Daily Archives: 01/17/2020

วิ่งไล่ลุง กับ วิ่งเชียร์ลุง

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2563 ประเทศไทย มีรายการวิ่ง 2 รายการที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากรัฐบาล จากเจ้าหน้าที่ราชการ จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล จากประชาชนและเยาวชนที่สนใจการเมืองโดยทั่วไป        ก่อนรายการวิ่งครั้งนี้จะเริ่มขึ้น หลายฝ่ายต่างวิตกกังวลว่า อาจจะเกิดการกระทบกระทั่งระหว่าง กลุ่มที่ไล่กับกลุ่มที่เชียร์ จึงตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ในที่สุดกิจกรรมการวิ่งครั้งนี้ ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี

ในขณะที่จัดกิจกรรมการวิ่งนั้น ประชาชนชาวไทยที่สนใจการเมือง ถูกแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายไล่ลุง ฝ่ายเชียร์ลุง และฝ่ายเป็นกลาง การแบ่งกลุ่มผู้สนใจการเมืองออกเป็น 3 กลุ่มเช่นนี้ เป็นการแบ่งบนพื้นที่ของผู้มีส่วนร่วมและผู้ที่ไม่เข้าร่วม ผู้ที่เข้าร่วมมี 2 กลุ่ม ที่เหลือเป็นกลุ่มผู้ไม่เข้าร่วม ซึ่งกลุ่มนี้อาจจะอยู่ในเคหสถานบ้านของตน ติดตามข่าวจากสื่อหลักและสื่ออิสระตามความสะดวกของตนๆ

         ระยะเวลาที่จัดกิจกรรมก็ไม่นานนัก พอทุกคนวิ่งกันครบตามกำหนดเวลาก็พากันกลับบ้าน ความวิตกกังวลของคนที่เป็นห่วงก็พลอยสงบลงไปด้วย เป็นอันว่าการจัดกิจกรรมการวิ่งคราวนี้ ไม่รบกวนความสงบเรียบร้อยของสังคมหรือบ้านเมืองแต่อย่างใด     แต่รบกวนใจของผู้เป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมืองว่า จะเป็นเหตุนำไปสู่ความไม่สงบ แต่เมื่อทุกอย่างจบลงด้วยดีก็สบายใจด้วยกันทุกฝ่าย

         มองในมุมมองนักรัฐศาสตร์ ก็เห็นว่ากิจกรรมอย่างนี้ เป็นเรื่องธรรมดาในประเทศประชาธิปไตย ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและแสดงความคิดความเห็นอย่างเสรี เพื่อสื่อสารในสิ่งที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังมิได้เสนอในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อสะท้อนปัญหาของประชาชนสู่รัฐบาลโดยตรง       การที่มวลชนเคลื่อนไหวกันมากๆ เช่นนี้ สามารถกระชากความสนใจของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มาสนใจและมาฟังเสียงเรียกร้องว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ ต้องการอะไร  ถ้าความต้องการเหล่านั้น เป็นความต้องการที่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะจัดให้ได้ก็ควรจัดการให้ แต่ถ้าความต้องการนั้นอยู่เหนือวิสัยที่รัฐบาลจะจัดให้ได้ก็ตอบไปว่า ยังไม่พร้อมที่จะจัดให้ได้ สื่อสารกันแบบตรงไปตรงมา เมื่อเข้าใจกันแล้วต่างคนต่างกลับไปทำหน้าที่ของตน

         อาจจะมีคนตั้งคำถามว่า เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งจัดกิจกรรมไล่ลุง ทำไมอีกฝ่ายหนึ่งต้องจัดกิจกรรมเชียร์ลุงด้วย      คำตอบก็คือ ในระบบประชาธิปไตยที่มีการเมืองหลายพรรค  ประชาชนในประเทศแต่ละคนมีเสรีภาพอย่างสูงที่จะแสดงออกถึงความชอบพรรคการเมืองไหน และไม่ชอบพรรคการเมืองไหนได้อย่างเปิดเผย      ในกรณีการวิ่งเชียร์ลุงและวิ่งไล่ลุงนี้ก็ชัดเจนยิ่งนัก แฟนคลับของลุงเคยแสดงออกมาแล้วคราวเลือกตั้งทั่วไปโดยการลงคะแนนให้พรรคการเมืองที่เสนอลุงเป็นนายกรัฐมนตรี      ถ้าใช้คะแนนเลือกตั้ง เป็นดัชนี ชี้ความนิยม มองแบบอ้อมๆ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ประชาชนทั่วประเทศนิยมลุงไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน ที่เหลือก็กระจายไปนิยมชมชอบพรรคต่างๆ ตามความคิดเสรีในระบอบประชาธิปไตยนั่นแหละ     ส่วนฝ่ายที่ไม่ชอบลุง ก็มีอยู่จริงดูจากคะแนนเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคนเช่นกัน เมื่อมาร่วมกิจกรรมก็ต้องร่วมในกลุ่มไล่ลุง เป็นเรื่องธรรมดาอีกนั่นแหละ

         กลุ่มที่จัดกิจกรรมไล่ลุงก็เสนอข้อมูลข่าวสารผ่านการปราศรัยและผ่านสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง  เพื่อแสดงออกว่า ไม่รักลุงแล้ว เห็นได้จากสาระที่แสดงออกและภาษาที่ใช้เข้าใจได้ว่าไม่มีความรักในใจเหลือให้ลุงและทีมงานบริหารของลุงอีกแล้ว      ส่วนสาระและภาษาที่ใช้ว่าอย่างไรบ้างก็คงจะผ่านสายตากันบ้างแล้ว หากใครต้องการทราบเนื้อหาว่าทำไมต้องมาวิ่งไล่กันอย่างนี้ ก็ลองไปหาตามสื่อต่างๆ คงหาไม่ยาก ส่วนเนื้อหาสาระและภาษาของฝ่ายเชียร์ลุงก็แสดงออกได้ไม่น้อยหน้าฝ่ายไล่ลุง ใครต้องการทราบว่า เนื้อหาและเหตุผลในการปกป้องคุ้มครองลุงมีว่าอย่างไร ก็ไปหาตามสื่อแฟนคลับลุงได้ไม่ยากเช่นกัน

         สาเหตุที่ไม่ควรจะนำคำพูดหรือข้อความของนักกิจกรรมที่ทำเสร็จไปแล้วมาลงให้อ่านกัน เพราะเนื่องจากมีคำที่พระสงฆ์ไม่ควรอ้างถึงมากมาย คำเหล่านั้นเข้าข่าย วจีทุจริต อันประกอบด้วย คำเท็จ คำหยาบ ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ คำประเภทไหนมีมากหรือน้อย ก็นำหลักนี้ไปจับกันเอาเอง จะได้ประจักษ์แจ้งด้วยตัวเอง ดังบทสวดอิติปิโสฯที่ว่า อันวิญญูชนพึงรู้ได้ด้วยตนเอง

         หลังจากกิจกรรมนี้ผ่านไปด้วยความสงบดีแล้ว มีการแจกแบบสอบถามความคิดเห็นว่า รู้สึกอย่างไรต่อกิจกรรมครั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์แสดงความคิดเห็นว่า กังวล กลัวว่าจะเกิดเหตุรุนแรงตามมา ส่วนอีก 40 เปอร์เซ็นต์ก็มีความเห็นแตกต่างกันออกไป ต้องยอมรับความเป็นจริงเหมือนกันว่า การที่ประชาชนคนธรรมดาไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง เห็นคนมารวมตัวกันเป็นจำนวนหมื่น และแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างเกรี้ยวกราด ย่อมต้องกังวลถึงเหตุร้ายเป็นธรรมดา และคงไม่ปรารถนาที่จะเห็นกิจกรรมแบบนี้บ่อยๆ เพราะหากประมาท อาจจะเผชิญหน้าและปะทะกันด้วยความรุนแรงได้

         หากมองโลกในแง่ดี บนพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย แม้กิจกรรมที่ทั้ง 2 ฝ่ายทำ จะค่อนข้างสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง แต่ถ้ามองกิจกรรมเหล่านี้ผ่านระบอบประชาธิปไตยที่เน้นประชาชนมีส่วนร่วม กิจกรรมนี้กลายเป็นสีสันที่ส่งเสริมประชาธิปไตยให้มีความเจริญเติบโตและมั่นคงในทุกมิติ เป็นการประกาศให้นานาประเทศทั่วโลกทราบทั่วกันว่า บัดนี้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มขั้นแล้ว เพราะประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออก โดยฝ่ายรัฐบาลอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยเพื่อป้องกันเหตุร้ายใดๆ ที่จะเกิดขึ้น หรือบางมิติการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้ ระดับเสรีภาพของประชาชนถูกยกขึ้น เทียบเท่าประเทศสหรัฐอเมริกาไปแล้ว จะเห็นได้จากการที่มีคนนำข้อความที่เขียนบนเสื้อ ด่าประธานาธิบดี โดนัลทรัมป์ ด้วยคำหยาบคาย ไปเขียนบนเสื้อของนักวิ่งไล่ลุงด้วย ใครอ่านข้อความนี้แล้วรู้สึกว่า หยาบคายมาก คาดว่ารัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงก็คงอ่านแล้วเหมือนกัน แต่ไม่มีปฏิกิริยาเชิงลบจากทางรัฐบาล หรือข้าราชการแต่อย่างใด นี่คือ สัญลักษณ์ที่บ่งชี้ว่า การเคลื่อนไหว วิ่งไล่ลุงและวิ่งเชียร์ลุงครั้งนี้ ยกระดับเสรีภาพเทียบเท่าประชากรของอเมริกันที่แสดงออกต่อผู้นำของเขาได้อย่างเต็มที่

         นอกจานี้ยังมีการนำเอาภาพสัตว์ตระกูลจรเข้มาประทับไว้บริเวณหน้าอกเสื้อ เป็นสัญลักษณ์ในการขับไล่ มองจากมุมมองด้านวัฒนธรรมไทยการแสดงสัญลักษณ์แบบนี้ ถือว่า เป็นการเหยียดหยาม เหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นอย่างร้ายแรง มนุษย์ที่ปรารถนาความเท่าเทียมแท้จริงไม่พึงเหยียบย่ำกันขนาดนี้ ประเด็นนี้ถ้าลุงที่ถูกไล่ นำไปยึดถือคงนอนทุกข์ทรมานนานทีเดียว แต่มองโลกในแง่ดี การใช้ภาพนี้เป็นสัญลักษณ์แทนลุง เป็นการเพิ่มขันติธรรมให้ลุง ถ้าตราบใดไม่มีข่าวว่า ลุงแจ้งความดำเนินคดีกับผู้หลอกสัตว์ป่ามาด่าลุงเหล่านี้ ก็ถือได้ว่า ลุงที่กล่าวถึงคนนั้น มีทั้งขันติและเมตตาบารมีระดับสูงทีเดียว นับเป็นผู้นำในระบอบประชาธิปไตยที่มีคุณธรรม ที่พร้อมจะรดน้ำพรวนดินระบอบประชาธิปไตย ให้เจริญงอกงามและมั่นคง ขันติธรรม คือ ทนได้ และมีความเมตตา ไม่เบียดเบียนใคร และการให้อภัยนี้จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตยให้อยู่คู่ไทยอย่างยั่งยืน

         สรุปว่า กิจกรรมครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย และเป็นความเคลื่อนไหวทางพิธีกรรมที่เสริมคุณธรรมทั้งหลาย ขันติ เมตตา กรุณา สมาธิ อภัย อุเบกขา เป็นต้น ให้ลุงได้มีพลังเดินหน้าสร้างสรรค์ประชาธิปไตยที่เคารพในความเท่าเทียมกันแห่งความเป็นมนุษย์ ยุติการกดขี่ข่มเหง ทางกาย วาจา ใจและการแสดงออกต่างๆ สังคมประชาธิปไตยก็จะก้าวไปสู่สังคมที่ประชาชนทั่วแผ่นดินอยู่กันด้วยความรักและสงบสุขโดยทั่วกัน

วันที่ 14 มกราคม 2563 เวลา 9.07 น.

วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

ดร.พระมหาจรรยา  สุทฺธิญาโณ