สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นสัปดาห์แห่งการเฉลิมฉลอง อหิงสาธรรมถึง 2 วัน คือ วันมาฆบูชาและวันวาเลนไทน์ วันสำคัญทั้ง 2 วันนี้แม้จะเป็นวันสำคัญต่างศาสนา ต่างวันและเวลา แต่สาระสำคัญของแต่ละวันล้วนกล่าวถึงการอยู่ร่วมกันด้วยความรักของมนุษย์ การที่มนุษย์ได้เคลื่อน
ไหวเพื่อประกาศและส่งเสริมให้มนุษย์รักกันไม่ว่าในรูปแบบใด ล้วนเป็นไปเพื่อสันติภาพและสันติสุขด้วยกันทั้งนั้น ประวัติศาสตร์โลกบ่งชัดแล้วว่า ความรัก และการไม่เบียดเบียนกัน สร้างสันติภาพในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ระดับบุคคลถึงระดับโลก ส่วนความชังและการเบียดเบียน เป็นสาเหตุสำคัญแห่งการรบราฆ่าฟันของมนุษย์จากอดีตสู่ปัจจุบัน
เทคโนโลยี และการสื่อสารย่อโลกใบนี้ให้แคบลง ความสัมพันธ์ของมนุษย์ก็มีความใกล้ชิดสนิทสนมมากขึ้น มนุษย์มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ศาสนา ประเพณี วิถีชีวิตของกันและกันมากขึ้น การเฉลิมฉลองวันสำคัญตามความเชื่อทางศาสนาและประเพณีต่างๆ ของแต่ละเผ่าพันธุ์ที่เคยทำกันในกลุ่มของตน บัดนี้ได้ขยายกรอบออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล ศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์อันเป็นแหล่งกำเนิดความรักและอหิงสา ก็ได้รับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างกว้างขวาง
การทำความเข้าใจศาสนาของตนให้ถ่องแท้แล้วเปิดใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศาสนาของเพื่อนร่วมโลก ย่อมเป็นวิถีที่ทำให้มนุษย์รู้จักถึงความเป็นมนุษย์ของแต่ละเผ่าพันธุ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นั่นก็หมายถึงวิถีที่จะทำให้มนุษย์มีความเป็นพี่น้องมากขึ้นบนพื้นฐานใดพื้นฐานหนึ่ง เช่น เป็นเพื่อนกันได้ รักกันได้ในฐานะเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บและตายมากขึ้น ความรู้จักมักคุ้นของมนุษย์บนโลกนี้มากขึ้นเท่าไร ความสงบและความปลอดภัยในความสัมพันธ์ทุกมิติของมนุษย์ก็เพิ่มขึ้นมากเท่านั้น
คำว่า รัก ในภาษาไทย มีความหมายหลายอย่าง นับเป็นโชคดีนอกจากคนไทยมีภาษาไทยในการใช้สื่อสารอย่างร่ำรวยแล้ว ยังมีภาษาบาลีมาเพิ่มให้สามารถทำความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้กระจ่างขึ้น เช่น คำว่า รัก หากเทียบกับภาษาบาลี จะมีคำอย่างน้อย 4 คำที่สื่อว่า เป็นความรัก
1. ราคะ เป็นความรักระหว่างเพศหรือเพศเดียวกันที่มีความแนบแน่นดื่มด่ำฝังจิตฝังใจ ดึงดูดให้คนที่มีความรักแบบนี้ใช้ชีวิตร่วมกันในรูปแบบของครอบครัวหรือแบบอื่นๆ อย่างเป็นทางการ หรือไม่เป็นทางการ เพื่อมอบความรักที่มีต่อกันอย่างดูดดื่มให้แก่กันอย่างใกล้ชิด เป็นรักที่ต้องการครอบครอง มีหึง หวง ห่วงอาลัยต่อกันอย่างสม่ำเสมอ เมื่อใดรักประเภทนี้เบาบางหรือจางคลายลง หรือหมดสิ้น คู่รักก็มักจะแยกทางกัน รักแบบนี้จึงเป็นดุจกาวใจที่ดึงดูดให้คน 2 คนใช้ชีวิตร่วมกัน จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับปริมาณที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงของความรักแบบนี้
2. ปิยะ เป็นความรู้สึกรักแบบครอบครอง รักแบบนี้ผ่านขั้นตอนราคะไปแล้ว เป็นความรู้สึกครอบครอง ซึ่งมีทั้งบุคคลอันเป็นที่รัก สิ่งของ สัตว์เลี้ยง ก็เป็นที่รักได้ หากรักประเภทนี้เปลี่ยนแปลงไปหากตั้งใจไว้ไม่ทันจะเศร้าโศกเป็นอย่างมาก พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ปิเยหิ วิปฺปโยโค ทุกโข ความพลักพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ ในชีวิตจริงๆ ต่างพบกับความพลัดพรากกันมาแล้ว บางคนรักสัตว์เลี้ยงมาก เมื่อสัตว์เลี้ยงตายไปก็เป็นทุกข์อยู่นานกว่าจะสร่างซา พ่อแม่ลูกหรือคู่รัก คราวพลัดพรากก็เศร้าโศก เหตุแห่งความเศร้าโศก ล้วนมาจากการพลัดพราก สิ่งนี้เป็นสัจธรรมสากลที่ทุกคนประสบพบได้เสมอ
3. เปมะ แปลว่า ความรัก ถ้าเป็นความรักผู้อื่นก็ใช้ในความหมายที่คล้ายคลึงกับคำว่า ปิยะ เช่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า เปมโต ชายตี โสโก แปลว่า ความโศกย่อมเกิดจากความรัก นอกจากนี้ เปมะ ยังใช้ในความหมายว่า รักตนด้วย เช่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า นัตถิ อัตตะสะมัง เปมัง รักอื่นเสมอด้วยตนไม่มี ความรู้สึกรักตนเอง ดูแลรักษาคุ้มครองตนเองให้ปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ ก็อยู่ในความหมายนี้
4. เมตตา แปลว่า ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ไม่ผูกพัน ไม่ฝังใจ ไม่หึงหวง ไม่ห่วงอาลัย ความรักคือ ความเมตตานี้ เป็นความรู้สึกต่อบุคคลอื่นอย่างบริสุทธิ์ ไม่คิดครอบครอง เช่น เวลาที่เราเห็นเด็กน่ารัก เห็นสัตว์น่ารัก ก็รักเอ็นดู แต่ไม่มีความรู้สึกถึงกับอยากครอบครอง เช่น รักสุนัขรักแมว ก็รักไปในฐานะเป็นสัตว์ หรือสัตว์อื่นๆ ในสวนสัตว์ที่เราได้ชม หรือเห็นนกบินผ่าน แม้จะสวยงามแค่ไหน แต่ไม่เคยคิดจับหรือซื้อหามาเป็นของตน รักแล้วก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ ความรักแบบนี้ มีมากเท่าไรก็เป็นสุขเท่านั้น ไม่กลับกลายเป็นความทุกข์เป็นความรักที่รักได้อย่างปลอดภัย
กรุณา แปลว่า รักที่โน้มไปในทางสงสาร คือ เมื่อมองเห็นว่า บุคคลหรือสัตว์ที่เรามีความเมตตาด้วยนั้นตกอยู่ในฐานะต้องช่วยเหลือ ก็ลุกขึ้นมาช่วยเหลือทันที ความช่วยเหลือแบบนี้ เป็นความรักออกมาจากใจ ที่เรียกว่า กรุณา เช่น เวลาที่แพทย์พยาบาลเห็นผู้ป่วยอาการหนัก ทุ่มเทรักษาอย่างเต็มที่แบบอดตาหลับขับตานอนจนกระทั่งผู้ป่วยอาการดีขึ้น เมื่อส่งเขากลับบ้านก็ไม่มีความทุกข์หรือความห่วงใย เหลือไว้แต่ความปลาบปลื้มใจที่ได้ช่วย ดั่งตัวอย่างแพทย์และพยาบาลของประเทศจีนที่ผนึกกำลังสู้ไวรัสโคโรน่าอยู่ทุกวันนี้
คำว่า รัก ทั้ง 4 คำนี้ เป็นสภาวธรรมที่มีอยู่ในจิตใจของมนุษย์มากบ้างน้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับการสะสมของแต่ละคน สิ่งแวดล้อมที่แต่ละคนอาศัยอยู่ การเลี้ยงดู การฝึกอบรม ศาสนาวัฒนธรรมและประเพณี ล้วนมีบทบาทต่อการพัฒนาความรักทั้ง 4 ประการนี้ให้เข้มข้นหรือเจือจางอย่างไรในแต่ละมิติ อย่างไรก็ตามในความรักที่ยังมีทุกข์แฝงจะต้องมีสติคุ้มครองรักษา ให้สตินำพาความรักคอยปกป้องคุ้มครองทั้งในยามอยู่ด้วยกันและยามจากเพื่อรักษาความปกติของจิตมิให้แกว่งไปทางบวกหรือลบจนเกินไป หากพิจารณาอย่างลึกซึ้งความทุกข์มิได้เกิดขณะที่กำลังรัก แต่ความทุกข์หรือ ความโศกเกิดขึ้นเมื่อต้องพรากจากบุคคลหรือสิ่งของที่รัก การพลัดพรากน่าจะเป็นเหตุแห่งความทุกข์มากกว่าความรัก เมื่อมีรักจึงต้องระวังใจและระลึกถึงอยู่เสมอว่า วันที่ต้องพลัดพรากเมื่อวันนั้นมาถึงจะได้ยืนหยัดอยู่กับความจริงแท้ว่า เป็นเช่นนั้นเอง หรือ พูดภาษาชาวบ้านว่า กูว่าแล้ว ความเข้าใจเช่นนี้จะบรรเทาทุกข์ได้ระดับหนึ่งไม่มากก็น้อยหรืออาจจะไม่ทุกข์เลย ถ้าเหตุปัจจัยเป็นไปอย่างถูกต้อง
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 8.30 น.
วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย
ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ