แคนาดาต่อ

By | 05/31/2015

ปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศแคนาดาต่อ

วันเสาร์ที่ 26 เมษายน 2558 เวลา 5.00 น.ตรง อาตมาพร้อมด้วยพระสงฆ์วัดวัดพุทธปัญญานันทาราม ออกเดินทางจากนครแวนคูเวอร์ไปลงเรือเฟอรี่เพื่อเดินทางต่อไปยังเกาะแวนคูเวอร์เมืองนาไนโม่ ตามที่คุณหนูแดงและสามีชาวแคนาดาได้นิมนต์ไว้หลายปีแล้ว

การเดินทางครั้งนี้ คุณรูดี้ ทำหน้าที่เป็นอุบาสกคอยถวายความสะดวกในการเดินทางทุกประการโดยเฉพาะเรื่องยานพาหนะ คุณรูดี้ได้นำรถของตนเองลงเรือเฟอรี่ไปด้วยเพราะเรือเฟอรี่ลำใหญ่บรรจุรถยนต์ได้หลายร้อยคัน

เมื่อขึ้นเรือเสร็จแล้วคุณรูดี้ได้นิมนต์ไปนั่งในห้องอาหารประจำเรือซึ่งมีผู้โดยสารไปใช้บริการไม่มากนัก คุณรูดี้สั่งอาหารเช้าแบบแคนาดาตามตำราดั้งเดิม ซึ่งประกอบไปด้วยไข่คน หมูเบเคิ้นขนมปังและสตรอแบรี่อีกหนึ่งจานเล็กๆ เป็นผลไม้ที่ได้ฉันประจำอาหารเช้ามื้อนี้

20150531-1 (1)วกเราเดินทางจากท่าเรือฝั่งแวนคูเวอร์ไปถึงเกาะแวนคูเวอร์ เมืองนาไนโม่ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที ก่อนจะขึ้นจากท่าเรือทุกคนก็ลงไปนั่งในรถคุณรูดี้ ณ ที่จอดรถชั้นล่างของเรือ แล้วคุณรูดี้ก็ขับรถขึ้นจากท่าเรืองตรงไปยังบ้านคุณหนูแดงซึ่งใช้เวลาเดินทางเพียงประมาณ 5 นาที

คุณหนูแดงและสามีชาวแคนาดาชื่อคุณเอจ เตรียมการต้อนรับทั้งอาหารและเสนาสนะอย่างครบถ้วน เนื่องจากฉันอาหารเช้ามาจากในเรือแล้ว เมื่อคุณหนูแดงนิมนต์ฉันอาหารเช้าที่เตรียมไว้ ก็ฉันเพียงกาแฟรูปละหนึ่งแก้วและขนมเค้กกล้วยหอมที่คุณเอจทำเองไว้รอท่ารูปละหนึ่งชิ้น

เมื่อฉันเสร็จแล้วคุณหนูแดงได้นิมนต์ไปแสดงธรรมแก่ชาวแคนาดาและชาวเวียตนามที่วัดเวียตนามซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านคุณหนูแดงมากนัก

เมื่อเดินทางไปถึงวัดเวียตนามได้รับการต้อนรับจากฝ่ายต้อนรับที่เป็นสตรีชาวแคนาดาด้วยความสุภาพอ่อนโยน โดยนิมนต์ไปยังห้องชั้นบนที่ใช้เป็นห้องสวดมนต์และ20150531-1 (2)บำเพ็ญภาวนา

เมื่อไปถึงห้องนั้นพบภาพน่าประทับใจของกลุ่มชาวพุทธเวียตนามและแคนาดาที่นั่งสมาธิรออยู่ด้วยความตั้งใจ

สุภาพสตรีที่นำพระทั้งสามรูปขึ้นไปยังห้องสวดมนต์นั้นได้ บอกกับที่ประชุมว่า ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า สหรัฐอเมริกา ได้เดินทางมาเยี่ยมเยือนและแสดงธรรมแก่พวกเรา ดิฉันไม่ทราบประวัติของท่านมากนักหรอก แต่จะขอให้ท่านเล่าประวัติการบวชการปฏิบัติภาวนาของท่านให้พวกเราได้ฟัง ขอนิมนต์ท่านได้ให้ความรู้จากประสบการณ์ตรงของท่านแก่พวกเราทั้งหลาย ณ บัดนี้

ทุกคนในห้องภาวนาหลับตาพริ้ม ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ คงมีแต่รอยยิ้มเพียงน้อยนิดที่ยิ้มออกมาเป็นการต้อนรับ ดูแล้วน่าประทับใจในความสงบมากทีเดียว

อาตมาได้เล่าให้ฟังถึงชีวิตที่เริ่มต้นภาวนาด้วยการพบกับพระธุดงค์สองรูป ขณะที่ยังเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่สอง พระธุดงค์ทั้งสองรูปเดินผ่านมาบิณฑบาตที่บ้านสวนหรือจะเรียกว่ากระท่อมในสวนมากกว่า โยมแม่ยังทำอาหารไม่เสร็จจึงนำข้าวที่สุกแล้วมาตักบาตรรูปละสามทัพพี เมื่อถามว่า พระท่านพักที่ไหน พระท่านบอกว่า พักอยู่ที่ถ้ำเขาแงน ตำบลวังตะกอ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

พระธุดงค์ตอบแล้วก็เดินทางกลับ เมื่อโยมแม่ทำกับข้าวเสร็จแล้วใส่กับข้าวร้อนๆลงในปิ่นโต บอกให้อาตมาวิ่งตามพระธุดงค์ไปยังจุดที่ท่านพักเมื่อไปถึงท่านยังไม่ฉันอาหาร อาตมานำอาหารที่ใส่ปิ่นโตเข้าไปประเคนแล้วกราบท่านสามครั้งด้วยจิตใจที่ปีตินักเพราะไม่มีใครในที่นั้นที่นำอาหารไปถวายท่านเลย

ท่านอาจจะเอ็นดูอาตมามาก จึงอุ้มอาตมาขึ้นนั่งบนหินที่ราบเรียบก้อนหนึ่งสอนให้นั่งขัดสมาธิแล้วท่านบอกให้อาตมาหลับตา จากนั้นท่านก็บอกให้อาตมาบริกรรมคำว่า สัมมา อรหัง สัมมา อรหัง ท่านนั่งข้างหน้าเป่าลมให้อาตมารู้สึกตั้งแต่ศรีษะลงมาประมาณบริเวณท้อง เป่าแล้วเป่าอีกเบาๆ อย่างอ่อนโยนอีกหลายครั้ง อาตมายังคงบริกรรม สัมมา อรหังไปเรื่อยๆ รู้สึกว่าลมที่เป่าบวกกันเข้ากับบทบริกรรม สัมมา อรหัง ชวนให้มีความรู้สึกชุ่มชื่นเยือกเย็นยิ่งนัก นับเป็นการสัมผัสความสงบเย็นทางจิตใจครั้งสำคัญครั้งหนึ่งที่เกิดมาเป็นมนุษย์ นั่งไปนานด้วยความเพลิดเพลินไม่อยากจะหยุดจนท่านบอกว่า พอก่อนนะลูกนะ ทำได้ดีมาก อย่าลืมไปทำบ่อยๆ นับได้ว่าเมล็ดพันธุ์แห่งการภาวนาของอาตมาได้รับการปลูกฝังลงในจิตใจตั้งแต่นั้นมา เมื่อมีเวลาก็จะนั่งตามลมหายใจไปด้วยบทบริกรรมว่า สัมมา อรหัง ตามประสาที่ไม่มีครูภาวนาที่แน่นอน แต่สำคัญต้องทำเรื่อยไปเมื่อมีเวลาว่าง อย่าหายใจทิ้งเสียเปล่าๆ อยู่กับภาวนาด้วยบริกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งดีกว่า

แม้เมื่อโตขึ้นย่างเข้าวัยผู้สูงอายุแล้ว อาตมามีบริกรรมมากมายที่ทดลองแล้วดีทั้งนั้น แม้ไม่ถึงกับบรรลุธรรมขั้นใดขั้นหนึ่งแต่ยอมรับว่าบริกรรมภาวนาคือ พาหนะอันเลิศที่ทำให้เกิดสติปัญญาและความสงบได้เป็นอย่างดี

คราวหนึ่งแต่งกลอนที่เชื่อมระหว่างองค์แห่งการบริกรรมภาวนาสัมมา อรหัง และพุทโธ ไว้ว่า

พุทเข้า โธออก พุทเข้าโธออก

สติคอยบอกว่า รู้ตื่น เบิกบาน

ฝึกแล้วฝึกอีก ฝึกจนชำนาญ

รู้ตื่น เบิกบาน ทุกลมหายใจ

ประเด็นสำคัญคือลมหายใจเข้าออกเป็นหลักใหญ่ที่นำให้ตื่นรู้ซึ่งเชื่อมกับองค์บริกรรมภาวนาแห่งสัมมาอรหังว่า

สัมมา อรหัง สัมมาอรหัง

พวกเรามานั่งเรียนลมหายใจ

เห็นการเกิดดับสลับกันไป

รู้ลมหายใจตลอดเวลา

ทั้งพุทโธและสัมมา อรหังเป็นพระพุทธคุณอันประเสริฐเป็นแสงสว่างนำทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์จริงคือสภาวะแห่งความรู้ตื่นและเบิกบานดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ธรรมคือความสงบ ความงบคือพระพุทธเจ้าหรือพระตถาคตซึ่งสอดประสานกันอย่างกลมกลืนกับพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ทุกประการ

นอกจากอาตมาจะได้เล่าประสบการณ์การแสวงหาภาวนาให้ท่านผู้ปฏิบัติภาวนาชาวแคนาดาและชาวเวียตนามได้ฟังแล้ว อาตมาได้อธิบายต่อว่า ภาวนาคือยารักษาจิตวิญญาณให้ตื่นรู้ ผ่อนคลาย เบา โล่ง โปร่งสบาย

ใช้เวลาบรรยายประมาณ 50 นาที บรรยายจบแล้วทุกคนลืมต่างยิ้มออกมาด้วความเบิกบานและเปี่ยมสุข สุภาพสตรีชาวแคนาดาที่อายุน่าจะไม่เลยสามสิบกาลฝนได้ถามว่า เป็นไปได้ไหมที่พวกเราจะได้รับซีดีธรรมบรรยายวันนี้จากท่าน

อาตมาตอบว่า ยินดีจะผลิตซีดีส่งมาให้ท่านที่ต้องการ แต่สำหรับวันนี้ขอแจกหนังสือที่ชื่อว่า meditation is fun คนละเล่มซึ่งได้เล่าถึงการปฏิบัติภาวนาโดยตรงในคราวไปเข้าเงียบเจ็ดวันที่ออเรกอน

เสร็จการบรรยายแล้ว ได้ฉันเพลนั่นแล้วคุณหนูแดงและคุณเอจได้นิมนต์ให้ไปชมป่าขนาดใหญ่ที่มีแต่ต้นไม้ใหญ่ๆ อายุเป็นพันปีหรือหลายๆ ร้อยปีทั้งที่ยังยืนต้นและล้มลงแล้วที่ Cathedral grove โดยคุณเอจสามีคุณหนูแดงเป็นผู้ขับรถ เดินทางจากบ้านคุณหนูแดงประมาณชั่วโมงกว่าๆ ก็ถึง Cathedral g20150531-1 (3)rove ซึ่งอาตมาชอบแปลเป็นภาษาไทยว่า มหาวิหารวนาป่าใหญ่

ป่าบริเวณนี้เป็นป่าเขตฝนตกชุก Rainfall forest เพราะบริเวณนี้ฝนตกชุกแทบทั้งปีต้นไม้ใหญ่อายุหลายพันปีจึงมีให้ชมมากมาย ได้รับการอนุรักษ์ไว้จนล้มลงตามอายุขัยด้วยเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็มีต้นไม้ใบหญ้าบางชนิดที่อิงอาศัยต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ก็มีหลากหลายพันธุ์ น่าศึกษาสนใจยิ่งนัก20150531-1 (4)

อาตมาอ่านชื่อป่าที่เขียนไว้ตรงทางเข้าชมป่าที่ว่า Cathedral grove แล้วฉุกคิดขึ้นมาว่า ทำไมเขาตั้งชื่อป่าใหญ่แบบนี้ว่าเป็นมหาวิหาร เมื่อพิจารณาโดยแยบคายแล้วพบว่า มหาวิหารคือสถานศักดิ์สิทธิ์เป็นชื่อเรียกโบสถ์ขนาดใหญ่ในยุโรป การที่นำมาเรียกป่าไม้แสดงว่าป่าไม้ใหญ่คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันความศักดิ์สิทธิ์ที่ว่านี้ที่เห็นได้ชัดคือ ป่าไม้ให้ก๊าชออกซิเจนเลี้ยงชีวิตมนุษย์สัตว์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เมื่อใดมนุษย์ สัตว์ และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายขาดอ๊อกซิเจนก็ขาดใจทันที

ความศักดิ์สิทธิ์ของต้นไม้น้อยใหญ่ทุกต้นอยู่ตรงที่ช่วยชีวิตมนุษย์สัตว์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายให้รอดนั้นเอง

มองในมิติชาวพุทธ ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์เพราะพระพุทธเจ้าประสูติใต้ต้นไม้ ตรัสรู้ใต้ต้นไม้ และปรินิพพานใต้ต้นไม้ เมื่อเห็นต้นไม้ทีไรทำให้คิดถึงพระพุทธเจ้าและเห็นคุณค่าของต้นไม้ยิ่งนัก เมื่อเห็นคุณและค่าของต้นไม้จะทำให้กระตุ้นจิตสำนึกแห่งการรักต้นไม้ตามมา

พวกเราทั้งหลายชมป่าและอัดคลิปธรรมะจากป่าใหญ่กันจนอื่มหนำทั้งกายและใจเดินทางกลับมาพักที่บ้านคุณหนูแดง เนื่องจากความอ่อนเพลียเลยหลับกันตั้งแต่หัวค่ำจนรุ่งสางด้วยความผ่อนคลายทั้งกายและใจ

ตื่นเช้าขึ้นมา อากาศดีมาก แสงแดดอุ่นๆ สาดส่องไปทั่วเมืองนาไนโม่ คุณรูดี้จึงชวนออกเดินออกกำลังแต่เช้าตรู่จากบ้านคุณหนูแดงไปถึงดาวน์ทาวน์ แล้วย้อนกลับขึ้นมา นับว่าเป็นการออกกำลังที่ดีมาก เมื่อกลับมาถึงบ้าน คุณเอจก็ออกมารับที่ประตูแล้วแจ้งให้ทราบว่า อาหารเช้าพร้อมแล้ว พระทั้งสามรูปก็ฉลองศรัทธาภัตตาหารเช้าของอุบาสกและอุบาสิกาทั้งสองแล้วสนทนาธรรมกันตามอัธยาศัยจนถึงเวลาประมาณสิบโมงเช้า คุณหนูแดงจึงได้นิมนต์ให้ไปพบกับคนไทยที่ร้านอาหารสุโขทัย มีคนไทยจากที่ต่างๆ มารวมกันประมาณห้าสิบคน บางคนขับรถมาเป็นร้อยกิโลเม็ตรเพื่อมาร่วมงานสงกรานต์ เวลาประมาณสิบโมงครึ่งจึงได้สวดมนต์ให้พรแก่ชาวไทยที่มาพบกัน แล้วพูดธรรมะให้ฟังประมาณสิบห้านาที อุบาสกอุบาสิการ่วมกันถวายสังฆทานพระสงฆ์รับภัตตาหารแล้วฉันเพล ญาติโยมที่มางานรับประทานอาหารร่วมกัน รับประทานกันไปสนทนาถามสารทุกข์สุกดิบกันไป บางคนบอกว่าไม่ได้พบกันมาตั้งสี่ห้าปีแล้ว ได้พบกันก็ดีใจมากงานบุญกลายเป็นงานพบญาติธรรมที่อบอวลไปด้วยมิตรภาพ รับประทานอาหารแล้วต่างกล่าวคำอำลากลับบ้านของตนๆ ด้วยความอิ่มท้อง อิ่มกายและอิ่มใจ

เมื่อผู้ร่วมงานลาพระภิกษุสงฆ์และเพื่อนๆ กลับบ้านกันแล้ว พระสงฆ์และทีมงานธรรมสัญจร ก็ได้กล่าวขอบคุณ คุณหนูแดงและเจ้าของร้านสุโขทัยที่มีน้ำใจจัดอาหารหวานคาว ผลไม้ น้ำดื่มและสถานที่จัดงานเป็นอย่างดี ขอความสุขในร่มพระธรรมจงบังเกิดขึ้นแก่ผู้ร่วมงานที่เปี่ยมด้วยน้ำใจทุกคน

จากนั้นเวลาประมาณ 14.00 น. ทีมงานธรรมสัญจรได้กล่าวคำอำลา คุณหนูแดง เจ้าของร้านสุโขทัย และญาติโยมที่ยังนั่งคุยกันต่อ เพื่อไปยังท่าเรือขึ้นเรือเฟอรี่เดินทางกลับวัดพุทธปัญญานันทารามที่แวนคูเวอร์ต่อไป

การปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศแคนาดาร่วมกับพระภิกษุสงฆ์แห่งวัดพุทธปัญญานันทารามก็จบลงด้วยความประทับใจของทุกภาคส่วนที่ช่วยกันขับเคลื่อนกงล้อธรรมจักรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้หมุนไปเพื่อนำประโยชน์และความสุขสู่พุทธศาสนิกชนในถิ่นห่างไกลตามพระพุทธประสงฆ์ทุกประการ

บันทึกความทรงจำนี้บนเครืองบินสายการบินไทยเที่ยว TG 693 Lax to Bangkok

May 4-5, 2015.

ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ

เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา, วัดพุทธธรรมและวัดลอยฟ้า

www.buddhapanya.org & www.skytemple.org

 

 

Leave a Reply