8.การบวชแบบประหยัด
ั้ หลวงพ่อปัญญานันทะได้ชื่อว่า เป็นผู้พยายามนำหลักพุทธธรรมของพระพุทธเจ้ามาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศาสนา หลวงพ่อปัญญานันทะพยายามอธิบายหลักธรรมะที่จะนำมาใช้ได้อย่างครอบคลุมชัดเจน อย่างไม่มีใครเคยกระทำมาก่อนก็คงจะไม่ผิด เพราะพระสงฆ์ทั่วไปมักจะจับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเฉพาะทาง เช่นทางกรรมฐานหรือทางเทศนาตามพิธีกรรมต่างๆท่านก็จะทำเท่านั้น
การนำเอาหลักธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวันให้ได้นั้นต้องอาศัยความกล้าหาญในการทำงานอย่างมาก ความกล้าที่จะต้องมาก่อนคือ กล้าที่จะเผิชญหน้ากับประเพณีที่ประชาชนทำกันมาอย่างเคยชิน ไม่มีใครกล้าชี้ข้อดีข้อเสียให้ชัด แต่หลวงพ่อปัญญานันทะกล้าชี้ลงไปว่า อะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไร ไม่ควร
การบวชนาคในประเทศไทยที่ทำกันตามประเพณี เป็นที่รู้กันดีว่า จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดงานบวชนาคอย่างมากมาย ใครไม่มีเงินถุงเงินถังก็แทบจะบวชนาคกันไม่ได้ หรือบางคนอยากจะบวชลูกบวชหลาน ถึงกับกู้หนี้ยืมสินมาใช้ในงานชนิด ผู้ที่บวชลาสิกขาไปแล้วสามปีก็ยังปลดหนี้ไม่หมด
ค่าใช้จ่ายเหล่านั้น เป็นค่าใช้จ่ายเรื่องบาปหรือเรื่องที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบร่มเย็นอันเป็นเป้าหมายของผู้มุ่งบรรพชาอุปสมบททั้งสิ้น การบวชนาคโดยทั่วไปนิยมทำกันอย่างไร ไม่ต้องกล่าวถึงอดีต แม้ปัจจุบันผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่หลวงพ่อปัญญานันทะได้เทศน์ได้สอนหรือได้ทำเป็นตัวอย่างไว้ก็ยังต้องใช้จ่ายมาก
ที่บอกว่า รายจ่ายในงานบวชหมดไปกับการอกุศลนั้นก็คือ ใช้จ่ายเรื่อง การทำขวัญนาค ซึ่งราคาเรือนหมื่น จะกี่หมื่นนั้นก็สุดแล้วแต่ความดังของนักแหล่ที่จะต้องจ้างมาทำขวัญนาค จ่ายค่าดนตรีลูกทุ่งหรือสตริง ต้องเป็นเรือนแสนจะกี่แสนก็ไปนับเอาเอง หรือบางงานประหยัดหน่อยก็จ้างบริษัทหนังเร่มาฉาย ค่าใช้จ่ายให้หนังเร่ก็ต้องเป็นหมื่นหรือหลายหมื่นขึ้นอยู่กับอายุของหนังที่นำมาฉายเก่าหรือใหม่ ถ้านำมาฉายทันกันกับโรงภาพยนตร์หรือกำลังดังก็แพงหน่อย แต่ถ้านำหนังเก่ามาฉายก็ราคาถูกหน่อยแต่เจ้าภาพหรือบริษัทหนังเร่อาจจะถูกตำหนิ ว่าเอาหนังไม่ดีมาฉาย ทั้งๆที่ คนตำหนิก็ไม่ได้จ่ายอะไรเลย
แค่หมวดมหรสพก็จะต้องจ่ายกันเรือนแสนไปแล้ว หากมาดูถึงหมวดค่าใช้จ่ายด้านการเลี้ยงรับรองบ้าง ถ้าบอกแขกมากๆเป็นร้อยๆคน ไม่ว่าจะทำอาหารกันเองหรือ จ้างร้านอาหารมาจัดก็ต้องจ่ายกันไม่ต่ำกว่าสี่ห้าหมื่นหรือแสนขึ้นไป หากเป็นชนบท ต้องทำบาปเพิ่มเติมด้วยการล้มวัวหรือล้มควายอีกหลายตัว เป็นการทำบาปมาสนับสนุนบุญ สุดท้ายได้บุญเท่าไรต้องใช้ไปให้บาปหมด เจ้าภาพได้บุญเท่าไรต้องอุทิศให้วัวควายที่เขาพลีชีพทั้งหมด
งานบวชนาคซึ่งจัดว่าเป็นงานมหากุศลของชีวิต แต่ไปฆ่าสัตว์กันอย่างมโหฬาร นับว่า บาปหนักแล้ว เวลาแขกมาร่วมงาน แขกจะเรียกหาสุรา เจ้าภาพก็ต้องจัดหาสุรามาเตรียมไว้พร้อมมูล บางงานรายจ่ายค่าสุราสูงกว่า ค่าอาหารเป็นสองเท่าหรือสามเท่าก็มี เพราะการเลี้ยงอาหารยังมีเวลาหยุด รับประทานอาหารอิ่มแล้วก็หยุด แต่นักดื่มสุราโดยเฉพาะที่ดื่มฟรีไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยแล้ว จะดื่มได้เรื่อยๆทั้งวันทั้งคืนไม่รู้จักหยุด ก่อนเริ่มงานก็ดื่มสุรามาแล้ว เวลากำลังจัดงานก็ดื่มสุรา จัดงานผ่านไปแล้วบางทีนักดื่มยังเหลืออยู่อีก รายจ่ายค่าสุราจึงมาเป็นสองหรือสามเท่าของค่าอาหาร
เวลาจะแห่นาคไปวัดหรือเข้าโบสถ์ ต้องจ้างแตรวง วงที่มีชื่อเสียงหรือแตรวงโรงเรียนมาร่วมขบวนแห่ สนนราคาถูกๆก็ห้าพันหรือหมื่นบาทขึ้นไปอีก แค่เพียงแต่เจ้านาคจะเข้าโบสถ์บวชนี้แหละก็ยังต้องจ่าย
ด้วยเหตุนี้เองงานบวชนาคคืองานที่จะยกระดับจิตของผู้บวชและญาติมิตรให้สูงขึ้น สู่การศึกษาและปฏิบัติธรรมที่พิเศษกว่าที่เคยเป็นมา กลายเป็นการช่วยกันทำบาปครั้งใหญ่เป็นพิเศษ ซึ่งเรื่องเหล่านี้แม้พระสงฆ์ทุกวัดจะรู้เท่ากันก็ไม่มีใครกล้าบอก กล้าอธิบายหรือกล้าชี้ถูกชี้ผิดเพราะกลัวเจ้าภาพและแขกที่มางานเขาจะโกรธเอา เลยต้องปล่อยให้งานบวชเป็นงานบาปกันทั่วแผ่นดินตั้งแต่อดีตสู่ปัจจุบันนี้แหละ
หลวงพ่อปัญญานันทะ เป็นพระมหาเถระที่กล้าหาญลุกขึ้นมาชี้ให้เห็นว่า การฆ่าวัวฆ่าควายมาเลี้ยงแขก การเลี้ยงสุราหรือการมีมหรสพในงานบวชล้วนเป็นการทำบาป เป็นการทำอบายมุขไม่ใช่ทำบุญ การทำขวัญนาคก็ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร ได้แต่ความบันเทิงและที่สำคัญคือ ต้องใช้จ่ายแพง
การบวชที่แท้จริงเพื่อเข้าสู่การฝึกฝนตนเองในร่มผ้ากาสาวพัตรนั้น เป็นการบวชที่ทำได้ง่ายใช้จ่ายประหยัด เมื่อหลวงพ่อปัญญานันทะมาเป็นเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฎิ์จึงได้ประกาศธรรมอย่างกล้าหาญขัดคอการทำบาปของผู้สนุกสนานกับการทำบาปในงานบวชอย่างจริงจัง และให้วัดชลประทานรังสฤษฎิ์เป็นวัด ต้นแบบแห่งการบวชอย่างประหยัด ใครต้องการจะบวชแบบประหยัดขอเชิญได้ทุกคน แต่ถ้ามีเงื่อนไขขอผ่อนปรนเช่นขอแตรวงมาแห่นาค ก็ขอเชิญไปที่วัดอื่น หลวงพ่อฯวางกฎอย่างแข็งขันจริงจัง
เมื่อหลวงพ่อปัญญานันทะ กล้าหาญที่จะปฏิรูปการบวชโดยเริ่มต้นที่ตัวของท่านเอง ไม่ช้าพุทธศาสนิกชนทั้งหลายก็นำกุลบุตรผู้มีความปรารถนาจะบวชเข้าสู่วัดชลประทานรังสฤษฎิ์กันปีละหลายพันคน นับเป็นพระอุปัชฌาย์ที่บวชพระมากที่สุดในประเทศไทยทีเดียว
สมัยที่ผู้เขียนยังพำนักอยู่ที่วัดชลประทานรังสฤษฎิ์ประมาณปี พ.ศ. 2523-5 ค่าใช้จ่ายที่เขาบวชกันแบบฉิบหายเป็นแสนบาท แต่หากใครบวชที่วัดชลประทานรังสฤษฎิ์อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จะจ่ายเพียง 1500 หรือ 2000 บาทก็บวชได้แล้ว
นี้คือการบวชนาคที่เน้นเนื้อหาสาระแท้ๆ โดยเจ้านาคมาอยู่วัด เรียนคำขานนาค ทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็นแปล ให้ได้ เมื่อถึงวันบวชก็ซื้อเพียงผ้าไตรราคาไม่ถึงพันบาท จะจัดอาหารผลไม้เลี้ยงกันเองก็คงไม่เกินหนึ่งพันบาทก็บวชเสร็จแล้ว
ที่เรียกว่า การบวชนาคแบบประหยัดเพราะประหยัดเงินได้อย่างมหาศาล คือแทนที่จะจ่ายงินเป็นหมื่นเป็นแสน แต่จ่ายแค่ 2000 เพราะเรื่องที่ทำเป็นเรื่องบุญล้วนๆไม่มีบาปเจือปน เข้าทำนองที่ว่า ประโยชน์สูงสุดคือได้บวชอย่างบริสุทธิ์ผุดผ่องสมความตั้งใจได้บุญเต็มที่ ประหยัดสุด คือ ค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด น้อยกว่าที่เขาทำกันทั่วไปเป็นพันเท่า
เวลาเจ้านาคเข้าโบสถ์ หลวงพ่อบอกว่า ไม่ต้องแห่นาค ไม่ต้องใช้แตรวงให้หนวกหู ไม่ต้องเวียนโบสถ์สามรอบ เราจะเดินไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เดินตรงเข้าไปกราบพระองค์เลย จะมัวเดินเวียนให้ชักช้าทำไม เมื่อกายวาจาและใจพร้อมที่จะทำดี ก็ทำดีได้เลย
เมื่อเจ้านาคได้บวชเป็นพระแล้วหลวงพ่อปัญญานันทะจะนำพระบวชใหม่ทำวัตร สวดมนต์เช้า เจริญภาวนาจนสว่างแล้วออกบิณฑบาตร เวลา 9 โมงเช้าหลวงพ่อฯก็อบรมพระบวชใหม่ด้วยตัวท่านเอง จนถึงเพล เวลาบ่าย หลวงพ่อท่านก็อบรมพระบวชใหม่ด้วยตัวท่านเอง เวลาเย็นท่านก็นำทำวัตรเย็นและอบรมด้วยตัวของท่านเองอีก หากท่านมีธุระต้องออกไปแสดงธรรมที่อื่น ก็มอบหน้าที่ให้พระสงฆ์ในวัดอบรมพระบวชใหม่มิให้ขาดจนกระทั่งลาสิกขาออกไปเป็นคนดีมีธรรมะ เป็นบุตรที่ดีของพ่อแม่ เป็นศิษย์ที่ดีของครูอาจารย์ เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ เป็นศาสนิกที่ดีของพระพุทธศาสนา เป็นสามีที่ดีของภรรยา และทำหน้าที่ต่างๆโดยมีธรรมะนำหน้าอย่าสมบูรณ์ดังที่โบราณเขาเรียกคนที่ผ่านการบวชมาแล้วว่าเป็นคนสุก หรือเป็นบัณฑิต หรือเรียกสั้นๆออกเสียงแบบไทยๆว่าทิดนั้นเอง
หากวงการคณะสงฆ์ได้น้อมนำเอาแนวทางการบวชนาคแบบที่หลวงพ่อปัญญานันทะได้กระทำติดต่อกันมาจนวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างจริงจัง เชื่อมั่นว่า พระสงฆ์ที่บวชดำรงพระพุทธศาสนาต่อไปก็จะเป็นพระสงฆ์ที่มีคุณภาพ ไม่ให้สังคมเขาหมิ่นได้ว่าเป็นแค่พระภิกษุสันดานกา หากลาสิกขาออกไปก็จะเป็นพลเมืองดีดำรงชีวิตโดยธรรมนำความสงบเย็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นสืบไป
© วัดพุทธปัญญา -แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา :: © Copyright 2008 Buddhapanya Temple