วัดพุทธปัญญา

บทความ\พายุหิมะครั้งใหญ่ในมิดเวสต์

พายุหิมะครั้งใหญ่ในมิดเวสต์

          อาตมาเดินทางมาช่วยศาสนกิจ ที่วัดพุทธธรรม เมืองวิลโลบรูค มลรัฐอิลินอยส์ได้เพียงสองวัน      พอย่างเข้าวันที่สามก็เจอพายุหิมะขนาดใหญ่ในรอบกึ่งศตวรรษเข้าอย่างจัง     ความหนาของหิมะที่เกาะตามพื้นถนนหรือลานบ้านเฉลี่ยสูงยี่สิบสี่นิ้ว     บางแห่งรายงานข่าวแจ้งว่าหิมะสูงถึงสามสิบเจ็ดนิ้ว    ในวันที่หิมะตกหนักรถยนต์เป็นพันคันติดหนึบไม่ขยับได้หลายชั่วโมงบนถนนหลายสายใกล้ๆมหานครชิคาโก้    เจ้าของรถหลายคนตัดสินใจทิ้งรถยนต์ไว้หนีออก

มาจากบริเวณรถติดไปขึ้นรถที่คอยช่วยเหลืออยู่ข้างนอกกลับบ้าน

วันต่อมาเมื่อพายุหิมะสงบจึงกลับมาขุดรถจากหิมะที่ตกลงมาฝังรถไว้ออกไปอย่างทุลักทุเล

        รายงานอากาศที่ฟังได้ทางวิทยุท้องถิ่นเมื่อเย็นวันจันทร์ที่ 31 มกราคม 2554 แจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่า    วันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2554 พายุหิมะจะถล่มมิดเวสต์ในพื้นที่มลรัฐอิลินอยส์และบริเวณใกล้เคียง

อาตมาเพิ่งจะมาอยู่ที่นี่ก็ไม่ทราบว่าพายุหิมะที่มีความรุนแรงเป็น

ประวัติศาสตร์ครั้งนี้จะเข้าถล่มมลรัฐใดบ้าง     แต่ประมาณการว่า

มหานครชิคาโก้และเมืองใกล้เคียงจะต้องได้รับผลจากพายุหิมะครั้งนี้

อย่างทั่วหน้า

        วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 ตื่นขึ้นมาแต่เช้าตรู่ประมาณตีห้า    ออกเดินทางจากกุฏิที่พักไปยังอุโบสถเพื่อทำวัตรสวดมนต์ภาวนาตอนเช้าร่วมกับคณะสงฆ์วัดพุทธธรรมทุกรูปในเวลาหกนาฬิกา     ขณะนั้น หิมะเริ่มโปรยปรายลงมาเป็นสายอย่างอ้อยอิ่งนิ่มนวลสวยงามตามประสาหิมะแรกตก     อาตมากับท่านพระครูสิทธิธรรมวิเทศก์ได้เดินลุยฝ่าหิมะกันมาทำวัตรเช้าด้วยความสดชื่น     พอเดินมาถึงอุโบสถ หิมะเกาะขาวไปทั้งตัว    แต่ไม่รู้สึกหนาวเหน็บมากนัก    เป็นที่รู้กันว่าขณะที่หิมะกำลังตกจะไม่หนาวนัก     แต่เมื่อหิมะตกแล้วกลายเป็นน้ำแข็ง    ความหนาวเหน็บสะท้านเข้าไปถึงทรวงจะตามมา

        เมื่อร่วมกันทำวัตรสวดมนต์ภาวนายามเช้าเสร็จแล้ว   ฉันอาหารเช้าแบบง่ายๆ อันประกอบด้วยข้าวกล้อง  ข้าวโพด  ข้าวโอ๊ด  แอปเปิ้ล    เป็นอาหารชั้นเยี่ยมเพื่อบำรุงสุขภาพแท้ๆ     เป็นอันว่าได้ฉันอาหารกายและอาหารใจควบคู่กันไป   ได้ความอิ่มทั้งกายและอิ่มทั้งใจอย่างครบถ้วนแห่งกระบวนชีวิต

        เมื่อฉันอาหารเช้ากันเสร็จแล้ว     ท่านอาจารย์วรศักดิ์ วรธมฺโม

เจ้าอาวาสวัดพุทธธรรมจึงชวนสนทนาธรรมเรื่องขันธ์ห้า  รูปนาม

อายตนะภายใน  อายตนะภายนอก  วิญญาณ  การทำงานของสัญญา

กับสังขาร   โดยไม่ปล่อยใจให้เพลินไปกับเวทนา    จุดสำคัญแห่งการปฏิบัติธรรมคือเวทนา  ความรู้สึกชอบ  ชังหรือเฉย  ที่ผ่านมาแล้วผ่านไป     ท่านอาจารย์วรศักดิ์ได้ชี้ประเด็นแห่งการเกิดขันธ์ห้า คือ รูป  เวทนา  สัญญา  สังขารและวิญญาณเอาไว้ว่า    ตามปกติยังไม่มีขันธ์ห้ามีแต่ธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์  ไม่ใช่บุคคล  ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา      ขันธ์จะเกิดขึ้นมาต่อเมื่อรูปกระทบตาเกิดวิญญาณ    สามอย่างทำงานร่วมกันเรียกว่าผัสสะทางตา     เสียงมากระทบหูเกิดวิญญาณ   สามอย่างทำงานร่วมกันเรียกว่าผัสสะทางหู     กลิ่นกระทบจมูกเกิดวิญญาณ   สามอย่างทำงานร่วมกันเรียกว่า ผัสสะทางจมูก     รสมากระทบกับลิ้นเกิดวิญญาณ   สามอย่างทำงานร่วมกันเรียกว่าผัสสะทางลิ้น    สิ่งสัมผัสถูกต้องมาถูกต้องกับกาย เกิดวิญญาณ   สามอย่างทำงานร่วมกันเรียกว่าผัสสะทางกาย

ธัมมารมณ์มากระทบใจเกิดวิญญาณ   สามอย่างทำงานร่วมกันเรียกว่า ผัสสะทางใจ     ท่านสรุปว่าผัสสะทางไหนก็เป็นเรื่องของทางนั้น เช่น ผัสสะทางตาก็เป็นเรื่องของตาไม่ใช่เรื่องของตัวตนของส่วนอื่นๆ หรือทั้งหมด    ท่านอุปมาให้ฟังว่ามีโรงเรียนโรงเรียนหนึ่ง    มีนักเรียนตั้งแต่ชั้นป.หนึ่งถึงชั้นป.หก    เมื่อนักเรียนชั้นป.หกเล่นกีฬาก็เล่นไป    นักเรียนชั้นอื่นไม่จำเป็นต้องไปเล่นด้วย    เมื่อนักเรียนชั้น

ป.สองเรียนวาดเขียนก็เป็นเรื่องของนักเรียนชั้นป.สอง    ชั้นอื่นไม่ต้องไปเรียนวาดเขียนด้วย      เมื่อตาเห็นรูปเป็นเรื่องของตาเห็นรูป เกิดวิญญาณทางตา    ไม่ใช่เรื่องของเราหรือส่วนอื่นๆ แต่เป็นเรื่องของตา     รูปวิญญาณทำงานร่วมกันเท่านั้นไม่มีความหมายแห่งสัตว์ บุคคล  ตัวตน  เราเขา     เมื่อหูได้ยินเสียงก็เช่นกันเป็นเรื่องของเสียงกับหู    เกิดวิญญาณทางหูสามอย่างทำงานร่วมกัน    ไม่ใช่เรื่องของเราหรือของบุคคลทั้งหมดแต่เป็นเรื่องของการรับรู้ทางหู

        การอธิบายแบบนี้เป็นการอธิบายแบบอนัตตา ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ที่เที่ยงแท้ถาวร     มีแต่การทำหน้าที่ของนามและรูปเป็นครั้งคราวไป    เป็นการทำหน้าที่ของนามและรูปที่ปรากฏขึ้นเป็นขณะๆไปไม่ได้ตั้งอยู่เที่ยงแท้ถาวร

        เมื่อนามรูปทำหน้าที่เสร็จแล้วก็เหลือเพียงธาตุตามธรรมชาติต่อไปอีกเมื่อประตูแห่งการรับรู้ทางใดทางหนึ่งทำงานขึ้นมาอีก   ขันธ์ห้าก็ปรากฏขึ้นมาอีก    ทำหน้าที่เสร็จแล้วก็จบเป็นครั้งคราวไป ตามกระบวนการทำงานของธาตุที่ทำหน้าที่ตามธรรมชาติล้วนๆ

        นอกจากนี้ท่านยังได้อธิบายเชื่อมโยงกับเรื่องราวต่างๆ      เช่น

สติปัฏฐาน  อริยมรรคมีองค์แปด  โพชฌงค์เจ็ด   ว่ามีที่มาจากผัสสะทั้งหมด     เมื่อมาถึงจุดนี้ทำให้หวนคิดบทกวีที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้กล่าวไว้ว่า    ความทุกข์จะไม่โผล่ถ้าไม่โง่เรื่องผัสสะ     ความทุกข์เกิดไม่ได้ถ้าเข้าใจเรื่องผัสสะ     เมื่อทำความเข้าใจเรื่องผัสสะจนมีความเฉลียวฉลาดในผัสสะ    ไม่ปล่อยให้เพลินในเวทนาที่เกิดจากผัสสะความทุกข์ก็จะไม่เกิด     แต่ถ้ามาถึงผัสสะแล้วปล่อยให้เพลินในเวทนาคือความชอบชัง     ก็จะเตลิดเปิดเปิงไปสู่ตัณหา  อุปาทาน ภพ  ชาติ  เป็นตัว  เป็นตน  ที่เป็นสภาวะใหม่  ร่างกายใหม่และจิตใหม่     เช่น เวลาโกรธ  กายก็เร่าร้อน  จิตก็เร่าร้อน  ความทุกข์ก็เกิด เมื่อความทุกข์เพราะมีคนผู้รับทุกข์เกิดขึ้นแล้ว    ตั้งอยู่ชั่วขณะหนึ่งก็ค่อยๆ จางคลายหายไป    ตรงนี้เรียกว่า ชรา  มรณะ     หากผัสสะอีกและเผลอเพลินในเวทนาอีก    ความทุกข์ก็เกิดอีก    ในทางตรงกันข้ามหากผัสสะอีกแต่ไม่เพลินในเวทนา    ความทุกข์ก็ไม่เกิด    ท่านไม่ใช้คำว่าเกิดทุกข์และดับทุกข์    แต่ท่านใช้คำว่าเกิดทุกข์กับไม่เกิดทุกข์   โดยท่านให้เหตุผลว่าเมื่อทุกข์ยังไม่เกิดจะดับได้อย่างไร

การทำความเข้าใจผัสสะคือการตัดไฟแต่ต้นลม    คือระวังไม่ให้เกิดเหตุแห่งทุกข์ คือเพลินในเวทนาจนกลายเป็นตัณหา ดังในอริยสัจสี่ที่ว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

        เราสนทนาธรรมจนถึงเวลาสิบโมงกว่า     คุณเดนิส นักสอนศาสนาคริสต์นิกายหนึ่งจำไม่ได้เสียแล้ว   เป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารเพลพระสงฆ์ทั้งวัด    เนื่องจากเป็นนักสอนศาสนาที่เคร่งครัดจารีตยิ่งนัก   รู้จักอาจารย์วรศักดิ์มานาน    เมื่อฉันเสร็จอาจารย์วรศักดิ์จึง  กล่าวขอบคุณในทานที่ถวายพระสงฆ์ครั้งนี้    พระสงฆ์รูปอื่นๆ ก็กล่าวคำขอบคุณเช่นกัน    คุณเดนิสรับพรเป็นภาษาอังกฤษแล้วแสดงสีหน้าปลาบปลื้มอย่างเห็นได้ชัด     ความปลาบปลื้มอันเป็นอานิสงส์ของการให้ทานสะท้อนจากใจสู่ใบหน้าของบาทหลวงนักสอนศาสนาผู้เคร่งครัด    แม้จารีตบางอย่างจะมีพรหมแดนขวางกั้นต่อประเพณีที่แตกต่างกัน    แต่ความรู้สึกอิ่มเอิบปลาบปลื้มอันเป็นผลจากการให้ทาน เป็นความรู้สึกที่สัมผัสได้ไร้พรมแดนขวางกั้น

         ลมเริ่มพัดแรงขึ้น    หิมะตกลงอย่างหนาแน่นมากขึ้นตามลำดับ พวกเรายุติการสนทนาธรรมยามบ่าย    รีบกลับกุฎิเพื่อเตรียมตัวรับพายุหิมะครั้งใหญ่ในมิดเวสต์ที่ทางพยากรณ์อากาศได้พยากรณ์ไว้ว่า จะพัดแรงมากในวันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ 2554     อาตมากับท่านพระครูสิทธิธรรมวิเทศก์นั่งฟังวิทยุรายงานอากาศจากสถานีวิทยุเอ็นพี อาร์ภาคท้องถิ่นและข่าวต่างประเทศ     นอกจากจะได้ฟังรายงานอากาศอย่างถี่ยิบทันท่วงทีแล้วยังมีรายงานข่าวการประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีอียิปต์ตลอดเวลาอีกด้วย     ยิ่งบ่ายลมเริ่มแปรสภาพเป็นพายุจากเบาไปหาหนัก    สนามบินนานาชาติโอแฮปิดทำการในวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2554     จะเปิดบริการผู้เดินทางอีกครั้งในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554

        ท่านพระครูสิทธิธรรมวิเทศก์ตามแผนเดิมจะเดินทางกลับซีแอต

เติ้ลในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2554     แต่เมื่อมาเจอพายุใหญ่อย่างนี้จึงต้องประสานงานเลื่อนตั๋วเดินทางกลับซีแอตเติ้ลในวันรุ่งขึ้น   ซึ่งประสานงานได้สำเร็จด้วยดี    ยิ่งบ่ายค่ำพายุยิ่งทวีความแรงมากขึ้นประมาณยี่สิบถึงสามสิบไมล์ต่อชั่วโมง     บางชั่วโมงก็พัดแรงสุดประมาณหกสิบไมล์ต่อชั่วโมง     เสียงพายุพัดดังคึกๆๆๆๆ  อึกทึกครึกโครม มองที่กลุ่มหิมะจับตัวเป็นเกลียว  เป็นกลุ่ม  เป็นลำขนาดใหญ่ประมาณเท่าต้นตาลพัดไปตามแรงพายุ    ซึ่งบางครั้งพัดไปตรงๆ บ้าง  หมุนบ้าง     หากปะทะต้นไม้หิมะก็กระจายตัวตกลงพื้น จุดนั้นหิมะจะไม่หนามากนัก     แต่ถ้าพายุพัดพาหิมะไปปะทะบ้านหรือกำแพงที่มีแนวต้านหนาๆ     เช่น กำแพงบ้าน  กำแพงสถานที่ราชการหรือกำแพงกั้นเสียงบนทางด่วน    หิมะจะตกลงกองสูงท่วมหูดูคล้ายๆ ภูเขาหิมะลูกย่อมๆ กองอยู่โดยทั่วไป    นั่นก็หมายความว่าไม่สามารถจะวัดความสูงกันเป็นนิ้วได้แต่อาจจะต้องวัดกันเป็นเมตรหรือเป็นฟุต

        เวลาประมาณสามทุ่มจึงหยุดฟังข่าว    รู้สึกว่าบรรยากาศหนาวๆแบบนี้น่าจะนั่งสมาธิดีกว่า     จึงปิดไฟเข้าห้องนั่งสมาธิ     จิตเป็นสมาธิเร็วไม่วอกแวกหวั่นไหว  รู้สึกเย็นกาย  เย็นใจยิ่งนัก    นั่งสงบอยู่เช่นนั้นเป็นเวลาชั่วโมงกว่าๆ จึงเข้านอน    ตื่นเช้าขึ้นมาล้างหน้าล้างตาทำภาระส่วนตัวแล้วนั่งสมาธิต่อจนถึงหกโมงเช้า    พายุเริ่มอ่อนลงเป็นลมหนาวธรรมดา    หิมะยังคงโปรยปราย     พวกเราสองรูปพยายามจะเปิดประตูออกมา     ปรากฏว่าต้องช่วยกันผลักประตูอย่างแรง     แต่เนื่องจากหิมะยังไม่ทันจับตัวเป็นน้ำแข็งจึงช่วยกันผลักประตูออกมาได้    หิมะบริเวณกุฎิระดับสูงขึ้นมากกว่าตอนเย็นก่อนเข้านอน   วัดคร่าวๆ ว่าหิมะสูงไม่ต่ำกว่าสะเอว    โต๊ะเก้าอี้ที่วางอยู่หน้ากุฎิถูกหิมะปกคลุมท่วมทับฝังอยู่ในหิมะ    ถนนที่เดินมาตอนเย็นปกคลุมไปด้วยหิมะสูงเหนือเข่าบ้างแค่เข่าบ้าง     แม้จะเคยผ่านแฟร์แบงค์อลาสก้าที่ใครๆ ก็จินตนาการว่าเป็นเมืองหิมะมาแล้ว     แต่ยอมรับว่าไม่เคยเจอหิมะสูงมากขนาดนี้เพราะที่แฟร์แบงค์อลาสก้าเจอแต่หิมะที่ตกตามปกติ    ไม่มีพายุ     แต่คราวนี้เจอพายุหิมะกึ่งศตวรรษเข้าต้องยอมรับว่าเป็นหิมะที่มีระดับสูงมากอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนจริงๆ

        แม้จะสวมรองเท้าบุกหิมะที่ญาติโยมเตรียมไว้ให้แล้ว     แต่ถ้าหิมะถึงเข่าอย่างนี้ก็ช่วยได้แค่ไม่ลื่นไหลไปเท่านั้น     แม้จะมีชุดกันหนาวด้านบนพรั่งพร้อม      แต่พระสงฆ์นุ่งสบงตัวเดียวเจอหิมะสูงแบบนี้     ส่วนที่สูงกว่ารองเท้าและถุงเท้าก็หนาวเหน็บเอาการเหมือนกัน    จึงรีบก้าวแบบย่างสามขุมหวังหนีหิมะให้พ้นเร็วๆ จะได้เข้าตัวตึก

        เมื่อเข้าไปถึงตัวตึกแล้ว ได้รับความอบอุ่นเพียงพอ     กว่าจะเคลื่อนไหวไปไหนได้ต้องนั่งหอบแฮกๆ อย่างเป็นทางการอีกครู่ใหญ่      เคยฟังคำบรรยายอานาปานสติของหลวงพ่อพุทธทาสมาว่า ลมหายใจหยาบจะเกิดขึ้นตอนที่เหนื่อยหอบจากการวิ่งหรือเดินเร็วๆ เมื่อระลึกถึงบทธรรมนี้ขึ้นมาได้ก็ถือโอกาสนั่งดูลมหายใจหยาบอันเกิดจากการบุกหิมะได้เห็นประจักษ์แจ้งชัดเจน   ค่อยๆ ตามดูไปเรื่อยๆ ไม่นานนักลมหายใจก็ผ่อนคลายเข้าสู่ภาวะปกติ     เมื่อลมหายใจสงบ     กายก็สงบลงตามลำดับ     ความเคลื่อนไหวของลมหายใจจึงมีความเชื่อมโยงมีอิทธิพลต่อความกระสับกระส่ายหรือความเคลื่อนไหวของกายดังที่ได้ประจักษ์นี้     นับเป็นแสงสว่างกลางพายุหิมะครั้งใหญ่ทีเดียว

        ท่านพระครูสิทธิธรรมวิเทศก์ มีประสบการณ์สูงในการเดินผ่านหิมะ    เนื่องจากเคยบุกหิมะที่นี่มานานถึงห้าปี     หลบกองหิมะสูงๆออกทางหลังกุฎิ     เดินไปตามโคนต้นไม้ที่ปลูกไว้เป็นแถวผ่านหิมะที่สูงประมาณสี่ห้านิ้วไม่ท่วมรองเท้าที่เหยียบลงไป     เพราะหิมะปะทะต้นไม้แล้วก็ผ่านไป    บริเวณต้นไม้หิมะจึงไม่หนาเหมือนบริเวณฝาผนังซึ่งบางแห่งหิมะสูงท่วมหัว     ประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้เห็นคุณค่าของต้นไม้ที่ปลูกไว้อย่างหนาแน่นจะช่วยปะทะและป้องกันลม  น้ำหรือหิมะให้หย่อนกำลังและบรรเทาความเสียหายอย่างรุนแรงลงได้     การปลูกต้นไม้ให้หนาแน่นจึงเป็นประโยชน์กับมนุษย์ทุกหนทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นพื้นที่น้ำท่วม ลมแรงหรือหิมะตกจัด การช่วยกันปลูกต้นไม้มากๆ หรือไม่ตัดไม้ทำลายป่าเป็นการสร้างปราการธรรมชาติที่จะคอยปะทะหรือป้องกันภัยธรรมชาติได้เป็นอย่างดี 

        ท่านธรรมวัฒน์เดินทางไปรับอาจารย์วรศักดิ์มาฉันอาหารเช้า

เพราะกุฏิท่านอยู่ด้านหลังเหมือนกัน     ท่านธรรมวัฒน์หายไปสักครู่ กลับมาหน้าตาแสดงอาการเหน็ดเหนื่อยอย่างเห็นได้ชัด    นั่งหอบสักครู่หนึ่งจึงพูดว่า  หายใจแทบไม่ทัน     เพราะต้องรีบเดินไปและรีบเดินกลับ  ทั้งหนีหนาว  ทั้งเดินบุกหิมะที่มีระดับสูง      เมื่อนั่งหอบจนลมหายใจผ่อนคลายเข้าสู่สภาวะปกติดีแล้ว    จึงกลับไปใหม่คราวนี้ใส่ชุดกันหนาวเต็มพิกัดใช้ถุงมือที่หนากว่าเดิมทำให้เดินแบบสบายๆ ไม่ต้องรีบ    ก้าวไปด้วยความมั่นใจนำอาจารย์วรศักดิ์ฝ่าหิมะที่มีระดับสูงตลอดทางเดินมาฉันอาหารเช้าด้วยความปลอดภัย

        พระสงฆ์ฉันอาหารเช้าแล้ว พวกเราได้ขอนิมนต์อาจารย์วรศักดิ์ได้อธิบายภาพปฏิจจสมุปบาทให้ฟังเป็นพิเศษ    เป็นที่ทราบกันว่าอาจารย์วรศักดิ์มีความชำนาญในการบรรยายภาพปฏิจจสมุปบาทแบบธิเบตชนิดไร้เทียมทาน     เพราะท่านบรรยายที่สวนโมกข์มาเป็นเวลานานประกอบกับมีความเข้าใจทั้งภาพและธรรมะอย่างลึกซึ้ง

บรรยากาศที่เย็นยะเยือก     มองทางไหนก็เห็นแต่หิมะขาวโพลน

เช่นนี้  นั่งฟังธรรมะลึกๆ ซึ้งๆ ดีๆ เช่นนี้ ย่อมดีกว่าทำกิจกรรมอื่นใด

ทั้งสิ้น

        ขอความปกติทางกายและปกติทางใจจงบังเกิดมีแก่ท่านผู้อ่านทุกท่านทั่วหน้ากันเถิด

7 กุมภาพันธ์ 2554

เวลา 16.00 น.

วัดพุทธธรรม วิลโลบรูค

มลรัฐอิลินอยส์

 

ดร. พระมหาจรรยาสุทธิญาโณ

เจ้าอาวาสวัดลอยฟ้า ( Sky temple no boundary)

www. skytemple.org

© วัดพุทธปัญญา -แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา :: © Copyright 2008 Buddhapanya Temple