติได้อย่างดี

            หลักธรรมสำคัญในวันมาฆบูชาที่นำมาเป็นแสงสว่างนำทางชีวิตได้เลยคือ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำความดีให้ถึงพร้อม การชำระจิตให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง

            หลักธรรมสำคัญในวันวิสาขบูชาที่ควรนำมาพิจารณาไตร่ตรองมองดูให้ถ้วนถี่อยู่ตลอดเวลาคือ อริยสัจสี่ประการ ประกอบด้วย ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับไปแห่งทุกข์ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไปแห่งทุกข์

            หลักธรรมสำคัญในวันอาสาฬหบูชาคือ การปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปดประกอบด้วย ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจชอบ

            หากได้ตั้งตนอยู่ในธรรมตามวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่เรียบเรียงกันมาตามลำดับตลอดทั้งปี ชีวิตของพุทธบริษัทก็มีแต่ทางสว่างไม่มีทางมืดบอด

            เมื่อใกล้จะถึงวันวิสาขบูชา พุทธบริษัทก็ได้นำเอาธรรมะประจำวันวิสาขมาพิจารณากันตามความสะดวก หลายคนได้หยิบเอาเอกลักษณ์ของวันวิสาขบูชาที่พุทธบริษัทรู้จักกันเป็นอันดีมาพิจารณากันเสมอๆนั่นคือ เป็นวันที่ตรงกับวันที่พระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน จะเป็นจริงๆตรงๆตามตัวอักษรหรือมีนัยอะไรซ่อนเร้นอยู่บ้าง

            คำตอบเรื่องนี้ไม่ตายตัวขึ้นอยู่กับพื้นฐานที่จะนำมาพิจารณาว่า จะพิจารณาจากฐานอะไร

            ถ้าพิจารณาจากฐานแห่งการเคารพยกย่องในฐานะพระศาสดาเอก คือ พระศาสดาเพียงหนึ่งเดียวในโลกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความจริงเพราะเกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดาเอกของโลก ก็ไม่ต้องตีความอะไร จำได้ง่ายๆว่า พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานในวันเพ็ญขึ้นสิบห้าค่ำเดือนหกอันเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง

            เป็นที่ทราบกันดีว่า พระพุทธเจ้าประสูติใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินี ปัจจุบันนี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล ในวันเพ็ญขึ้นสิบห้าค่ำเดือนหก ขณะที่พระมารดาเสด็จไปเยือนกรุงเทวทหะอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพระองค์

            ต่อมาเมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ สามสิบห้าพรรษา ได้ตรัสรู้ที่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ เมืองพุทธคยา ประเทศอินเดียในวันเพ็ญขึ้นสิบห้าค่ำเดือนหก

            เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ แปดสิบพรรษา ได้ปรินิพพานใต้ต้นรังคู่ ณ เมืองกุสินารา ในวันเพ็ญขึ้นสิห้าค่ำเดือนหกเช่นเดียวกัน

            นี่คือเหตุการณ์สำคัญขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เกิดขึ้นในวันเพ็ญขึ้นสิบห้าค่ำเดือนหกเหมือนกันทั้งสามวัน เป็นอัศจรรย์

            ต่อมาภายหลังก็มีผู้ใฝ่รู้ทั้งหลายตั้งข้องสงสัยว่า ทำไมการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานต้องเกิดขึ้นภายในวันเดียวกัน

            เมื่อตอบว่า เพราะพระองค์เป็นพระศาสดาอย่างไรละ

            ก็มีคำถามกลับมาว่า ถ้าจะตีความเป็นอย่างอื่นได้ไหม

            เมื่อคำถามเกิดขึ้นในเชิงปรัชญาที่เน้นการแสวงหาความรู้แบบนี้ การตีความก็เริ่มมีขึ้นอย่างกว้างขวาง ซึ่งทิศทางที่ตีความนั้นไกล้เคียงกัน โดย นำเอาคำว่าการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้ามาเป็นตัวตั้ง

 เริ่มต้นด้วยการตีความ คำว่า เจ้าชายสิทธัตถะ และ การเป็นพุทธะเสียก่อน

            เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ เมื่อแปดสิบปีก่อนพุทธกาล ตรัสรู้เมื่อสามสิบห้าปีก่อนพุทธกาลและเมื่อปรินิพพานแล้วจึงเริ่มนับพุทธศักราชหนึ่งแห่งพุทธกาลหรืออาจจะใช้คำว่า พระองค์ปรินิพพานก่อนพุทธกาล จะนับว่าหนึ่งปีก็ไม่ได้เพราะปรินิพพานเสร็จก็เริ่มนับพุทธศักราชเลย

            ประเด็นที่ว่าต้องตีความ คำว่า พุทธะ และเจ้าชายสิทธัตถะ ให้ชัดก่อนก็คือ พุทธะหมายถึงสภาวะจิตที่หมดกิเลสโดยสิ้นเชิงแล้ว ไม่เกิดกิเลสอีกเลย เข้าถึงความสะอาด สว่าง และสงบอย่างสมบูรณ์แบบ ส่วนเจ้าชายสิทธัตถะหมายถึงพระวรกายเนื้อที่คลอดออกมาจากครรภ์มารดา เจริญวัยตามลำดับ ดำเนินชีวิต นั่งนอน กินดื่ม เดินทางอบรมสั่งสอนเมื่อถึงเวลาก็จากโลกนี้ไป

            หากเข้าใจว่า พุทธะกับเจ้าสิทธัตถะมีนัยต่างกันอย่างนี้แล้ว ข้อความที่ว่า วันประสูติตรัสรู้และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า มีขึ้นในวันเดียวกัน ก็สามารถตีความได้แจ่มชัดขึ้น

            โดยนำเอาคำว่าประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานมาทำความเข้าใจอีกครั้ง

            การประสูติของพระพุทธเจ้าก็คือ ขณะที่สภาวะจิตของพระองค์บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสทั้งปวง แต่เปี่ยมด้วยความรู้ ความตื่น ความบเบิกบานชั่วกาลนาน

            การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือ สภาวะจิตที่ทรงรู้แจ้งการเกิดและการดับของกิเลสแล้วสามารถกำจัดเหตุแห่งการเกิดกิเลสลงได้อย่างราบคาบถอนรากถอนโคน

            การปรินิพพานของพระพุทธเจ้าคือ สภาวะที่กิเลสในจิตของพระองค์ที่เคยแผดเผาให้เร่าร้อนได้หมดสิ้นไป ดับลงอย่างสนิท เพราะคำว่านิพพานแปลว่า เย็น ปะริ แปลว่า รอบ เมื่อนำคำสองคำนี้มาผสมกันว่า ปรินิพพาน แปลว่า เย็นรอบ เย็นสนิท หรือไม่มีความร้อนที่เกิดจากการแผดเผาของกิเลสใดๆหลงเหลืออีกเลย

            สภาวะที่กิเลสดับไปไม่เหลือ สภาวะแห่งความรู้แจ้งเจิดจ้าจนอวิชาาความมืดตั้งอยู่ไม่ได้ตลอดไป และความรู้ตื่นเบิกบานที่ตั้งอยู่ชั่วนิรันดร์ เกิดขึ้นพร้อมกันในวันเดียวกันอย่างสอดคล้องลงตัว

            นี่คือการตีความอีกอย่างหนึ่งที่กระทำบนพื้นฐานแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

            สาระสำคัญของการทำความเข้าใจวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนา อยู่ที่การเพิ่มพูนความศรัทธาในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแล้วเร่งขวนขวายนำเอาพระธรรมที่พระองค์ตรัสรู้แล้วมานำทางชีวิตของพวกเราเองให้ห่างจากทุกข์ห่างจากโศกแล้วดำรงชีวิตอย่างสงบพบความสุขทุกเมื่อเชื่อวันเป็นเรื่องสำคัญมาก

           

© วัดพุทธปัญญา -แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา :: © Copyright 2008 Buddhapanya Temple