วัดพุทธปัญญา

บทความ\ภาษาธรรม

ภาษาธรรม

            ผู้ที่ศึกษาพระพุทธศาสนาส่วนใหญ่มักจะบ่นให้ได้ยินเสมอว่า การศึกษาพระพุทธศาสนายากมากเพราะคำที่พระสงฆ์นำมาแสดงธรรมฟังไม่รู้เรื่องส่วนมากเป็นภาษาบาลี การฟังไม่เข้าใจนี้เอง เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของความเบื่อหน่ายในการศึกษาพระพุทธศาสนาตามคำยอดฮิตที่คนเบื่อศาสนาชอบพูดกันว่า ฟังเทศน์แล้วชวนหลับนั่นเอง

            คำพูดที่ว่า ฟังเทศน์แล้วชวนหลับนั้น เป็นความจริงที่สุดที่ผู้ฟังหรือแม้แต่ผู้เทศน์ก็ปฏิเสธไม่ได้ คนที่ฟังเทศน์ส่วนใหญ่จึงตัดใจเสียว่า ฟังเทศน์ไปอย่างนั้นแหละ ฟังไปบ้างหลับไปบ้าง ตื่นขึ้นมาก็ฟังต่อ เป็นการฟังเอาบุญ ซึ่งก็ไม่ต้องเข้าใจอีกแหละว่า บุญคืออะไรอยู่ที่ไหนเป็นอย่างไร

            อาจจะพูดได้ว่า หลายสิบปีที่ผ่านมา พระหนุ่มๆเป็นจำนวนมากทั้งที่โด่งดังมากตามสื่อโทรทัศน์และไม่มีใครรู้จักเลยได้หันมาปรับปรุงวิธีการแสดงธรรมกันเป็นการใหญ่ โดยพยายามนำภาษาง่ายๆไปสื่อธรรมะให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่ายขึ้น พระนักเทศน์หลายรูปไม่ใช่เก่งเพียงแต่นำเอาธรรมะมาสื่อให้คนทั่วไปเข้าใจได้เท่านั้น แต่ยังกลายเป็นธรรมะระดับซุปเปอร์ฮา ที่ตลกคาเฟ่ยังชิดซ้าย หรือต้องหนีหลวงพี่ไปไกลๆ เพราะดาวตลกทั้งหลายพูดได้แต่เรื่องตลก ซึ่งไม่ต้องคำนึงถึงสาระแต่หลวงพี่ที่เทศน์แบบซุเปอร์ฮาล้วนมีทั้งสาระและบันเทิงครบครัน ใครได้ฟังแล้วติดหูติดใจนำไปใช้ในชีวิตประจำวันกันนานทีเดียว

            ความจริง ภาษาบาลีที่คนทั่วไปเข้าใจยาก อันเป็นภาษาที่บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้ามาแต่โบราณนั้น หากแปลออกมาแล้ว ภาษาที่เป็นธรรมะแท้ๆจะเข้าใจได้ไม่ยาก เช่นภาษาไทยที่ปนภาษาบาลีว่า ทวารทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ จะเห็นได้ว่า ภาษาธรรมที่เป็นภาษาไทยส่วนใหญ่เข้าใจได้ง่ายไม่ลึกลับอะไรเลย ใครๆก็เข้าใจได้ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ อยู่ตรงไหน ทำหน้าที่อะไร แต่คำว่า ทวาร นี่ซิ ยากจริงๆ

            ที่นี้ก็มาแปลคำว่า ทวารออกมาเป็นไทยแท้ เสียก่อนก็จะแปลได้ว่า ช่อง ประตู ทางเข้าทางออก ซึ่งใช้กับอวัยวะหลายส่วนทีเดียว เช่นทวารหนัก เป็นทางออกของอุจจาระ ทวารเบา เป็นทางออกของปัสสาวะ

            คำว่า ทวารที่ใช้ในกรณีอย่างนี้ แปลว่า ทางออก

            ส่วน ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ อันเป็นพื้นฐานของการศึกษาพระพุทธศาสนาที่สำคัญนั้น ก็เรียกว่า ทวารเหมือนกัน ซึ่งอาจจะแปลว่า เป็นทั้งช่องทางเข้าและทางออก หากทวารตา แปลว่า ช่องทางออก ก็คือ ช่องทางออกของขี้ตา หู ก็เป็นช่องทางออกของขี้หู จมูกก็เป็นช่องทางออกของขี้มูก หากจะแปลว่า ลิ้นเป็นช่องทางออกด้วยก็เป็นช่องทางออกของคำพูด กายก็เป็นช่องทางออกของสิ่งปฏิกูลต่างๆที่ออกมาตามช่องและขุมขนทั่วร่างกาย ใจเป็นช่องทางออกของความคิดที่ไหลออกมาไม่หยุด

            ต่อมาถ้าจะแปล ทวารทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจว่า เป็นทางเข้า ก็จะแปลได้ว่า ตา เป็นช่องทางเข้ามาของรูป หูเป็นช่องทางเข้ามาของเสียง จมูก เป็นช่องทางเข้ามาของกลิ่น ลิ้น เป็นช่องทางเข้ามาของรส กายเป็นทางเข้ามาของการสัมผัสถูกต้อง ใจเป็นช่องทางเข้ามาของของธรรมารมรณ์ คือความครุ่นคิดทั้งที่รับเข้าและส่งออก

            นี่คือ ความหมายของคำว่า ทวารที่ใช้ในภาษาธรรมะเพื่ออธิบายว่า ก่อนที่มนุษย์จะ ทำ พูด หรือ คิด สิ่งใดๆ ไม่ว่า ดี หรือ ชั่ว ล้วนตั้งต้นที่ ช่องทางทั้งหกช่องทางนี้เสมอ

            การปฏิบัติธรรมเพื่อนำชีวิตให้รอดพ้นจากกิเลส อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จึงต้องวางสติ คือ ความระลึกได้อยู่เสมอ ก่อนที่จะรับสิ่งใดเข้ามา และขณะที่กำลังรับเข้ามาก็รู้สึกตัวอยู่เสมอว่า กำลังรับอะไรเข้ามา เมื่อรับเข้ามาแล้ว มีผลอะไรติดตามมาจากการรับสิ่งต่างๆเข้ามาตามช่องเหล่านี้ก็นำมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่า ดีหรือชั่ว สุขหรือทุกข์ เบียดเบีบยตนเอง เบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่ คอยเฝ้าดูใส่ใจแก้ไขปรับปรุงให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น เมื่อพบว่า การจัดการกับเรื่องราวต่างๆได้อย่างราบรื่นปลอดภัยแล้ว ก็จดจำกระบวนการนั้นๆไว้ นำไปใช้บ่อยๆปรับปรุงไปเรื่อยๆให้มีประสิทธิภาพในการรับและการส่งออกก็จะเป็นประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นอย่างดี

            หลักธรรมทั้งหลายในพระพุทธศาสนาแท้จริงแล้วมิใช่อะไรบางอย่างที่ลึกลับซับซ้อนเหลือประมาณ ทุกอย่างมีอยู่ในชีวิตประจำวันและเคยใช้เคยทำมาแล้วด้วย แต่เมื่อประมวลเรื่องราวประสบการณ์เหล่านั้นมาไว้เป็นหมวดหมู่ง่ายต่อการนำมาใช้แก้ปัญหาชีวิตในแต่ละเรื่องแต่ละตอนจึงดูเหมือนว่า เป็นสิ่งไกลตัวออกไปทั้งๆที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน อย่างเช่นเรื่องของสติที่ช่วยให้เรารู้จักหยิบฉวยสิ่งต่างๆมาอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตได้อย่างถูกต้อง เราก็ใช้ตั้งแต่ลืมตาในแต่ละวันจนกระทั่งหลับตาลงในตอนเข้านอน ล้วนต้องอยู่กับสติทั้งสิ้น

            ธรรมะมีอยู่แล้วในชีวิต แต่บางทีอาจจะไม่ทราบแต่เมื่อทราบแล้วจะได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตมากขึ้น ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทุกข์ก็ตาม เหตุให้เกิดทุกข์ก็ตาม ความดับทุกข์ก็ตาม ทางแห่งความดับทุกข์ก็ตามมีอยู่ในกายยาววาหนาคืบกว้างศอกที่มีความรู้สึกนึกคิดจดจำระลึกได้นี้

            หรือหากจะชี้ให้เห็นกันชัดก็ชี้ได้ว่า ในชีวิตประจำวันแต่ละวันที่ผ่านมามนุษย์ทุกคนได้ผ่านประสบการณ์แห่งความทุกข์และความไม่ทุกข์มานับไม่ถ้วน

            ความทุกข์และความไม่ทุกข์นี่แหละคือ หัวใจของพระพุทธศาสนา

            ทุกครั้งที่ผ่านความทุกข์ก็ระลึกเสมอว่า ได้สัมผัสหัวใจของพระพุทธศาสนา เมื่อเวลาที่ทุกข์ไม่มี ก็บอกกับตัวเองว่า ได้สัมผัสกับหัวใจของพระพุทธศาสนาอีกครั้งหนึ่ง หากพบว่า ชีวิตต้องพบกับความทุกข์และความไม่ทุกข์สลับสับเปลี่ยนกันไป ก็ตั้งใจเสียใหม่ว่าพยายามอยู่อย่างไม่มีทุกข์หรือให้ทุกข์แต่น้อย สิ่งใดที่ทำพูดหรือคิดแล้วจะเป็นเหตุแห่งทุกข์ก็ยุติเสีย สิ่งใดที่ทำ พูดหรือคิดแล้วไม่ทุกข์ก็มุ่งหน้าเข้าไปหาสิ่งนั้น แต่ถ้าหลีกเลี่ยงทุกข์ไม่พ้นก็ตั้งใจเผชิญด้วยจิตใจที่เข้มแข็งมั่นคงจนกว่าทุกข์จะผ่านไปแล้วกลับมาอยู่กับความไม่ทุกข์ต่อไป

            หากสังเกตุดูให้ดีๆจะพบว่า ชีวิตส่วนใหญ่แต่ละวันของแต่ละคนจะพบความทุกข์น้อยกว่าความไม่ทุกข์ ความทุกข์เป็นเพียงแขกที่มาเยือนเป็นครั้งคราวมา จงต้อนรับให้ดีแล้วก็ส่งแขกกลับคืนเมื่อถึงเวลาอันสมควร จากนั้นก็กลับมาอยู่กับความไม่ทุกข์อันเป็นบ้านพักใจที่รออยู่เสมอต่อไป

© วัดพุทธปัญญา -แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา :: © Copyright 2008 Buddhapanya Temple