วัดพุทธปัญญา

บทความ\บุญบาปมีจริงไหม

บุญบาปมีจริงไหม

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม 2553 เวลา 13.00 น. ณ. ระเบียงบ้าน คุณศิริวรรณ หรือเพื่อนๆน้องๆเรียกขานสั้นๆว่า พี่เอ๋ย ริมฝั่งแม่น้ำ Chena ที่ใสไหลเย็นในฤดูร้อน และกลายกลายเป็นนำแข็งรถแล่นข้ามได้ในฤดูหนาว พุทธศาสนิกชนไทย จำนวน 9 คน คริสต์ศาสนิกชนอเมริกัน 1 คน ได้ตั้งวงสนทนาธรรม นำข้อข้องใจต่างๆที่เก็บไว้เป็นเวลาหลายปีมาถามหาความกระจ่างกันอย่างเป็นกันเอง ไม่มากพิธีตรงเข้าสู่เนื้อหาตามกระบวนการเรียนการสอนที่เรียกว่า ใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

http://gotoknow.org/file/boonon1414/%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%A1.jpgท่านสุภาพสตรีท่านหนึ่งได้เปิดประเด็นว่า บุญ บาป ที่เขาพูดๆกันนั้น มีจริงๆหรือไม่ ถ้ามีจริง อยู่ที่ไหน ลักษณะเป็นอย่างไร

นับเป็นปฐมปุจฉา และ ปฐมวิสัชชนา ที่มีเนื้อหาโดนใจของคนที่มีคำถามในใจอีกหลายๆคนไม่เฉพาะเจาะจงคนที่นั่งอยู่ในวงสนทนานี้เท่านั้น แต่พุทธศาสนิกชนจำนวนไม่น้อยที่ทำบุญมานับครั้งไม่ถ้วนในชีวิต แต่ยังสับสนอยู่เหมือนกันว่า สิ่งที่เรียกว่าบุญๆนั้น เป็นอย่างไรกันแน่ ถ้าไม่ทำความเข้าใจกันให้ดี อาจจะเจอการทำบุญแบบทุนนิยมผสมพานิช ที่จะต้องขายข้าวของทองหยองที่มีอยู่แม้กระทั่ง ต้องขายบ้านที่อยู่อาศัยในชาตินี้ เพื่อผ่อนส่งค่าเสริมสวย ค่าเครื่องประดับ ค่าราชรถ และค่าชิ้นส่วนหรือตัววิมานทั้งหลังในชาติหน้าของเทพบุตรและเทพธิดาซึ่งต้องจ่ายล่วงหน้ากันเป็นเวลาหลายปี

  พระพุทธเจ้าตรัสว่า คำว่า บุญ เป็นชื่อของความสุข

เมื่อบุญเป็นชื่อของความสุข บุญก็เป็นเรื่องทางจิตใจ ที่รู้สึกปลาบปลื้ม ยินดี ปรีดา ปราโมทย์ เพราะได้กระทำความดีhttp://pongcp.files.wordpress.com/2010/05/budda.jpg

เพื่อให้ชาวพุทธได้ทำบุญอย่างถูกต้อง ตรงประเด็น เป็นประโยชน์ทั้งตนเองและผู้อื่น จึงขอนำวิธีการทำบุญสิบประการที่พระพุทธเจ้าตรัสอนไว้มาเป็นหลักในการทำบุญกันต่อไป วิธีการทำบุญทั้งสิบประการเหล่านี้คือ

   1. การให้ ประกอบไปด้วย อามิสทาน การให้วัตถุสิ่งของ ธรรมทานการให้ความจริง  

หรือ ทางชีวิตที่ดีงาม อภัยทาน การให้อภัย ไม่มีเวรไม่มีภัย ไม่ผูกใจเจ็บแค้น

2. การสมาทานศีล คือ การเฝ้าระวังรักษา ความเคลื่อนไหว ของกาย และวาจา ให้เคลื่อนไหวไปในทางที่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นโทษไม่กระทบกระทั่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ใครๆ

3. การภาวนาคือ การใช้สติระวังรักษาใจให้เป็นปกติ สะอาด มิให้ขุ่นมัวเศร้าหมอง มั่นคง สดชื่นแจ่มใส มองโลกและสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงว่า มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลาง และสลายไปในที่สุด

4. ความอ่อนน้อมถ่อมตน สุภาพอ่อนโยน เพื่อลดตัวตนให้น้อยลงตามลำดับจนไม่มีตัวตนเป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกว่า ตัวกูของกูขึ้นมา เพื่อจะดำรงชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ยืน เดิน นั่ง นอนได้โดยไม่มีจิตใจขัดเคืองขุ่นมัวต่อ ใครๆหรือสิ่งใดๆที่แวดล้อมตนเอง

5. ขวนขวายช่วยเหลือ บำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะเพื่อลดความเห็นแก่ตัว เพราะความเห็นแก่ตัว อันเป็นสาเหตุแห่งความชั่วทุกอย่าง หมั่นสร้างความดีในทุกที่ ทุกโอกาสที่มีช่องทางสร้างความดี

6. การแสดงธรรม หรือ บอกกล่าวเรื่องราวหรือวิถีแห่งความดีกับคนข้างเคียงมิตรสหายหรือผู้สนใจติดตาม ความดี เพราะแค่คิดว่า จะพูดเรื่องดีๆจิตใจก็ดีงามแช่มชื่นเบิกบานเสียแล้ว การที่พระภิกษุสงฆ์ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา ช่วยกันบอกเล่าเผยแพร่ความดีให้ทราบกันมากๆเท่ากับการขยายความแช่มชื่นเบิกบานให้กว้างออกไปมากยิ่งขึ้น

7. การฟังธรรม คือ การเติมความดีงาม เติมข้อมูลแห่งความจริงแท้ เติมปัญญาให้แก่ชีวิต เพื่อจะได้ฟังสิ่งที่ยังไม่ได้ฟัง สิ่งที่ฟังแล้วก็กระจ่าง สร้างความเห็นให้ตรงและถูก เมื่อหูรับแต่เสียงธรรมอันเป็นเสียงแห่งกุศล เสียงอกุศล ก็เข้ามาแทรกไม่ได้ จิตใจเข้าถึงความสงบได้ง่าย การฟังเทศน์มักจะมีคนหลับได้ง่าย แต่ถ้าฟังคำอภิปรายที่เผ็ดร้อนจะตื่นเต้นอยู่เสมอ เพราะธรรมะช่วยกล่อมใจให้ปกติ สงบเย็น แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ปลุกเร้าใจให้เร่าร้อนวุ่วาม

8. การอุทิศส่วนบุญ ให้แก่ผู้อื่น เมื่อมีโอกาสทำความดีที่บริสุทธิ์สดใสควรบอกกล่าวให้ผู้อื่นรู้เป็นการแบ่งปันความปลาบปลื้มอิ่มใจให้แก่กัน

9. การอนุโมทนา คือ การเปิดหัวใจยอมรับข่าวการทำความดีที่ผู้อื่นได้กระทำด้วยความเต็มใจ เป็นการพลอยยินดีกับความดีงามที่คนอื่นได้กระทำไป

10. การทำความเห็นให้ตรงหมายถึงการมองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงอย่างตรงไปตรงมาและปฏิบัติอย่างถูกต้องต่อสิ่งนั้นๆไม่ผิดเพี้ยนเบี่ยงเบน

เมื่อพุทธศาสนิกชนได้นำวิธีการทำบุญเหล่านี้ ไปปฏิบัติ จะขจัดความเห็นแก่ตัว ขัดเกลาลดละสิ่งชั่วๆอันคอยกดถ่วงชีวิต ช่วยให้ชีวิตโปร่งเบาสดชื่นบิกบาน มีความอ่อนโยนสุภาพ สร้างความประทับใจให้กับทุกคนที่ได้พบเห็น ขวนขวายช่วยเหลือส่วนรวม ด้วยหัวใจสาธารณะที่เต็มเปี่ยม แสวงหาความรู้เพิ่มเติมให้กับชีวิตตลอดเวลา ตระหนักในความดี ยอมรับคนอื่น ทำความเข้าใจถูกต้อง มองเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง

          เพื่อจะตอบคำถามว่า บุญมีจริงหรือไม่ก็พึงนำหลักการเหล่านี้ไปปฏิบัติ หากปฏิบัติแล้ว เกิดความอิ่มเอิบเบิกบานได้รับความสุข ก็โปรดจงทราบเถิดว่า บุญปรากฏขึ้นแล้วในชีวิตจิตใจ หากนำไปปฏิบัติแล้วยังหาความสุขไม่พบ ก็ต้องทบทวนว่า ได้ปฏิบัติถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ควรปรับปรุงไปจนพบความสุข การปฏิบัติตามบุญกิริยาวัตถุนี้ต้องทำไปเรื่อยๆไม่ทำเพียงครั้งเดียว ต้องสะสมบ่อยๆ ดั่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า การสะสมบุญ นำความสุขมาให้

          คำถามต่อมาที่ว่า บาป มีจริงหรือไม่

          จะต้องเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจเสียก่อนว่า บาป คือ อะไร

          บาป คือ รู้สึกร้อนอกร้อนใจ อันมีสาเหตุมาจาก การคิดชั่ว ทำชั่ว ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นอยู่ในชีวิตประจำวันตามข่าวคราวในสื่อต่างๆมากมาย แต่ถ้าจะประมวลบ่อเกิดแห่งบาปก็จะต้องยึดหลักที่พระพุทธเจ้า ตรัสเรียกว่า อกุศลกรรมบท 10 ประการ ซึ่งแปลว่า ทางแห่งการทำความไม่ดี 10 ประการ อันแบ่งเป็นการทำชั่ว ทางกายสามประการ ทางวาจาสี่ประการ และทางใจอีกสามประการ

การทำความชั่วทางกายได้แก่ การฆ่าและการเบียดเบียนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย การลักทรัพย์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม การประพฤติผิดในกามล่วงละเมิดบุคคลและสิ่งของอันเป็นที่รักใคร่พอใจของผู้อื่น

การทำ(พูด)ชั่วทางวาจาได้แก่ การพูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ อันเป็นเหตุให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน

การทำ(คิด)ชั่วทางใจ ได้แก่ ความโลภ อยากได้สิ่งของของผู้อื่น พยาบาทความผูกใจโกรธแค้น มิจฉาทิฎฐิ เห็นผิดแปลกไปจากความเป็นจริง อันถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

สาเหตุที่ใช้คำว่า การทำชั่ว ทางกาย วาจา และใจ เพราะ ถอดความ คำว่า กรรม แปลว่า การกระทำ จากคำภาษาบาลีที่มีว่า กายกรรม แปลตรงตัวว่า การกระทำทางกาย วจีกรรม แปลว่า การกระทำทางวาจา มโนกรรม แปลว่า การกระทำทางใจ จึงมีวงเล็บไว้ว่า พูดชั่ว และคิดชั่ว ซึ่งต่างก็เป็นวจีกรรมและมโนกรรม

          ความขุ่นมัวเศร้าหมอง ก่อนที่จะประกอบกรรมดังกล่าวนี้ หรือกำลังประกอบ หรือหลังจากประกอบเสร็จแล้ว ระลึกถึงขึ้นมาทีไร ใจเศร้าหมองทุกที เมื่อใจเศร้าหมอง ก็จะรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ อึดอัด ขัดเคือง ความรู้สึกนั้นแหละเรียกว่า บาป

          หากทบทวนชีวิตดูแล้ว เคยทำ เคยพูดและเคยคิดอย่างนี้ และรู้สึกอย่างนี้มาก่อน ก็เป็นการพิจสูจน์ได้ว่า บาปมีจริง ผลของบาปมีจริง ประจักษ์ด้วยตนเองดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า การสะสมบาป นำทุกข์มาให้

          หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นเรื่องของการนำสวรรค์มาล่อ หรือไม่ได้นำนรกมาขู่ แต่เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้ทาง ทรงพบทางแห่งทุกข์และทางแห่งความไม่ทุกข์แล้วนำมาแสดงแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายผู้ยังไม่รู้ทางให้ได้รู้ทาง แต่เมื่อรู้ทางแล้ว ต้องใช้ปัญญาเลือกทางเอาเองว่า จะเดินทางสายที่มีควาทุกข์ดี หรือทางที่ไม่ทุกข์ดี พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดว่า ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้ทาง ส่วนการทำความเพียรในการเผาผลาญกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจให้หมดจด จนพบความสงบ ไม่ทุกข์ เป็นเรื่องที่พวกเธอต้องทำเอง

          นี่คือ หลักแห่งพิสูจน์ทราบว่า บุญและบาปในทางพระพุทธศาสนามีอยู่จริง เมื่อประจักษ์แจ้งกันมาแล้วหลายครั้งหลายคราด้วยตนเองว่า บุญเป็นความรู้สึกที่เยือกเย็น ปลาบปลื้ม อิ่มเอิบเบิกบาน ส่วนบาป เป็นเรื่องเศร้าหมอง หม่นไหม้ เดือดร้อน กระวนกระวาย แล้วเลือกทำได้ตามภูมิธรรมและภูมิปัญญาของแต่ละคนที่ได้สะสมกันมาแล้วนั้นเถิด

K:\dhama wheel 2.jpg

วันพุธที่ 4 สิงหาคม 2553

Fairbanks, Alaska.

ดร.พระมหาจรรยาสุทธิญาโณ

เจ้าอาวาสวัดลอยฟ้า Sky Temple No Boundary

www.skytemple.org

 

 

© วัดพุทธปัญญา -แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา :: © Copyright 2008 Buddhapanya Temple