วัดพุทธปัญญา

บทความ\สันทิฎฺฐิโก เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง

สันทิฎฺฐิโก เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง

เมื่อพุทธศาสนิกชน สวดบทธรรมคุณว่า สันทิฎฐิโก ซึ่งแปลว่า ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง เป็นคุณลักษณะของพระธรรม ที่สำคัญโดเด่น ที่เป็นหลักในการวัด ประเมิน และตัดสินว่า การศึกษาและปฏิบัติ นั้นๆ เป็นพระธรรมตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้หรือไม่ หากเป็นพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะเป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติเห็นได้ แต่ถ้าหาก ไม่ใช่พระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิบัติไปหรือศึกษาไปก็จะไม่สามารถพิจารณา หรือไตร่ตรองให้เห็นจริงได้ตามนั้น

คำว่า เห็นจริงได้ คือ สามารถ สัมผัสได้ ทางกาย หรือ ทางใจ ในขณะที่ศึกษาและปฏิบัติ โดยนำเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาตั้งแล้วพิจารณาว่า สิ่งที่ปรากฏที่กายหรือที่ใจนั้น เป็นธรรม หรือ เป็นไปตามที่พระธรรมได้บอกกล่าวไว้หรือไม่

เช่นพระพุทธเจ้าสอนว่า กิเลสคือ ราคะ ความกำหนัด ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส เป็นความร้อน โทสะ ความโกรธ ความเกลียด ความชัง เป็นความเร่าร้อน ความลุ่มหลง ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมมารมณ์ ก็เป็นความเร่าร้อน

หากเฝ้าสังเกตใจไว้ให้ดีก็จะทราบว่า กิเลสเหล่านี้ เกิดเมื่อไร ความร้อนใจเกิดขึ้นเมื่อนั้น เป็นความรู้สึกที่ประสบได้ เห็นได้ สัมผัสได้ด้วยใจ เป็นความรู้สึกที่เป็นสากล ไม่มีข้อยกเว้นหรือจำกัดแต่อย่างใด

หากพิจารณา ถึงผลอันมีสาเหตุมาจาก ราคะ โทสะ และโมหะ นี้ที่ปรากฏให้เห็นให้สัมผัสกันในกิจการ ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ หรือความเร่าร้อนวุ่นวายทุกส่วนของโลกนี้ หนีไม่พ้น พลังขับเคลื่อนที่ร้อนแรงเหล่านี้ที่ขับเคลื่อน กาย วาจา ให้กระทำหรือพูดอย่างเร่าร้อน ปรากฏารณ์แห่งโสเภณี ที่คนส่วนหนึ่งต้องพลีชอบของตนเอง รองรับความใคร่ของผู้อื่น ที่มีอย่างดาดอื่นไปทั่วทุกมุมโลก เป็นตัวอย่างแห่งปรากฏการณ์ที่มีสาเหตุมาจาก ราคะ คือยินดี ใน รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ที่แต่ละคนมีอยู่และมอบให้แก่กันและกัน หรือยินดีในเงินที่ได้มาจากการปรนเปรอ บำรุงบำเรอนั้น

ความหายของคำว่า ราคะ ไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น แต่ยังรวบรวม ถึงความรู้สึก รักใคร่ ปักใจ ชอบ และยินดี ในสิ่งที่เป็นส่วนเกินนอกเหนือจากความจำเป็นของชีวิต เช่นยินดีนักหนาในเพชร นิล จินดา และเครื่องประดับประดาต่างๆ ความยินดี อยากได้ไว้ครอบครอง หรือแม้แต่ความยินดีอย่างยิ่ง ในผม ขน เล็บ ฟังหนัง ก็จัดเข้าในราคะ เพราะ ยินดีพอใจเมื่อไร ก็เร่าร้อนเมื่อนั้น

ราคะ ตัณหา และโลภะ จะผสมผสานพลังเข้าด้วยกัน เป็นพลังงานผลักดันให้เดินไปข้างหน้า แสวงหา ทุกอย่างตามที่ใจปรารถนา

 

โทสะ เป็นความรู้สึก อึดอัด ขัดเคือง เร่าร้อน ที่ต้องประสบกับสิ่งที่ไม่พึงปราถนา ไม่ว่าจะเป็น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ ผลที่เกิดมาจากโทสะที่เห็นกันได้ชัดๆคือ การทะเลาะวิวาทในครอบครัว การทำสงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่ แย่งชิงดินแดน การแย่งชิงอำนาจของนักการเมือง ล้วนเป็นผลมาจากความเร่าร้อนภายในที่ผลักดันออกมาเป็นความร้อนภายนอก ที่มิใช้ร้อนเฉพาะผู้ที่ถูกไฟเผาคนแรกเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้เคียงต้องพลอยเร่าร้อนและบาดเจ็บล้มตายนับไม่ถ้วน

โมหะ ลุ่มหลง ไม่รู้ตัว ในขณะที่กำลังเกลียด หรือชังใครๆหรือสิ่งใด เมื่อมีโมหะเข้าไปสนับสนุนก็จะลุ่มหลงมัวเมาอย่างถอนใจไม่ขึ้น เช่นเกลีดยใคร อยู่ก็จะเกลียดเพิ่มขึ้นทุกวันจนอยากฆ่า อยากทำลาย หรือรักใครก็รักจนเทใจทั้งหมดที่เรียกว่า ความรักทำให้คนตาบอก ถ้าเป็นความรักบริสุทธิ์จะไม่มีความทุกข์เจือปน ถ้าเป็นความรักที่ปนความหลง ก็จะมีความทุกข์ทุกครั้งที่รัก ไม่ต้องกล่าวถึงความเกลียด ที่ความร้อนจะปรากฏชัดกว่า

ที่ยกมานี้ เป็น ความร้อนที่เกิดมาจากอกุศลธรรม เพราะเป็นสิ่งที่สัมผัสได้และพิสูจน์ได้

ส่วนธรรมที่เป็นฝ่ายกุศล คือ ความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบอกขา หรือ สติ สมาธิ ปัญญา ความเสียสละ ปรากฏที่ใจ หรือลงมือกระทำเมื่อไร จะมีความสุขเมื่อนั้น เยือกเย็นเมื่อนั้น

ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว หากเป็นธรรมะแท้ๆ เมื่อปฏิบัติไปแล้วย่อมรู้ได้ด้วยตนเอง การปฏิบัติธรรมจึงไม่มีทางสูญเปล่า ต้องมีรางวัลทุกครั้งไป รางวัลแห่งพระธรรม คือความสงบเย็นที่เกิดขึ้นกับการปฏิบัติ ที่ตนเองสัมผัสได้ แต่ผู้อื่นอาจจะไม่รับรู้ ก็ไม่เป็นไร เปรียบเหมือนการอาบน้ำ ใครอาบคนนั้นเย็น ใครรับประทานอาหารคนนั้นอิ่ม

© วัดพุทธปัญญา -แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา :: © Copyright 2008 Buddhapanya Temple