วัดพุทธปัญญา

บทความ\พระพุทธเจ้าตรัสรู้

พระพุทธเจ้าตรัสรู้

เมื่อใกล้วันเพ็ญขึ้นสิบห้าค่ำเดือนหก อันเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจศึกษาเรื่องของพระพุทธเจ้าในแง่มุมต่างๆกันเป็นพิเศษ แต่ละคนมักจะจับเอาพุทธประวัติตอนใดตอนหนึ่งที่ตนโปรดปรานมาพิจารณา มาสนทนา มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อก่อให้เกิดพุทธานุสติหรือ การระลึกถึงพระพุทธเจ้า อันเป็นวิธีการที่จะทำให้เกิดความสงบร่มเย็นได้อีกทางหนึ่งในฐานะที่มีพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ หรือ เป็นที่พึ่ง การมีพระพุทธเจ้าเป็นสรณะหรือ เป็นที่พึ่งนั้นคือ การวางใจไว้กับพระพุทธคุณอันบริสุทธิ์สะอาดเปี่ยมด้วยความกรุณาของพระพุทธเจ้า มิให้หวั่นไหววอกแวกไปพักพิงปักดิ่งอยู่กับ สิ่งอื่นใดอีก เรียกว่า มีศรัทธาในพระพุทธเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว

พุทธบริษัทจำนวนมากให้ความสนใจศึกษาว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร เพื่อให้เกิดความเข้าใจซาบซึ้ง ศรัทธาในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้องที่เรียกว่า ตถาคตโพธิสัทธา แปลว่า มีความศรัทธาในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า อันเป็นศรัทธาที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้เรียกตนเองว่า พุทธบริษัทต้องมีเป็นเบื้องต้น เพื่อจะได้ศึกษาพระธรรมอันเป็นทางสิ้นทุกข์สิ้นโศรกต่อไปอย่างมั่นใจ

เมื่อพูดถึงการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าที่พบได้ในพระไตรปิฎกในส่วนที่เป็นพระพุทธวจนะก็จะพบข้อความที่เกี่ยวข้องกับการตรัสรู้ว่า เมื่อพระองค์มีพระหฤทัยตั้งมั่นไม่หวั่นไหว อ่อนโยน เข้าฌานอันเหมาะสมกับการตรัสรู้แล้วจึงตรัสรู้ญาณทั้งสามตามลำดับคือ

  1. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ความรู้ที่ตามระลึกได้ถึงชาติที่เคยเกิดมาก่อน ตั้งแต่หนึ่งชาติถึงแสนชาติว่า แต่ละชาติ มีชื่ออย่างไร มีนามสกุลว่าอย่างไร บิดามารดาชื่อว่าอย่างไร มีอายุเท่าไร แต่ละชาติเคยเกิดเป็นคนหรือเป็นสัตว์ชนิดใดมาบ้าง ก่อนที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
  2. จุตุปปาตญาณ ความรู้เกี่ยวกับการตายและการเกิดของสัตว์ที่ยังมีกิเลสทั้งหลาย ที่จะต้องเกิดไปตามแรงขับเคลื่อนแห่งกรรมและตัณหา พร้อมกับกิเลสอื่นๆที่เป็นองค์ประกอบกัน ให้ดั้นด้นไปตามในภพภูมิต่างๆเปรียบเหมือนเมล็ดพันธุ์พืชที่ยังมีเปลือกหุ้มและหน่อที่พร้อมจะงอกขึ้นมาเมื่อได้พบเหตุปัจจัยอันมีดิน น้ำ อุณหภูมิ เป็นต้นพร้อมก็งอกขึ้นอีก พระญาณนี้ของพระพุทธเจ้า นำให้พระองค์ทรงทราบว่าสัตว์และมนุษย์ทั้งหลายเวียนว่ายตายเกิดอย่างไร
  3. อาสวักขยญาณ ความรู้ที่สมบูรณ์พร้อมจนทำลายกิเลสอย่างละเอียดที่สุดได้หมดสิ้นไม่มีเชื้อเหลือ เปรียบเหมือนการทำลายเชื้อไฟที่จะลุกโชนขึ้นมาแผดเผาได้ไม่หลงเหลือ ท่านจึงเรียกความสงบที่เกิดจากการไม่มีกิเลสเหลือในพระหฤทัยนี้ว่า นิพพาน แปลว่า เย็นสนิท ยิ่งคำว่า ปรินิพพาน ก็ยิ่งย้ำลงไปอีกว่า เป็นความเย็นสนิทโดยรอบไม่หลงเหลือส่วนใดที่เป็นความเร่าร้อนเพราะกิเลสอีกเลย หรือ ท่านเรียกว่า นิโรธดับสนิท ถ้อยคำเหล่านี้ล้วนเป็นการแสดงสภาวะแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น

กอ่นที่พระพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้พระญาณทั้งสามประการนี้ พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญความเพียร อย่างต่อเนื่องเพื่อจุดหมายเดียวคือ การตรัสรู้ บนเส้นทางแห่งความพากเพียรนั้น ได้ผ่านการทดลอง ปฏิบัติเพื่อการตรัสรู้ตามวิธีการต่างๆจากสำนักของเจ้าลัทธิร่วมสมัยเป็นเวลาหลายปี แต่ก็ไม่บรรลุธรรมที่พระองค์ทรงมั่นใจว่า เป็นการตรัสรู้คือกิเลสหมดไป และไม่เกิดกิเลสได้อีก พระองค์เปรียบเทียบการไม่เกิดกิเลสไว้ว่า เมล็ดงาไม่สามารถจะวางอยู่บนเหล็กแหลมได้ฉันใด กิเลสก็ไม่สามารถจะเกิดขึ้นกับตถาคตได้ฉันนั้น หรือ หยาดน้ำที่หยาดลงบนใบบัวไม่สามารถจะซึมซับใบบัวได้ฉันใด กิเลสก็ไม่สามารถซึมซับเข้าสู่พระหฤทัยของพระตถาคตได้ฉันนั้น

อันความรู้ทั้งหลายที่มนุษย์คิดค้นได้มาสามารถผลิตหรือสร้างอุปกรณ์อำนวยความสะดวก รวดเร็ว สร้างความสุขหรือบรรเทาทุกข์ให้แก่มนุษย์ในระดับใดระดับหนึ่งได้เท่านั้น เมื่อต้องประสบกับเหตุปัจจัยที่จะเป็นทุกข์ความทุกข์ก็พร้อมจะปะทุขึ้นมาได้เสมอ แต่ความรู้ที่มาจากการตรัสรู้ เป็นความรู้ที่ไม่มีเหตุปัจจัยหรือเงื่อนไขใดๆจะมารบกวนใจให้เป็นทุกข์ได้อีก เป็นความรู้อันสูงส่งที่ปลดปล่อยดวงใจของผู้เข้าถึงการตรัสรู้ให้เป็นอิสรภาพจากทุกข์ทั้งปวง

 

 

 

 

© วัดพุทธปัญญา -แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา :: © Copyright 2008 Buddhapanya Temple