Monthly Archives: January 2020

การทำบุญ

การทำบุญ คือ วิธีการฝึกตนเองทางพระพุทธศาสนาอีกแบบหนึ่ง ที่พุทธศาสนิกชน ปฏิบัติกันอยู่โดยทั่วไป ความคิดทำบุญเกิดขึ้นเมื่อไร ความรู้สึกดีๆ มีความสุขก็เกิดติดตามความคิดเหล่านั้นมาทันที การทำบุญให้ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนาแต่ละครั้งเท่ากับเป็นการปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนาอย่างครบถ้วนคือ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำความดีให้ถึงพร้อม และการชำระจิตให้บริสุทธิ์ การทำบุญจึงเป็นการทำที่คุ้มค่า เพราะทำเรื่องเดียว ครั้งเดียว มีผลอื่นๆ ตามมามากมาย

          หลักการทำบุญที่ทำกันโดยทั่วไป 3 ประการคือ การให้ทาน การสมาทานศีล และการเจริญภาวนา

  1. การให้ทาน การทำบุญด้วยการให้ทาน เช่น การทำบุญตักบาตร การบริจาคเงินช่วยเหลือบุคคล องค์กรการกุศล หรือ วัดวาอาราม เป็นกิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนทำกันอยู่เป็นประจำแล้ว แต่การให้ทานอีก 2 ประการก็ควรทำคู่กันไปด้วย การให้ทานอีก 2 ประการนั้นคือ การให้อภัย และการให้ธรรมะ วิธีทำบุญแบบนี้ก็คือ ไม่จองเวรใคร ไม่กล่าวร้าย หรือ ไม่ทำร้ายใคร แม้การให้ธรรมะจะหมายถึง การให้คำแนะนำที่ดีแก่ผู้ที่สมควรรับ แต่การให้ธรรมะที่สำคัญกว่านั้น คือ การมีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะให้คนที่ต้องการดำเนินชีวิตโดยธรรมวิถีได้เห็นเป็นตัวอย่าง เมื่อได้เห็นความเจริญจากตัวอย่างนั้นแล้ว ตั้งใจปฏิบัติตาม นับเป็นบุญอย่างยิ่ง ดั่งคำกล่าวที่ว่า ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัส
  2. การสมาทานศีล คือ การตั้งใจละเว้นจากการทำชั่วที่จะก่อเวรก่อภัยแก่คนอื่น หรือ สัตว์อื่นไม่จบสิ้น การตั้งอยู่ในศีล คือ ไม่ปล่อยใจให้โกรธใครๆ ไม่พยาบาทใคร ไม่คิดปองร้ายใคร ไม่กล่าวคำใส่ร้ายแก่ใคร ไม่ทำร้ายใคร รักษากาย วาจา และใจให้ปกติ เพราะคำว่า ศีล แปลว่า ปกติ เพราะเมื่อกาย วาจา และ ใจ ปกติ จะไม่คิดร้ายใคร ไม่กล่าวร้ายใคร ไม่ทำร้ายใคร กาย วาจา และใจ ของตนก็เป็นสุข สังคมก็ร่มเย็นเป็นปกติสุข เป็นสังคมดีที่ปลอดจาก ฆาตกร โจรผู้ร้าย และปลอดจากคนติดเหล้าติดยา เมื่อคนรักษาศีล ศีลก็รักษาคน
  3. การภาวนา คือ การเพิ่มสิ่งที่มีคุณค่าและการพัฒนาจิตใจให้ปกติ สะอาด สว่าง สงบ ไม่หวั่นไหว บริสุทธิ์ อ่อนโยน ตื่นตัว ว่องไว รักษาใจให้ปกติ เพื่อความพร้อมที่จะทำงานทางกายและจิตทุกชนิดอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อจิตดีการทำ การพูดก็จะดีตามไปด้วย การบำเพ็ญบุญด้วยการเจริญภาวนา เป็นการทำบุญที่ประหยัดทั้งเงินทองและเวลา เป็นการทำบุญที่ทำได้ทุกหนทุกแห่งไม่มีข้อจำกัด คนทุกเพศทุกวัยต้องการมีชีวิตอย่างสงบร่มเย็น พึงบำเพ็ญด้วยการเจริญภาวนาเถิด

ขอให้ทราบไว้อย่างหนึ่งว่า ทุกคนเกิดมาด้วยอานุภาพของบุญ บุคลิกภาพของคนที่เกิดมา รูปร่างหน้าตา สุขภาพกาย สุขภาพจิต ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของแต่ละคนหรือแต่ละครอบครัว ล้วนมีผลมาจากบุญทั้งสิ้น บุญเปรียบเหมือนเสบียงเดินทาง ไม่มีใครทราบได้ว่า เสบียงเดินทางที่มีอยู่ทุกวันนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไร การหมั่นทำบุญ การสะสมบุญตามความสะดวกอย่างถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา ล้วนเป็นการมีชีวิตอย่างไม่ประมาท พระพุทธเจ้าตรัสว่า คำว่า บุญ เป็นชื่อของความสุข เธอทั้งหลายจงอย่ากลัวบุญเลย การสั่งสมบุญนำความสุขมาให้ เมื่อเข้าใจชัดว่า บุญ คืออะไร จะทำบุญอย่างถูกต้องทำอย่างไร  บุญทั้งหลายที่ทำลงไปอย่างถูกต้องย่อมนำความสุขมาให้อย่างแท้จริง

วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

วันที่ 29 มกราคม 2563 เวลา 5.00 น.

ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ

ภาวนา พุทโธ

การภาวนา คือ การทำจิตให้สงบ มั่นคง บริสุทธิ์ ตื่นตัว และมีความพร้อมที่จะทำงานทุกชนิดอย่างมีประสิทธิภาพ     การภาวนามีวิธีทำมากมาย แต่วิธีที่ใช้กันมาก คือ วิธีการระลึกถึงพุทโธ หรือ ระลึกถึงพระพุทธคุณ ซึ่งหมายถึง พระองค์ผู้เข้าถึงสภาวะแห่งความ รู้ ตื่น และเบิกบานก่อน แล้วนำมาสั่งสอนแก่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายให้ได้รู้ตาม และรวมถึงสภาวะแห่งความรู้ ตื่น เบิกบานที่มีอยู่ในแต่ละปัจจุบันขณะ

วิธีการภาวนาจะแบ่งเป็น 2 วิธี

1. การภาวนาโดยการวางใจไว้ที่พุทโธ ตามปกติ ทุกคนก็หายใจเข้าและหายใจออกเป็นประจำ เมื่อถึงเวลาฝึกภาวนา ก็หายใจตามปกติ และนำพุทโธมาแนบกับลมหายใจ โดยการวาง พุทธ ไว้ที่การหายใจเข้า และวาง โธ ไว้ที่การหายใจออก วางไว้อย่างแนบแน่น จัดจังหวะให้พอดี ระลึกอยู่เสมอว่า พุทธ ขณะที่หายใจเข้า และโธ ขณะที่หายใจออก ระลึกถึง พุทโธ ทุกลมหายใจ ทำไปอย่างสบายๆ และผ่อนคลาย     อาตมาได้เขียนกลอนไว้บทหนึ่งว่า พุทธ เข้า โธ ออก พุทธ เข้า โธ ออก สติคอยบอกว่า รู้ ตื่น เบิกบาน ฝึกแล้ว ฝึกอีก ฝึกจนชำนาญ รู้ ตื่น เบิกบาน ทุกลมหายใจ

2. ระลึกถึงพระพุทธคุณทั้ง 9 ประการ โดย ระลึกไปทีละพระคุณ ให้ความสนใจต่อพระคุณเหล่านั้น ไม่ปล่อยใจไปไหน อาจารย์บางท่านสอนให้ผู้ปฏิบัติ มองไปยังพระพุทธรูป แล้วระลึกถึงพระพุทธคุณไปเรื่อยๆ จนจิตใจแนบแน่นอยู่กับพระพุทธคุณนั้น จนรู้สึกอิ่มเอิบเบิกบานซาบซึ้งในพระพุทธคุณนั้นๆ ที่ได้ระลึกจนน้อมพระคุณมาสถิตไว้ในใจ เวลาว่างจากการคิดการงานใดๆ ก็นำใจมาไว้ที่พุทโธ เรียกว่า มีพระพุทธเจ้าคุ้มครองอย่างแท้จริง

          ผู้ปฏิบัติวิธีที่ 1 เคยถามว่า หาก ปฏิบัติไปแล้ว ใจหายไปจาก พุทโธ จะทำอย่างไร

คำตอบก็คือ ระลึกถึงพุทโธใหม่อีกครั้ง การที่รู้ว่า ขณะนั้น ใจหายไปจากพุทโธ นับเป็นปรากฏการณ์ของสติ หรือ มีสติ ซึ่งแปลว่า ความระลึกได้ เกิดขึ้นครั้งหนึ่ง พอระลึกได้คราใดใจก็กลับมาหาพุทโธใหม่ ขณะนั้นเป็นการทำงานของสัมปชัญญะสืบต่อไป หากทำไปๆๆ สัมปชัญญะขาด เดี๋ยวเดียวสติ ความระลึกได้ ก็ปรากฏขึ้นมาใหม่ จะสลับกันไปอย่างนี้ จนใจสงบและแนบแน่นขึ้นตามลำดับ มีข้อแนะนำเพิ่มเติม สำหรับผู้ปฏิบัติวิธีที่ 1 อาจจะเติมตัวเลขเข้าไปด้วยก็ได้ โดยการระลึกว่า พุทธ เข้า โธ ออก นับ 1 พุท เข้า โธ ออก นับ 2 พุทธ เข้า โธ ออก  นับ 3  นับไปเรื่อยๆ การวางจุดที่ระลึกถึง 3 อย่างจะช่วยให้ใจได้มีที่ยึดมากขึ้น ช่วยให้ใจตื่นรู้เพิ่มมากขึ้น เมื่อความตื่นรู้ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งกายและใจจะรู้สึกสบายและผ่อนคลาย ความรู้ ตื่น และเบิกบาน อันเป็นพระพุทธคุณสำคัญก็จะปรากฏขึ้นในความรู้สึก เท่ากับได้เห็นพระพุทธเจ้า ด้วยการสัมผัสทางใจ ดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา นั่นเอง

          การปฏิบัติภาวนาแบบพุทธานุสตินี้ เป็นภาวนาวิธีที่ปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางในหมู่พุทธศาสนิกชน ไม่ว่าจะเป็น ชาวไทย ชาวลาว ชาวเขมร ชาวพม่า และชาวศรีลังกา โดยเฉพาะชาวศรีลังกา การปฏิบัติภาวนาแบบอื่นมีน้อยมากจะเน้นพุทธานุสตินี้เอง วิธีนี้จึงเป็นวิธีปฏิบัติที่เป็นสากลที่ผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา จะนำมาปฏิบัติกันในชีวิตประจำวัน เพราะคำว่า พุทโธ คือ คำสำคัญที่สุดที่ควรระลึกถึงทุกลมหายใจ เมื่อพุทโธปรากฏในใจ ทุกข์ทั้งหลายก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ใจจึงอยู่กับความ รู้ ตื่น และเบิกบาน สภาพใจที่อยู่กับพุทโธ นี้ เรียกว่า พระพุทธจ้า คุ้มครอง เป็นเขตปลอดทุกข์มีแต่ความสุขสงบ ดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า สุขอื่นยิ่งกว่า ความสงบไม่มีนั่นแล

วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

วันที่ 22 มกราคม 2563 เวลา 5.21 น.

ดร.พระมหาจรรยา  สุทฺธิญาโณ

วิ่งไล่ลุง กับ วิ่งเชียร์ลุง

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2563 ประเทศไทย มีรายการวิ่ง 2 รายการที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากรัฐบาล จากเจ้าหน้าที่ราชการ จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล จากประชาชนและเยาวชนที่สนใจการเมืองโดยทั่วไป        ก่อนรายการวิ่งครั้งนี้จะเริ่มขึ้น หลายฝ่ายต่างวิตกกังวลว่า อาจจะเกิดการกระทบกระทั่งระหว่าง กลุ่มที่ไล่กับกลุ่มที่เชียร์ จึงตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ในที่สุดกิจกรรมการวิ่งครั้งนี้ ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี

ในขณะที่จัดกิจกรรมการวิ่งนั้น ประชาชนชาวไทยที่สนใจการเมือง ถูกแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายไล่ลุง ฝ่ายเชียร์ลุง และฝ่ายเป็นกลาง การแบ่งกลุ่มผู้สนใจการเมืองออกเป็น 3 กลุ่มเช่นนี้ เป็นการแบ่งบนพื้นที่ของผู้มีส่วนร่วมและผู้ที่ไม่เข้าร่วม ผู้ที่เข้าร่วมมี 2 กลุ่ม ที่เหลือเป็นกลุ่มผู้ไม่เข้าร่วม ซึ่งกลุ่มนี้อาจจะอยู่ในเคหสถานบ้านของตน ติดตามข่าวจากสื่อหลักและสื่ออิสระตามความสะดวกของตนๆ

         ระยะเวลาที่จัดกิจกรรมก็ไม่นานนัก พอทุกคนวิ่งกันครบตามกำหนดเวลาก็พากันกลับบ้าน ความวิตกกังวลของคนที่เป็นห่วงก็พลอยสงบลงไปด้วย เป็นอันว่าการจัดกิจกรรมการวิ่งคราวนี้ ไม่รบกวนความสงบเรียบร้อยของสังคมหรือบ้านเมืองแต่อย่างใด     แต่รบกวนใจของผู้เป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมืองว่า จะเป็นเหตุนำไปสู่ความไม่สงบ แต่เมื่อทุกอย่างจบลงด้วยดีก็สบายใจด้วยกันทุกฝ่าย

         มองในมุมมองนักรัฐศาสตร์ ก็เห็นว่ากิจกรรมอย่างนี้ เป็นเรื่องธรรมดาในประเทศประชาธิปไตย ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและแสดงความคิดความเห็นอย่างเสรี เพื่อสื่อสารในสิ่งที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังมิได้เสนอในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อสะท้อนปัญหาของประชาชนสู่รัฐบาลโดยตรง       การที่มวลชนเคลื่อนไหวกันมากๆ เช่นนี้ สามารถกระชากความสนใจของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มาสนใจและมาฟังเสียงเรียกร้องว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ ต้องการอะไร  ถ้าความต้องการเหล่านั้น เป็นความต้องการที่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะจัดให้ได้ก็ควรจัดการให้ แต่ถ้าความต้องการนั้นอยู่เหนือวิสัยที่รัฐบาลจะจัดให้ได้ก็ตอบไปว่า ยังไม่พร้อมที่จะจัดให้ได้ สื่อสารกันแบบตรงไปตรงมา เมื่อเข้าใจกันแล้วต่างคนต่างกลับไปทำหน้าที่ของตน

         อาจจะมีคนตั้งคำถามว่า เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งจัดกิจกรรมไล่ลุง ทำไมอีกฝ่ายหนึ่งต้องจัดกิจกรรมเชียร์ลุงด้วย      คำตอบก็คือ ในระบบประชาธิปไตยที่มีการเมืองหลายพรรค  ประชาชนในประเทศแต่ละคนมีเสรีภาพอย่างสูงที่จะแสดงออกถึงความชอบพรรคการเมืองไหน และไม่ชอบพรรคการเมืองไหนได้อย่างเปิดเผย      ในกรณีการวิ่งเชียร์ลุงและวิ่งไล่ลุงนี้ก็ชัดเจนยิ่งนัก แฟนคลับของลุงเคยแสดงออกมาแล้วคราวเลือกตั้งทั่วไปโดยการลงคะแนนให้พรรคการเมืองที่เสนอลุงเป็นนายกรัฐมนตรี      ถ้าใช้คะแนนเลือกตั้ง เป็นดัชนี ชี้ความนิยม มองแบบอ้อมๆ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ประชาชนทั่วประเทศนิยมลุงไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน ที่เหลือก็กระจายไปนิยมชมชอบพรรคต่างๆ ตามความคิดเสรีในระบอบประชาธิปไตยนั่นแหละ     ส่วนฝ่ายที่ไม่ชอบลุง ก็มีอยู่จริงดูจากคะแนนเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคนเช่นกัน เมื่อมาร่วมกิจกรรมก็ต้องร่วมในกลุ่มไล่ลุง เป็นเรื่องธรรมดาอีกนั่นแหละ

         กลุ่มที่จัดกิจกรรมไล่ลุงก็เสนอข้อมูลข่าวสารผ่านการปราศรัยและผ่านสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง  เพื่อแสดงออกว่า ไม่รักลุงแล้ว เห็นได้จากสาระที่แสดงออกและภาษาที่ใช้เข้าใจได้ว่าไม่มีความรักในใจเหลือให้ลุงและทีมงานบริหารของลุงอีกแล้ว      ส่วนสาระและภาษาที่ใช้ว่าอย่างไรบ้างก็คงจะผ่านสายตากันบ้างแล้ว หากใครต้องการทราบเนื้อหาว่าทำไมต้องมาวิ่งไล่กันอย่างนี้ ก็ลองไปหาตามสื่อต่างๆ คงหาไม่ยาก ส่วนเนื้อหาสาระและภาษาของฝ่ายเชียร์ลุงก็แสดงออกได้ไม่น้อยหน้าฝ่ายไล่ลุง ใครต้องการทราบว่า เนื้อหาและเหตุผลในการปกป้องคุ้มครองลุงมีว่าอย่างไร ก็ไปหาตามสื่อแฟนคลับลุงได้ไม่ยากเช่นกัน

         สาเหตุที่ไม่ควรจะนำคำพูดหรือข้อความของนักกิจกรรมที่ทำเสร็จไปแล้วมาลงให้อ่านกัน เพราะเนื่องจากมีคำที่พระสงฆ์ไม่ควรอ้างถึงมากมาย คำเหล่านั้นเข้าข่าย วจีทุจริต อันประกอบด้วย คำเท็จ คำหยาบ ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ คำประเภทไหนมีมากหรือน้อย ก็นำหลักนี้ไปจับกันเอาเอง จะได้ประจักษ์แจ้งด้วยตัวเอง ดังบทสวดอิติปิโสฯที่ว่า อันวิญญูชนพึงรู้ได้ด้วยตนเอง

         หลังจากกิจกรรมนี้ผ่านไปด้วยความสงบดีแล้ว มีการแจกแบบสอบถามความคิดเห็นว่า รู้สึกอย่างไรต่อกิจกรรมครั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์แสดงความคิดเห็นว่า กังวล กลัวว่าจะเกิดเหตุรุนแรงตามมา ส่วนอีก 40 เปอร์เซ็นต์ก็มีความเห็นแตกต่างกันออกไป ต้องยอมรับความเป็นจริงเหมือนกันว่า การที่ประชาชนคนธรรมดาไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง เห็นคนมารวมตัวกันเป็นจำนวนหมื่น และแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างเกรี้ยวกราด ย่อมต้องกังวลถึงเหตุร้ายเป็นธรรมดา และคงไม่ปรารถนาที่จะเห็นกิจกรรมแบบนี้บ่อยๆ เพราะหากประมาท อาจจะเผชิญหน้าและปะทะกันด้วยความรุนแรงได้

         หากมองโลกในแง่ดี บนพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย แม้กิจกรรมที่ทั้ง 2 ฝ่ายทำ จะค่อนข้างสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง แต่ถ้ามองกิจกรรมเหล่านี้ผ่านระบอบประชาธิปไตยที่เน้นประชาชนมีส่วนร่วม กิจกรรมนี้กลายเป็นสีสันที่ส่งเสริมประชาธิปไตยให้มีความเจริญเติบโตและมั่นคงในทุกมิติ เป็นการประกาศให้นานาประเทศทั่วโลกทราบทั่วกันว่า บัดนี้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มขั้นแล้ว เพราะประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออก โดยฝ่ายรัฐบาลอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยเพื่อป้องกันเหตุร้ายใดๆ ที่จะเกิดขึ้น หรือบางมิติการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้ ระดับเสรีภาพของประชาชนถูกยกขึ้น เทียบเท่าประเทศสหรัฐอเมริกาไปแล้ว จะเห็นได้จากการที่มีคนนำข้อความที่เขียนบนเสื้อ ด่าประธานาธิบดี โดนัลทรัมป์ ด้วยคำหยาบคาย ไปเขียนบนเสื้อของนักวิ่งไล่ลุงด้วย ใครอ่านข้อความนี้แล้วรู้สึกว่า หยาบคายมาก คาดว่ารัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงก็คงอ่านแล้วเหมือนกัน แต่ไม่มีปฏิกิริยาเชิงลบจากทางรัฐบาล หรือข้าราชการแต่อย่างใด นี่คือ สัญลักษณ์ที่บ่งชี้ว่า การเคลื่อนไหว วิ่งไล่ลุงและวิ่งเชียร์ลุงครั้งนี้ ยกระดับเสรีภาพเทียบเท่าประชากรของอเมริกันที่แสดงออกต่อผู้นำของเขาได้อย่างเต็มที่

         นอกจานี้ยังมีการนำเอาภาพสัตว์ตระกูลจรเข้มาประทับไว้บริเวณหน้าอกเสื้อ เป็นสัญลักษณ์ในการขับไล่ มองจากมุมมองด้านวัฒนธรรมไทยการแสดงสัญลักษณ์แบบนี้ ถือว่า เป็นการเหยียดหยาม เหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นอย่างร้ายแรง มนุษย์ที่ปรารถนาความเท่าเทียมแท้จริงไม่พึงเหยียบย่ำกันขนาดนี้ ประเด็นนี้ถ้าลุงที่ถูกไล่ นำไปยึดถือคงนอนทุกข์ทรมานนานทีเดียว แต่มองโลกในแง่ดี การใช้ภาพนี้เป็นสัญลักษณ์แทนลุง เป็นการเพิ่มขันติธรรมให้ลุง ถ้าตราบใดไม่มีข่าวว่า ลุงแจ้งความดำเนินคดีกับผู้หลอกสัตว์ป่ามาด่าลุงเหล่านี้ ก็ถือได้ว่า ลุงที่กล่าวถึงคนนั้น มีทั้งขันติและเมตตาบารมีระดับสูงทีเดียว นับเป็นผู้นำในระบอบประชาธิปไตยที่มีคุณธรรม ที่พร้อมจะรดน้ำพรวนดินระบอบประชาธิปไตย ให้เจริญงอกงามและมั่นคง ขันติธรรม คือ ทนได้ และมีความเมตตา ไม่เบียดเบียนใคร และการให้อภัยนี้จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตยให้อยู่คู่ไทยอย่างยั่งยืน

         สรุปว่า กิจกรรมครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย และเป็นความเคลื่อนไหวทางพิธีกรรมที่เสริมคุณธรรมทั้งหลาย ขันติ เมตตา กรุณา สมาธิ อภัย อุเบกขา เป็นต้น ให้ลุงได้มีพลังเดินหน้าสร้างสรรค์ประชาธิปไตยที่เคารพในความเท่าเทียมกันแห่งความเป็นมนุษย์ ยุติการกดขี่ข่มเหง ทางกาย วาจา ใจและการแสดงออกต่างๆ สังคมประชาธิปไตยก็จะก้าวไปสู่สังคมที่ประชาชนทั่วแผ่นดินอยู่กันด้วยความรักและสงบสุขโดยทั่วกัน

วันที่ 14 มกราคม 2563 เวลา 9.07 น.

วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

ดร.พระมหาจรรยา  สุทฺธิญาโณ

วันที่ 16 กันยายน 2561 เก็บตกพระไตรปิฎกศึกษา เรื่อง ปฏิจจสมุปบาทในชีวิตจริง

บันทึกไว้เมื่อวัย 61 ปี

ชีวิตมนุษย์อยู่ในอำนาจของความเปลี่ยนแปลงตามกระแสแห่งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วสลายไป    เหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาแต่ละช่วงแห่งวัยล้วนไม่เหมือนกันเปรียบเหมือนน้ำที่ไหลไป ก็ไหลไปเรื่อย ไม่ไหลกลับ      การปรากฏขึ้นของชีวิตเพราะอำนาจพระธรรม การดำรงอยู่แต่ละขณะก็เพราะอำนาจพระธรรม การดับสลายไป ก็เพราะอำนาจพระธรรม  พระธรรมนั้น คือ พระไตรลักษณ์ พระอนิจจัง พระทุกขัง และพระอนัตตา สรุปความหมายง่ายๆ ว่า ความเปลี่ยนแปลง

ชีวิตของอาตมาก็เป็นผลผลิตจากกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ไหลไม่หยุดนี้เช่นกัน     ชีวิตประกอบด้วยกายกับจิต ทั้งกายและจิตก็ไหลไปไม่เคยหยุด จะช้าบ้าง จะเร็วบ้าง รู้สึกตัวบ้างไม่รู้สึกตัวบ้าง ปกปิดบ้าง เปิดเผยบ้าง ต่างไหลไปไม่เคยหยุด   หากจะมองกระบวนการชีวิตผ่านพุทธทรรศนะจะพบว่า พระไตรลักษณ์เป็นผู้ขับเคลื่อนให้ชีวิตมีวิวัฒนาการและเมื่อวิวัฒนาการไปแต่ละขั้นก็จะมีปรากฏการณ์ให้เห็น ทั้งความเกิด ความแก่ และความตาย ปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆ ตามเหตุตามปัจจัยที่ประชุมกันเข้าอย่างเหมาะสมในแต่ละขั้นตอน

อาตมาเกิดเมื่อวันที่  2  มกราคม  2502    เมื่อพระธรรมนำพามาสู่กาลเวลา วันที่ 2 มกราคม 2563 อาตมามีอายุ 61 ปี วันนั้นตื่นนอนตั้งแต่เวลา 4.00 น. เริ่มฟังธรรมทันทีจนถึงเวลา 4.45 น. เตรียมตัวทำวัตรเช้าและเจริญสมาธิภาวนาตามปกติ คือ ตั้งแต่เวลา 5.00 น.- 6.00 น. จากนั้นก็จัดรายการธรรมทานจากวัดพุทธปัญญาตามปกติ เมื่อจัดรายการจบแล้ว จึงเริ่มฟังธรรมบรรยายชุด ปฏิจจสมุปบาท โดย

หลวงพ่อพุทธทาส     เป็นความตั้งใจที่จะเลือกธรรมะชุดนี้เป็นสื่อธรรมสมโภช เพราะเป็นธรรมบรรยายที่กล่าวถึงกระบวนการเกิดขึ้นและดับไปแห่งทุกข์ อันเป็นธรรมะที่มีความเหมาะสมกับการดำรงชีวิตที่เหลืออยู่อย่างยิ่ง  เป็นธรรมะเพื่อชีวิตที่กล่าวถึงเสรีภาพจากเครื่องพันธนาการทั้งปวงอย่างแท้จริง

วันคล้ายวันเกิดปีนี้ อาตมายังคงงดอาหารและดื่มเพียงนมจืด เหมือนที่เคยปฏิบัติมาทุกปี ตามแนวทางการจัดวันล้ออายุของหลวงพ่อพุทธทาสบนหลัก 2 ประการคือ

1.เพื่อระลึกถึงวันที่คุณแม่เหน็ดเหนื่อย หิว กระหาย ทุกข์ทรมานจากการคลอดบุตร    การที่ได้อดอาหารเพียงมื้อเดียว แม้จะเป็นเพียงเศษเสี้ยว หากเทียบกับความทุกข์ทรมานในวันที่แม่คลอดก็ตาม แต่ความตั้งใจดีเช่นนี้ทำให้วันนั้นคิดถึงแม่ได้ทั้งวัน      เมื่อคิดถึงแม่ผู้ให้ชีวิตได้แล้ว ก็ทำให้ระลึกถึงพ่อและครูอาจารย์ตลอดถึงพุทธศาสนิกชนทั้งหลายผู้มีความเมตตากรุณาเลี้ยงดูมาจนถึงทุกวันนี้ ความรู้สึกซาบซึ้งในพระคุณและปรารถนาจะทำดีตอบแทนคุณต่อท่านผู้มีพระคุณทุกท่านก็เต็มเปี่ยมล้นหัวใจ

2.การงดอาหาร 1 วันในวันคล้ายวันเกิด เป็นการประหยัดทรัพยากรต่างๆ หลายๆ อย่างที่ใช้ในการปรุงอาหารลงจำนวนหนึ่ง มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของกระบวนการปรุงอาหารนั้น      หากจินตนาการเชิง สมมติว่า ถ้าประชากรจำนวนมากขึ้น เป็นจำนวน 100, 1,000, 10,000, หรือ 10,000,000 คนปฏิบัติการฉลองวันเกิดในแนวทางนี้ ก็จะเป็นการประหยัดอาหารและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการปรุงอาหารจำนวนมหาศาลในแต่ละปี

การดื่มนมจืดพอประทังความหิว เป็นสัญลักษณ์ว่า วันที่เราเกิดมาวันแรกมิได้รับประทานสิ่งใดนอกจากดื่มนมจากแม่เท่านั้น     เมื่อถึงวันคล้ายวันเกิด ก็ไม่ควรลืมอาหารมื้อแรกที่ร่างกายได้รับก่อนสิ่งอื่นใด

การฟังธรรม เรื่องปฏิจจสมุปบาท ดำเนินไปด้วยความเข้าใจ แจ่มแจ้ง เพราะหลวงพ่อพุทธทาส ทราบว่า เรื่องนี้ยากมาก ท่านจึงอธิบายอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยอธิบายศัพท์ทุกศัพท์อย่างละเอียด การอธิบายศัพท์ต่างๆ ก็มีตัวอย่างกำกับหลายๆ ตัวอย่าง เพื่อชี้ให้เห็นว่า เรื่องของปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องกระบวนการ เกิดและดับทุกข์ที่เกิดเร็วและดับเร็ว เช่น ท่านอธิบายว่า การตักข้าวเข้าปากแล้วเคี้ยวด้วยความอร่อยเพียงคำเดียว กระบวนการเกิดดับแห่งปฏิจจสมุปบาทเกิดดับไปหลายรอบ ความพอใจ และ ความไม่พอใจ ความรู้สึกสุข ทุกข์ ล้วนมาจากกระบวนการเกิดดับของปฏิจจสมุปบาททั้งสิ้น ท่านชี้ประเด็นสำคัญแห่งปฏิจจสมุปบาทว่า เป็นรายละเอียดของอริยสัจ 4 ที่ย่อเหลือเพียง 2 อย่างคือ ความทุกข์กับความไม่ทุกข์ นั่นเอง

ธรรมะที่จะคอยเฝ้าระวังมิให้กระบวนสร้างทุกข์เกิดได้  ต้องใช้ธรรมะตระกูลสติ เช่น อานาปานสติ สติปัฏฐาน สติสัมโพชฌงค์ ล้วนช่วยเฝ้าระวังมิให้กระบวนการสร้างทุกข์ถือกำเนิดเกิดได้  ใจก็จะคงความปกติเรื่อยไป  เมื่อใจปกติ เหตุแห่งทุกข์ไม่เกิด  ความทุกข์ก็มิเกิด  คำคมอีกคำหนึ่งที่จับได้ ท่านกล่าวว่า การเกิดที่ต้องเป็นทุกข์ร่ำไป คือ การเกิดขึ้นของความรู้สึกว่า ตัวกูของกู เมื่อมี กู ก็มีทุกข์ เมื่อไม่เกิดความรู้สึกสำคัญมั่นหมายว่า เป็นตัวกู ของกู ฐานที่จะรองรับ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ไม่มี ความทุกข์ก็มีไม่ได้ เพราะความทุกข์ หรือ ความไม่ทุกข์ เกิดจากเหตุปัจจัย เมื่อเหตุปัจจัยแห่งทุกข์มี ความทุกข์ก็มี เมื่อเหตุปัจจัยแห่งทุกข์ไม่มี ความทุกข์ก็ไม่มี สอดคล้องตามหลักของอิทัปปัจจยตาว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เมื่อรู้ความจริงเช่นนี้ สร้างเหตุปัจจัยให้ถูกต้องแล้วผลที่สอดคล้องกับเหตุปัจจัยจะออกมาอย่างไม่คลาดเคลื่อน ตามหลักของพระพุทธศาสนา ชีวิตจะทุกข์ หรือไม่ทุกข์ มิได้ขึ้นอยู่กับสิ่งใดมาดลบันดาล แต่ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย

นำประเด็นธรรมสำคัญมาแบ่งปันท่านผู้ฟังสั้นๆ แค่นี้ก่อน       ท่านที่สนใจปรารถนาจะฟังเสียงบรรยายตรงจากหลวงพ่อพุทธทาส กรุณาไปที่ยูทูปแล้ว เขียนคำว่า ปฏิจจสมุปบาท พุทธทาส ภิกขุ ก็จะได้รับฟังธรรมะชั้นเยี่ยมชนิดดับทุกข์ได้ตามความปรารถนา

       ภาคบ่ายเมื่อดื่มนมเสร็จแล้ว ก็มาเดินจงกรมและสมาธิภาวนาร่วมกับพุทธศาสนิกชนที่มาร่วมภาวนาประจำวันพฤหัสบดี     เมื่อเสร็จภาวนาแล้วจึงฟังธรรมต่อจนจบ จัดรายการธรรมะหลายมิติ ได้สนทนากับท่านผู้ฟังท่านผู้ชมทางบ้านจากทั่วโลก เป็นการจบรายการธรรมสมโภชแบบรู้ ตื่น และเบิกบานร่วมกันท่ามกลางญาติธรรมไร้พรหมแดนจริงๆ ขอบคุณญาติธรรม ที่สนิทสนมกันทางสื่อธรรมมา ณ โอกาสนี้

เวลาหนึ่งทุ่ม ได้ทำวัตรสวดมนต์ร่วมกับคณะสงฆ์วัดพุทธปัญญา ได้อาราธนาให้พระสงฆ์ช่วยกันสาธยายธัมมจักกัปปวัตนสูตร อันเป็นการฉลองวันคล้ายวันเกิด แบบโบราณที่ผู้ฉลองวันคล้ายวันเกิดจะต้องได้ฟังธัมมจักกัปปวัตนสูตรจากการสาธยายของพระสงฆ์

       วันคล้ายวันเกิดผ่านไปแล้ว สิ่งได้เพิ่มขึ้นมา คือ อายุเพิ่มขึ้น ผ่านพ้นความตายมาได้ 1 ปี ขณะเดียวกันเดินใกล้ความตายเข้าไปอีกกี่ปีก็ยังมิรู้ได้ เพราะเรารู้ได้แต่วันเกิดส่วนวันตายหารู้ได้ไม่ รู้เพียงแต่ว่า ต้องตายแน่ๆไม่วันใดก็วันหนึ่ง การดำรงชีวิตด้วยสติ หรือ ไม่ประมาทดังพระพุทธเจ้าสอน คือ การดำรงชีวิตที่พร้อมจะอยู่อย่างสงบ และไปอย่างสงบ นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง ความสุขอื่น ยิ่งกว่า ความสงบไม่มี      เมื่อเกิดมาได้รับความสงบก็ได้พบสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับแล้ว หากจะต้องจากโลกนี้ไปในเร็ววันตามเหตุปัจจัยก็พร้อมจะไปเสมอ หากพอยังอัตตภาพอยู่ต่อไปต้องตั้งใจสะสมความสงบให้มากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

วันที่ 7 มกราคม 2563 เวลา 15.38 น.

วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย

ดร.พระมหาจรรยา  สุทฺธิญาโณ

งานปีใหม่ 1 มกราคม 2563

ทำวัตรเช้า สวดมนต์แปล
ทำบุญตักบาตร
ร่วมกันร้องเพลง พรปีใหม่ ซึ่งนำโดยคุณสุพรรณิกา ฉายาลักษณ์
คืนกำไรสู่พุทฑศาสนิกชน
ส้มโอ รางวัลใหญ่ที่ทุกคนปรารถนา
หนูผิดหวัง ไม่ได้ส้มโอไปฝากคุณแม่
เข้าแถวเพื่อที่จับฉลากเอาส้มโอ
ผู้โชคดีได้ส้มโอ
สามีตุณหมอมิรืนได้ส้มโอไปให้คุณหมอ
มีความสุขที่ได้จับฉลาก
ผู้โชคดัอีกท่านหนึ่งที่ได้รางวัลใหญ่ไป
คุณแม่มือทอง จับฉลากครั้งเดียวได้รางวัลใหญ่ไปเลย
ขอลุ้นที่จะได้ส้มโอกลับบ้าน
นึกสนุกอยากจะขอลุ้นส้มโอสักลูก
มาจับ 3 รอบแล้ว ยังไม่ได้ส้มโอเลบ
เสร็จจากงานจิตอาสาล้างจาน รีบมาจับฉลาก เผื่อได้ส้มโอกลับบ้านบ้าง

สวดมนต์ข้ามปี ทำความดีตลอดไป

เมื่อวันเดือนปีเก่ากำลังจะผ่านไป วันเดือนปีใหม่กำลังจะก้าวเข้ามา เป็นที่น่าปลื้มปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพุทธศาสนิกชนที่อาศัยอยู่ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศพากันจัดรายการพิเศษสวดมนต์ข้ามปีกันอย่างกว้างขวาง หากประมวลความเคลื่อนไหวของการสวดมนต์ข้ามปีในปีนี้จากการถ่ายทอดสดจากอุปกรณ์การถ่ายทอดสดทุกประเภท ก็จะเห็นได้ชัดว่า พุทธศาสนิกชนทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัดล้วนจัดงานสวดมนต์ข้ามปีกันทั่วทุกท้องที่ของประเทศไทย ยิ่งติดตามก็ยิ่งปลื้มใจว่า พุทธศาสนิกชนทุกเพศทุกวัยยังสนใจและร่วมกันจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนากันอย่างพร้อมเพรียงด้วยความสมัครสมานสามัคคีเป็นอย่างดียิ่ง

            คืนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จึงเป็นคืนที่เสียงสวดมนต์เพื่อความสงบดังกระหึ่มกระจายความสงบไปอย่างไร้พรหมแดน ความรัก ความปรารถนา ความสุขสงบเย็น ในโอกาสเริ่มต้นปีใหม่ถูกส่งไปทางเสียงสวดอันทรงพลัง ความปรารถนาดีที่แรงกล้าว่า  ใครที่มีความทุกข์ จงพ้นจากความทุกข์  ใครที่มีความสุขแล้วขอให้มีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป

            นอกจากการสวดมนต์ข้ามปี จะเป็นการสร้างสันติภาพและความสุขสงบทั้งในระดับบุคคลและสังคมแล้ว การสวดมนต์ข้ามปียังมีประโยชน์ที่พอจะประมวลได้ดังต่อไปนี้

            1. การสวดมนต์ข้ามปี เป็นความสามัคคีของพุทธศาสนิกชนในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับครอบครัว หมู่บ้าน อำเภอและจังหวัด ที่เห็นได้ชัดผ่านการปฏิบัติร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม

            2. การสวดมนต์ข้ามปี เป็นการทำความดี ทางกาย วาจา และใจ ยิ่งใช้เวลานานเท่าไร การสร้างความดีให้ถึงพร้อมทางกาย วาจา และใจ ก็มีมากขึ้นไปเท่านั้น จากความดีของแต่ละคน ขยายไปสู่ความดีของครอบครัว สังคมและประเทศชาติ คืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เป็นคืนแห่งมหากุศล  เป็นคืนที่พุทธศาสนิกชนทำความดีมากที่สุด

            3. การสวดมนต์ข้ามปี เป็นการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของพุทธศาสนิกชนตามหลักโอวาทปาฏิโมกข์ที่ว่า การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำความดีให้ถึงพร้อม การชำระจิตให้บริสุทธิ์ ขณะที่พุทธศาสนิกชนกำลังนั่งสวดมนต์อยู่นั้น เป็นขณะที่ โอวาทปาฏิโมกข์ทั้ง 3 ประการได้รับการปฏิบัติตลอดเวลา

            4. การสวดมนต์ข้ามปี เป็นการทำบุญตามพุทธวิถีแห่งบุญกิริยาวัตถุทั้ง 3 ประการ คือ การให้ทาน การสมาทานศีล และการเจริญภาวนา การร่วมกันบริจาคสร้างสถานที่สวดมนต์เป็นการให้อามิสทาน ขณะที่นั่งสวดมนต์ เป็นเวลาที่ใจเปี่ยมด้วยอภัยทาน การสวดมนต์ข้ามปีอย่างนี้ได้รับการรับรู้ไปถึงไหน ผู้ที่ได้รับทราบล้วนเปล่งเสียงแซ่ซ้องสาธุการอนุโมทนาโดยทั่วกันก็จัดเป็นธรรมทาน ขณะที่สวดมนต์ กาย วาจา และใจ ปกติ นับเป็นศีล การสวดมนต์ด้วยสติสัมปชัญญะ รู้สึกตัวทั่วพร้อม วางจิตไว้กับการสวดมนต์ไม่ซัดส่ายไปไหนก็จัดเป็นการภาวนา

            5. การสวดมนต์ข้ามคืน เป็นการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา การที่พุทธศาสนิกชน มีความคิดตรงกันที่จะทำกิจกรรมเพื่อการส่งเสริมการปฏิบัติธรรมร่วมกันจำนวนมากขนาดนี้ นับเป็นการร่วมมือ ร่วมแรงและร่วมใจของพุทธบริษัทที่จะร่วมกันจรรโลงสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง คนที่มาทำกิจกรรมนี้มีทุกเพศทุกวัย การถ่ายทอดภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์สู่คนรุ่นต่อไปก็ดำเนินไปด้วยความเมตตากรุณาอย่างอบอุ่นบนพื้นฐานของความสุขร่วมกัน เป็นการยืนยันให้คนรุ่นต่อไปที่เข้ามารับมรดกธรรมจากพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ได้มั่นใจว่า ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข

            คุยกันถึงความดีของการสวดมนต์ข้ามคืนในวันส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับพุทธศาสนิกชนทุกท่านได้ทำกิจกรรมอันยิ่งใหญ่นี้ด้วยความภาคภูมิใจ ก่อนจะจบบทความขอบันทึกไว้ว่า ในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 พุทธศาสนิกชนชาววัดพุทธปัญญา ได้นัดหมายกันว่า จะเริ่มทำวัตรสวดมนต์เย็นและสวดพระพุทธคุณ 108 จบและฟังการบรรยายธรรมเรื่องพระพุทธคุณ เพื่อจะได้ทราบความหมายพระพุทธคุณที่สวดเป็นภาษาบาลีและมีความซาบซึ้งในพระพุทธคุณจนนำพระพุทธคุณมาประทับในใจ อันนับเป็นการเข้าถึงพระพุทธเจ้าโดยธรรมวิถีดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” นั่นแล

            ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2563 ขออวยพรให้ท่านสาธุชนทั้งหลาย เจริญด้วยพร 4 ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปรารถนาสิ่งใด เป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยธรรม ขอสิ่งนั้นจงพลันสำเร็จสมดั่งเจตนาอันดีงามนั้นเทอญ

วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เวลา 10.28 น.

วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย

ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ