วัดพุทธปัญญา

บทความ\ก้าวแรกที่Fairbanks

ก้าวแรกที่Fairbanks

เดินทางมาถึง Fairbanks ได้เพียงวันเดียว ญาติโยมส่งข้อความมาถามสารทุกข์สุกดิบกันมากมาย คำถามต่างๆไม่ว่า จะเป็นเรื่อง การเดินทาง อากาศ อาหาร ที่พัก ประชาชนไทยและอีกหลายๆคำถามประดังเข้ามา แม้ได้ตอบสารเป็นการส่วนตัวสั้นไปบ้างแล้ว แต่ยังถามกันเข้ามาไม่ขาดสาย ขอขอบคุณทุกข้อความที่ส่งเข้ามาทางFace book วัดลอยฟ้า ที่ได้แสดงความเป็นห่วงกันฉันท์พี่น้องลูกหลาน จึงถือโอกาสนี้ตอบปัญหาข้อข้องใจในการเดินทางเพื่อให้ญาติธรรมและสหายธรรมทั้งหลายคลายความเป็นห่วง

วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม 2553 ออกเดินทางจากที่พักไปยังสนามบินนานาชาติTacoma Seattle ตั้งแต่เวลา 7.30 น. โดยการถวายความสะดวกของคุณขจรและคุณสุรีย์ คุณขจรได้นำข้าวต้มมาถวายตั้งแต่หกโมงกว่าๆ เพื่อให้มีเวลาเดินทางอย่างสบายๆ ใช้เวลาเดินทางจากที่พักไปสนามบินนานาชาติเพียงชั่วโมงกว่าๆ เพื่อให้ผู้ส่งไม่ต้องหาที่จอดรถจึงบอกว่า ขอแค่จอดให้ลงตรงทางเข้าสายการบินอลาสก้าแอร์ไลน์ก็พอแล้ว ผู้ถวายความสะดวกทั้งสองจึงได้ขอลากลับ

เวลา 10.00 น.ตรง เครื่องบินอลาสก้าแอร์ไลน์เที่ยวบินที่ 87 ได้นำผู้โดยสารมุ่งหน้าสู่ Anchorage International Airport การเดินทางไปสู่สถานที่ที่ยังไม่เคยไปไม่เคยเห็นสร้างความตื่นเต้นได้ไม่น้อย จากนี้ไปเริ่มสู่การเดินทางแบบบุกเดี่ยว มีเพียงลมหายใจเป็นเพื่อน เครื่องบินเที่ยวนี้แน่นมาก เต็มทุกที่นั่ง แสนจะ บังเอิญผู้โดยสาร ที่นั่งอยู่ติดกันล้วนมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า สองร้อยปอนด์ประหนึ่งเป็นการชุมนุมคนอ้วนแห่งปีไม่มีผิด การนั่งเลยอึกอักตามสมควร จะทำอะไรก็ไม่ค่อยสะดวก จะอ่านหนังสือก็หาที่วางมือยาก เลยนั่งสมาธิดีกว่า อาจจะเป็นเพราะเหนื่อยหรือเพลียในการสนทนาธรรมเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2553 ที่คุยกันจนห้าทุ่มกว่าจึงเลิกรากันไป นั่งสมาธิไปได้สักระยะหนึ่งเลยปล่อยให้หลับไปนานพอสมควรจนคนบริการบนเครื่องมาถามว่าจะฉันน้ำอะไรดี จึงขอน้ำส้มเพื่อเรียกความสดชื่นไปแก้วหนึ่ง

เครื่องบินนำผู้โดยสารทั้งหมดถึง Anchorage International Airport โดยสวัสดิภาพตรงกับเวลาท้องถิ่นประมาณบ่ายโมงครึ่ง เนื่องจากจะต้องรอเครื่องบินที่จะเดินทางต่อไป Fairbanks อีกร่วมหกชั่วโมง จึงได้ประสานงานไปเยี่ยมเยือนวัดธรรมภาวนาสักครู่หนึ่งตามที่เวลาจะเอื้ออำนวย

ท่านพระมหาประเวศน์และคุณดอกไม้ ได้มารอรับที่สนามบิน พอออกมาก็พร้อมเดินทางทันทีโดยใช้เวลาเดินทางประมาณ สิบนาทีก็ถึงวัดธรรมภาวนา อลาสก้า ซึ่งเป็นบ้านหลังใหญ่ใช้งานได้สามชั้น หลังคาแหลมแบบท้องถิ่นที่สร้างมาก่อนแล้ว มองไกลๆคล้ายๆกระโจมตั้งอยู่ในเนื้อที่ประมาณหนึ่งเอเคอร์ ด้านหน้าและด้านหลังวัดทำสวนครัวปลูกพืชหลายชนิด ผักแต่ละต้นโตมากแสดงว่าอากาศฤดูร้อนที่อลาสก้าปลูกพืชได้ดี ผักที่ปลูกไว้นอกจากพอเพียงในการทำอาหารถวายพระสงฆ์ที่มีอยู่เพียงสองรูปแล้ว ยังแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ญาติโยมที่มาทำบุญไปปรุงอาหารได้อย่างเหลือเฟือ

พอไปถึงวัดก็เข้าไปคารวะเจ้าอาวาส แล้วทักทายญาติโยมที่นั่งอยู่หลายคน แต่ละคนล้วนแต่ยิ้มให้บอกว่า ฟังแต่เสียงจากซีดีที่ทางวัดสำเนาแจกให้ แต่ไม่เคยเห็นหน้าเลยมาดูหน้าเสียหน่อย ทุกคนที่มาต้อนรับพูดคุยเป็นกันเองเหมือนรู้จักกันมาตั้งหลายปี ทั้งนี้เพราะฟังซีดีธรรมะเยอะมาก่อนนั่นเอง

พอมาเจอคนที่นี่ก็ฟังธรรมะกันใหญ่ ก็ให้คิดถึง ท่านบุญพิทักษ์ คุณบุญเลิศ คุณพรทิพย์ คุณเพ็ญสุข คุณจวน คุณบุปผา คุณวิไล คุณประไพ คุณวาสนา และท่านที่ไม่สามารถจะเอ่ยนามได้หมดที่ช่วยกันผลิตซีดีอย่างทุ่มเทและเสียสละตลอดมาไม่เคยให้ขาดตกบกพร่องว่า งานที่พวกท่านและพวกคุณทำกันด้วยความเสียสละนั้น ข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงอลาสก้าให้ญาติโยมส่วนหนึ่งได้ฟังอย่างมีความสุขสนุกสนาน คลายเหงาให้ผู้สูงอายุที่อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนได้ไม่น้อย ขอให้ฝ่ายผลิตและฝ่ายจัดทำรวมทั้งผู้บริจาคเงินซื้อแผ่นซีดีจงได้รับส่วนบุญจากการแจกธรรมทานนี้โดยทั่วกัน งานที่ท่านช่วยกันทำมีประโยชน์แก่พี่น้องพุทธศาสนิกชนอย่างกว้างไกล

หลังจากธรรมปฏิสันถารได้ครู่หนึ่ง ญาติโยมก็ได้คั้นน้ำส้มสดๆมาถวาย ดื่มแล้วชื่นใจจริงๆ ท่านเจ้าอาวาสวัดนี้ชื่อท่านปอง พรรษาสามสิบกว่าแล้ว อัธยาศัยดี เป็นที่รวมใจของพี่น้องชาวไทยจากภาคต่างๆชาวเขมรและชาวลาว ทุกคนล้วนเข้ามาช่วยงานวัดด้วยความเต็มอกเต็มใจ เห็นได้จากเด็กๆอีกหลายคนมาช่วยกันตัดหญ้าบริเวณวัด เจ้าอาวาสเลี้ยงอาหารอย่างสนุกสนาน เห็นวัดที่ไหนก็เห็นความสามัคคีของชุมชนที่นั่น ขอเพียงให้คนเข้าวัดเพื่อเอาบุญและทำบุญตามบุญกิริยาวัตถุ วัดก็เป็นที่สงบร่มเย็นแก่ทุกคนโดยไม่มีข้อจำกัด ปัญหาของวัดส่วนใหญ่มิได้เกิดจากการที่พุทธศาสนิกชนมาเอาบุญแต่เกิดจากการที่พุทธศาสนิกชนมาเอาหน้ากันมากกว่า อยากได้ตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้ เมื่อได้แล้วก็กอดไว้ประหนึ่งว่าจะอยู่กันจนตายไปข้างหนึ่ง ใครต้องการเปลี่ยนแปลงครั้งหนึ่งก็เกิดปัญหาครั้งหนึ่ง กว่าจะแก้ปัญหาได้เสร็จก็ต้องใช้เวลาไม่น้อย

เมื่อญาติโยมลากลับบ้านกันแล้ว ท่านเจ้าอาวาสได้จัดห้องพักให้พักผ่อนเงียบๆจัดผ้าอาบน้ำมาถวาย ต้อนรับด้วยไมตรีที่ดียิ่ง จึงฉลองศรัทธาทั้งอาบน้ำทั้งงีบไปสักสิบห้านาทีรู้สึกว่าสดชื่น เวลา 16.30 น. ก็ลาเจ้าอาวาสและญาติโยที่มารอส่งจากวัดอีกสองสามท่าน ทุกคนเป็นห่วงว่าหากทนความหนาวไม่ไหวให้ตัดสินใจถอยมาจำพรรษาเสียที่วัดธรรมภาวนา หรือหากได้รับการดูแลไม่ดี อาหารการฉันขาดแคลนมากก็ขอให้กลับมาจำพรรษาที่นี่จะได้ฟังเทศน์กันให้สนุกสักพรรษา รับความปรารถนาดีของญาติโยมด้วยความประทับใจ หากมีปัญหาหนักหนาสาหัสก็จะมาหรอกไม่ปฏิเสธ แต่ตอนนี้ขอไปดู Fairbanks เสียก่อนว่า หน้าตาเจ้าเป็นอย่างไร

คุณดอกไม้และท่านมหาประเวชมาส่งที่สนามบินจนถึงทางเข้าตรวจรักษาความปลอดภัย การเดินเข้าที่ตรวจรักษาความปลอดภัยเดินไปง่ายๆคนเดียว ไม่ต้องเข้าคิว อาจจะเป็นเพราะว่า คนในเที่ยวบินนี้น้อยหรือมาเร็วก็ไม่ทราบได้ เจ้าหน้าที่ตรวจรักษาความปลอดภัยเห็นว่าเราคล้ายผู้ก่อการร้ายหรืออย่างไรไม่ทราบ ต้องเชิญไปตรวจเป็นพิเศษและต้องเอามือลูบท้องรอบๆอย่างละเอียด ประหนึ่งเห็นไปว่า น่าจะซ่อนอะไรไว้ในท้องทั้งๆที่แท้จริงท้องของเราป่องต่างหาก เมื่อใช้มือตบๆคลำๆไปทั่วจุดที่ต้องสงสัยแล้ว ก็กล่าวขอบคุณที่ให้ความร่วมมือด้วยดี

เครื่องบินอลากสก้าแอร์ไลน์เที่ยวบินที่ 191 ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าบรรทุกผู้โดยสารเต็มลำมุ่งหน้าสู่ Fairbanks International Airport โดยกัปตันประกาศว่าจะใช้เวลาบินเพียงสี่สิบห้านาที วันนั้นอากาศดีมากท้องฟ้าใส พอดีนั่งริมหน้าต่างจึงได้นั่งดูทิวทัศน์ไปตลอดเส้นทาง บางแห่งก็เป็นภูเขาสูงยังมีหิมะอยู่บ้างเพียงบางๆ บางแห่งก็เป็นทะเลทรายในบริเวณกว้างใหญ่ เมื่อใกล้จะถึง Fairbanks ภูเขาและที่ราบจะเริ่มเขียวขจีมากขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งเครื่องบินแตะรันเวย์ เป็นอันว่าถึงที่หมายที่ยังไม่เคยมาสัมผัสใดๆมาก่อน

เพียงแค่เดินออกจากเครื่องบิน เข้าสู่สนามบิน ก็เข้าใจได้ว่า เมืองนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้เพราะพื้นภายในตัวอาคารที่เดินผ่านไปรับกระเป๋าปูด้วยไม้ขัดเงาแวววับสวยงามไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน เมื่อลงมาถึงที่รับกระเป๋า พอดีกระเป๋าออกมาพร้อมๆกันก็พบคุณปัญญาและอดีตมหาอีกคนหนึ่งไปรอรับอยู่แล้วก็ช่วยกันหิ้วกระเป๋าขึ้นรถ เดินทางเพียงห้านาทีก็ถึงที่พักที่จัดไว้ถวาย

ที่พักเป็นอพาร์ทเม็นท์ที่ทำได้วยไม้ทั้งหลังสวยงามมาก คุณตึ๋ง ซึ่งมาอยู่ที่นี้สี่สิบกว่าปีแล้วได้บอกกับคุณปัญญาว่าให้พระมาพักที่นี้ มีห้องว่างอยู่หนึ่งห้องใกล้ๆกัน จะได้ถวายอาหารและอำนวยความสะดวกให้ เป็นสถานที่สงบ เพราะกลางวันคุณตึ๋งไปทำงานในแคมพ์กว่าจะกลับมาก็สี่ห้าทุ่มทุกวัน กลางวันก็ไม่มีใครอยู่เลย เข้าตำราว่า เป็นเรือนว่างตามความหมายที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอจงเข้าไปนั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรงดำรงสติมั่น กำหนดรู้ลมหายใจออกเข้า

เมื่อเข้าห้องแล้วสำรวจดูห้องที่จัดถวายก็พอใจเพราะว่างจริงๆเพราะโดยปกติก็ไม่อยากจะสะสมอะไรให้รกอยู่แล้ว เคยพูดกับญาติโยมบางคนว่า ต่อไปนี้เวลามีใครเอาอะไรมาถวายจะขอรับไว้เพียงพอแก่การใช้สอยไปเป็นช่วงหนึ่งๆเท่านั้น เช่นถวายกระดาษชำระหนึ่งโหลก็จะขอรับไว้เพียงม้วนเดียว ถวายยาสีฟันหรือสบู่มากๆก็จะรับเพียงหลอดเดียวหรือก้อนเดียว ใช้หมดแล้วก็ค่อยว่ากันใหม่เพื่อให้ชีวิตมีภาระน้อยและเบาเท่าที่จะเป็นไปได้

อดีตมหาอีกคนหนึ่งเข้ามาถวายความสะดวกบอกว่า ท่านอาจารย์น่าจะมีพัดลมสักตัว เพราะวันที่ไปถึงนั้น ร้อนมาก และควรจะมีเก้าอี้นั่งทำงานอีกหนึ่งตัว เมื่อเห็นว่าเธอปรารถนาดีก็ตกลง ตามคำแนะนำ เธอเลยซื้อพัดลมตัวเล็กมาถวายและเก้าอี้นั่งเขียนหนังสือหนึ่งตัว รวมสองอย่างก็คงไม่ต่ำกว่าสี่ห้าสิบเหรียญจึงบอกเธอว่า การที่เห็นเธอสึกออกมาเป็นคนดีมีน้ำใจทำงานหนักอย่างนี้ ฉันก็ประทับใจแล้ว ฉันขอจ่ายเองได้ไหมเพราะญาติโยมก็ถวายปัจจัยฉันมาใช้สอยยามจำเป็นอย่างพอเพียง

อดีตมหาคนนั้นก็บอกว่า ผมดีใจที่ได้รับใช้ท่านอาจารย์อย่างใกล้ชิดสักครั้ง เพราะสมัยเป็นพระได้ยินแต่ชื่อเสียงไม่เคยไปกราบเลยมาครั้งนี้ผมขอถวายเถอะครับ

เมื่อเห็นว่าเธอตั้งใจเด็ดเดี่ยวอย่างนั้นก็เป็นศรัทธาที่ไหลออกมาจากใจไม่หวั่นไหว จึงอนุญาตให้เธอได้ทำบุญตามที่เธอตั้งใจ ส่วนคุณปัญญานั้นจัดน้ำปานะเตรียมไว้ถวายแล้วต้องไปทำงานที่ร้านแมคฯถึงเวลาเที่ยงคืนเมื่อเข้าที่เข้าทางแล้ว ก็บอกว่าทุกคนไปทำงานกันตามอัธยาศัยแล้วพบกันเวลาว่างๆ เพราะเข้าใจดี และดีใจที่เห็นคนหนุ่มๆกระตือรือร้นในการทำงานกันอย่างจริงๆ จังๆแบบนี้ คุณปัญญานั้นคนแถวนั้นเรียกแกว่า หมอบ้าง พี่หมอบ้าง เพราะแกเป็นหมอนวดด้วย เวลาว่างจากงานประจำก็ไปนวดตามสั่งไม่สังกัดค่ายใด เป็นหมอนวดอิสระ รับงานตามความสะดวกและมีอัธยาศัยต่อกัน

คืนนั้นกว่าจะนอนหลับได้น่าจะหกทุ่มล่วงแล้วเพราะไม่มืดสักที คิดว่า นี่ไม่ใช่อาทิตย์เที่ยงคืนดังสมญานามเสียแล้ว นี่มันอาทิตย์ทั้งคืนเสียละกระมัง ยังไม่ได้ลองนั่งดูให้สว่างว่ามืดตอนไหนเวลาเท่าไรกันแน่ แต่พอล้มตัวลงนอนก็หลับดีนั่นแหละ

เช้าวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม 2553 ตื่นเวลา 6.00 น. วันนี้ตั้งใจว่าจะเริ่มต้นฉันวันละมื้อเพื่อความสะดวกเพราะไม่ทราบว่าสถานการณ์ด้านอาหาร จะเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าไม่มีใครถวายก็ลองอดดูบ้างเพราะตอนนี้เราเดินเข้าสู่ชีวิตอนาคาริกเต็มตัวแล้ว ต้องสันโดษ ยินดีด้วยสิ่งที่มีอยู่ ไม่ต้องแสวงหาสิ่งใดตามใจปรารถนา

เวลาประมาณสิบโมงครึ่งก็มีเสียงเคาะประตูจากคุณตึ๋งนิมนต์ ว่าได้เวลาฉันแล้วครับ คุณตึ๋งจะต้องรีบไปทำงานจึงให้ใส่ข้าวผัดลงไปในบาตรสามช้อนซึ่งคะเนว่าน่าจะพอเพียงแก่การดำรงชีพ คุณตึ๋งขอให้ตักเยอะๆก็บอกว่าพอแล้วที่เหลือ นำไปรับประทานทีทำงานเถอะ แล้วจึงให้พร ครู่หนึ่ง คุณปัญญาก็นำผัดไทยร้อนๆมาอีกกล่องหนึ่ง พร้อมข้าวโอ๊ตและนมจืด

เมื่อให้พรคุณปัญญาเสร็จแล้ว ก็มีสุภาพสตรีอีกท่านหนึ่งทำน้ำพริปลาทูมาถวาย พร้อมชะอมลวกม้วนเล็กๆพอคำอีกสี่ห้าม้วน ปลาทูทอดหนึ่งตัวและข้าวอีกหนึ่งถ้วย ถวายเสร็จก็ให้พรอีกจบแล้วทั้งคุณปัญญา คุณตึ๋ง และสุภาพสตรีท่านนั้นต่างก็ขอตัวไปทำงาน จึงฝากธรรมสั้นๆไปว่า งานคือชีวิต ชีวิตคืองาน บันดาลสุข ทำงานให้สนุก เป็นสุขเมื่อทำงาน

อาหารที่แต่ละคนนำมาถวายก็เพียงพอแน่สำหรับหนึ่งมื้อ เลยต้องเฉลี่ยฉันอย่างทั่วถึงเพื่อฉลองศรัทธาของคนที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ทำให้นึกถึงพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่หกว่า อันความกรุณาปราณี จะมีใครบังคับก็หาไม่ หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัย สู่แดนดิน

ขอจบบันทึกเหตุการณ์วันแรกและอาหารมื้อแรกที่ Fairbanks ไว้แค่นี้ก่อนมีความเคลื่อนไหวใดๆในด้านงานธรรมสัญจรจะรายงานให้ทราบเป็นลำดับไป ขอให้ญาติธรรมและสหายธรรมวัดพุทธปัญญา กริฟฟิตพาร์คและในแคลิฟฟอร์เนียได้วางใจหายห่วง พุทธบริษัทผู้มีน้ำใจที่นี่จะให้ความอุปถัมภ์ปัจจัยสี่สนับสนุนให้การประพฤติพรหมจรรย์ดำเนินไปได้อย่างสะดวกตามสมควรแก่สมณบริโภคแน่นอน ขอขอบคุณทุกท่านที่ห่วงใยและถวายความอุปถัมภ์ในการจาริกครั้งนี้ ขอทุกท่านจงมีความสุขความเจริญ อิ่มกาย อิ่มใจ ไร้โรคภัย ทั้งกายใจทุกถ้วนหน้าทุกทิพาราตรีกาลเทอญ

https://lgy1vw.blu.livefilestore.com/y1mRQtLioV0mafFDf5RLPQEmhf9FFMyyPXB0qxiwWwsMaBT-4VJzdIOErTM9nWG6LodVLEke-wyUnjA-7-SkILoyULJ5d7qPC69666Mo0gKRG-zOoHGTo-sxoFOWf-G5JKzC8MI62320_rf4Y6QHSV7Og/DSC00422.JPG?psid=1

ดร. พระมหาจรรยาสุทธิญาโน

เจ้าอาวาสวัดลอยฟ้า

 

© วัดพุทธปัญญา -แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา :: © Copyright 2008 Buddhapanya Temple