เมืองไทยยุคปฏิรูป
สภาปฏิรูป แห่งชาติกำลังเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยในมิติต่างๆ ไม่ ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และแม้แต่กิจการพระพุทธศาสนา หากติดตามการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจะเป็นกฎเกณฑ์ในการสนับสนุนให้การปฏิรูปประสบความสำเร็จ ยังไม่เห็นว่าจะปฏิรูปตรงไหน ซ้ำร้ายหลายเรื่องยังถอยหลังกลับอดีตอีกหลายปี
โดยเฉพาะร่างรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวกับที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และนายกรัฐมนตรี มองไม่ออกว่า จะมีการปฏิรูป หรือทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างไร นอกจากทำให้เกิดความสับสนอลหม่านมากขึ้นเท่านั้น
การที่ร่างรัฐธรรมนูญว่า นายกมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎรด้วยเสียงกึ่งหนึ่ง ก็ไม่มีสัญญลักษณ์ที่ชี้ว่า ปฏิรูปเลย เพราะรัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับ นายกก็ล้วนมาจากการสรรหาหรือการเลือกมาจากสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น และกระบวนการเลือกสรรนายกรัฐมนตรี ประชาชนก็ไม่เคยมีส่วนร่วม นายกรัฐมนตรีประเทศไทยจึงวนเวียนอยู่เพียงในกลุ่มนายทุน ขุนศึก ศักดินา เท่านั้น การเมืองไทยจึงวนเวียนอยู่ในน้ำเน่าของคนสามกลุ่มนี้ตลอดปีตลอดชาติ ไม่เคยหลุดจากวงจรคนกลุ่มนี้ไปได้ การต่อสู้ทางการเมืองจึงวนเวียนช่วงชิงอำนาจกันอยู่ในชนกลุ่มนี้เท่านั้น
การเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลชุดที่แล้ว มาสู่รัฐบาลชุดนี้ ก็คือการเปลี่ยนมือจากกลุ่มนายทุนมาสู่กลุ่มขุนศึกเหมือนเดิม ทำนายได้ว่า เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป นายทุนก็จะมามีอำนาจตามเคย ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีโอกาสไปร่วมเสวยสุขจากอำนาจใดๆ เลย นอกจากถึงยุคสมัยที่เขาต้องช่วงชิงอำนาจ ประชาชนก็ต้องไปบาดเจ็บล้มตายอีก
การที่ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อ้างข้างๆ คูๆ ใช้เวลามากมาย เพื่อพยายามอธิบายให้ประชาชนคล้อยตามว่า วุฒิสมาชิกก็มาจากตัวแทนของสาขาอาชีพ แต่ฟังเท่าไรก็ย่อมเข้าใจว่า วุฒิสมาชิกเหล่านั้นก็มาจากเส้นสายเครือข่ายของผู้ครองอำนาจ ดังสมาชิกสภานิติบัญญัติปัจจุบันนี้นั่นเอง
ถ้า ดร.บวรศักดิ์ จริงใจที่จะมอบอำนาจให้ประชาชนตัดสินตัวแทนของตน ทำไมจึงไม่ให้ประชาชนแต่ละสาขาอาชีพ เลือกตั้งตัวแทนของตนมาโดยตรง โดยคำนวนตามจำนวนประชากร ว่าประชาชนแต่ละสาขาอาชีพมีกี่เปอร์เซ็นต์ ก็ได้ตัวแทนเข้ามาเท่านั้น ถ้าดร.บวรศักดิ์ออกแบบๆ นี้แหละ จะสามารถยืดคอบอกประชาชนว่า วุฒิสมาชิกเลือกตั้งมาจากประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ โดยตรง ไม่ต้องเสียเวลาอธิบายมากมาย
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อก็เหมือนกัน ไม่สามารถจะเรียกว่าเป็นการปฏิรูปตรงไหน พรรคไหนได้เสียงมาก พรรคนั้นก็ชนะไป แต่ยังเป็นห่วงหาอาลัยนายทุนพรรคที่จะต้องส่งเข้าไปอยู่ในบัญชีรายชื่อ เพราะนายทุนพรรคหรือนักพูดประจำพรรคหลายคน ถ้าลงสมัครให้ประชาชนเลือกแบบเขต ประชาชนก็ไม่เลือก แต่ถ้าใส่ชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อ ก็เข้าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ง่ายๆ เหมือนเดิม ขอเพียงจ่ายเงินบำรุงพรรคให้เข้าขั้นเท่านั้น หรือปากเป็นอาวุธประหารฝ่ายตรงข้ามได้เท่านั้น การปฏิรูปเช่นนี้ก็หนีไม่พ้นอิทธิพลของกลุ่มทุนอยู่ดี
ถ้าอยากจะให้อำนาจแก่ประชาชนจริง ทำไมไม่ให้ประชาชนเป็นผู้เสนอรายชื่อ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพวกเขาด้วยตัวเอง จะต้องให้พรรคเลือกแล้วยัดเยียดให้ประชาชนเลือกทำไม
ถ้าต้องการให้ประชาชนมีอำนาจในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แท้จริง ต้องให้ประชาชนเป็นผู้เสนอชื่อโดยการจัดการเลือกตั้งรอบแรกเพื่อสรรหาผู้สมัคร กำหนดคะแนนเอาไว้เลยว่า ผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะต้องได้คะแนนที่ประชาชนเลือกในเบื้องต้นกี่คะแนนหรือกี่เปอร์เซ็นต์ กำหนดไว้เลย ผู้สมัครที่ได้คะแนนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเลือกตั้งเท่านั้น จึงมีสิทธิ์ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
นี่คือ กระบวนการเสนอชื่อเพื่อสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ขั้นต่อไปก็คือขั้นเลือกตั้ง ประชาชนก็ไปเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกมาแล้ว ใครได้คะแนนมากที่สุดหรือกำหนดว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนต้องผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนในเขตเลือกตั้งอย่างน้อย ห้าสิบเปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
ขั้นตอนที่สาม ถ้าสมารชิกสภาผู้แทนาษฎรประพฤติมิชอบก็ให้ประชาชนถอดถอนได้ โดยใช้คะแนนไม่น้อยกว่าคะแนนที่ได้รับการเลือกตั้งมา
ถ้าปฏิรูปแบบนี้เข้าใจง่ายว่าได้ให้อำนาจแก่ประชาชนอย่างแท้จริง
ข่าวที่เร่าร้อนไม่แพ้ข่าวการร่างรัฐธรรมนูญก็คือ ข่าวการที่สภาปฏิรูปแห่งชาติได้ศึกษาปัญหาคณะสงฆ์เพื่อจะปฏิรูปคณะสงฆ์ด้วย เท่าที่อ่านรายงานที่เสนอคณะรัฐมนตรีไปแล้ว มีแต่การเสนอเรื่องตื้นๆ ขึ้นมาด่าพระภิกษุสงฆ์ด้วยความมันในอารมณ์ของตนเท่านั้น มิได้สะท้อนว่า รากฐานของปัญหาที่แท้จริงว่า อยู่ตรงไหน และจะแก้ไขอย่างไร
วาทะของแต่ละท่านที่นำมาสับโขกพระภิกษุสงฆ์เต็มไปด้วยการดูหมิ่น เหยียดหยาม ดูถูก ดูแคลน กดขี่ข่มเหงครบถ้วน สาเหตุที่ทำได้ขนาดนั้น เพราะโดยสภาพที่แท้จริงแล้ว พระสงฆ์ส่วนใหญ่ของประเทศก็ไม่มีพิษมีภัยกับใคร สภาปฏิรูปอาศัยระบบเผด็จการคุ้มครองตนสามารถด่าบริภาษดูหมิ่นเหยียดหยามพระภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว ไม่เปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์รูปใดได้โต้แย้งอธิบายในประเด็นที่หยาบคายและเป็นเท็จเลย การอภิปราย เรื่องการปฏิรูปสงฆ์ของคณะกรรมการปฏิรูปสงฆ์ในวันนั้น จึงเป็นการสะท้อนแก่นแท้แห่งความเป็นเผด็จการได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยไม่มีการเคารพศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของพระสงฆ์เลย
ถ้าหากจะแสดงว่า แม้รัฐบาลนี้โดยโครงสร้าง เป็นเผด็จการแต่มีใจเป็นประชาธิปไตยนั้น ทำได้ไม่ยาก เพียงแต่นิมนต์ เจ้าคณะภาคหรือเจ้าคณะจังหวัด ซึ่งเป็นผู้นำทางจิตใจของพุทธศาสนิกชนมาเข้าสภาหรือทำเนียบรัฐบาลก็ได้ แล้วนิมนต์ให้ท่านได้แสดงความคิดเห็นหรือพูดความจริงให้สมาชิกสภาปฏิรูปที่พูดออกมาด้วยอวิชชาและข้อมูลเท็จ เช่นที่ว่า เงินในพระภิกษุสงฆ์สามแสนกว่ารูปรวมแล้วไม่ต่ำกว่า ยี่สิบล้านๆ เป็นการกล่าวเท็จที่ไม่มีตัวเลขสำนักไหนมายืนยันแบบที่บัณฑิตทำกันอยู่โดยทั่วไป เพื่อสร้างภาพที่น่าเกลียด น่าขยะแขยงให้วงการพระสงฆ์
อาตมาขอเรียกร้องรัฐบาลว่า ถ้าพระภิกษุสงฆ์มีเงินมากจริงอย่างที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติบางคนกล่าวอ้าง อย่าได้รอช้า รัฐบาลใช้มาตรา 44 ยึดทรัพย์พระภิกษุสงฆ์มาสร้างทางรถไฟรางคู่เสียเลย กรุณาอย่าทำรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ หัวหิน หรือ กรุงเทพฯ โคราชเลย เพราะถนนรถยนต์ก็ดีอยู่แล้ว เดินทางไปมาสะดวกสบาย อย่าละลายเงินภาษีอากรไปอย่างไม่จำเป็นเลย
ถ้าตรวจสอบว่า พระสงฆ์มีเงินมากขนาดนั้นจริง จงยึดเงินเหล่านั้นมาสองล้านๆ สร้างทางรถไฟรางคู่สายกรุงเทพฯ สุไหง โกลก กรุงเทพฯเชียงใหม่ และและกรุงเทพฯ หนองคาย อย่าได้รอช้า ไม่ต้องไปกู้เงินของประเทศไหนมาอีกแล้ว เอาเงินบิณฑ์ บัง สังสวดนี่แหละสร้าง อยากรวยดีนัก
แต่ถ้าคำที่สมชิกสภาปฏิรูปบางท่านพูดออกมาและเผยแผ่ไปทั่วโลกเป็นความเท็จ จำนวนเงินของพระภิกษุสงฆ์ทั้งประเทศมีไม่ถึง ยี่สิบล้านๆ ขอให้ยึดทรัพย์สินเงินทองของสมาชิกสภาปฏิรูป ที่รู้เห็นเป็นใจยอมรับรายงานชิ้นนั้นทั้งหมด มาทำรางรถไฟรางคู่แทน ทำได้แค่ไหน ก็เอาแค่นั้น จัดการทันทีในฐานะสมาชิกสภาปากเสียและรู้เห็นเป็นใจให้หมิ่นประมาทพระภิกษุสงฆ์ทั้งประเทศ แบบคนที่ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามไม่มีโอกาสโต้ตอบ
นี่คือ สัญญาณแห่งการลละเมิดสิทธิ์ความเป็นมนุษย์อันเป็นผลงานชิ้นโบว์ดำ ที่กระทำกันโดยสมาชิกสภาปฏิรูปส่วนใหญ่
ดูเหมืนอว่า การคุยโม้โอ้อวดของดร.บวรศักดิ์ ที่ว่า รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่นี้ มีเรื่องปรองดองอยู่ด้วย เป็นฉบับแรกของโลก จะเป็นหมันแน่นอน เพราะสมาชิกสภาปฏิรูปส่วนใหญ่ ได้พากันจ้วงจาบหยาบช้า คณะสงฆ์ไทยอย่างรุนแรง โดยพระภิกษุสงฆ์ไม่มีทางโต้ตอบ คำพูดของสมาชิก ที่อภิปราย ล้วนละเมิดสิทธิ์แห่งความเป็นมนุษย์อย่างชัดแจ้ง แล้วจะสร้างความปรองดองได้อย่างไร
สมาชิกสภาปฏิรูปคงเข้าใจผิดว่า พระภิกษุสงฆ์ที่มาบวชนั้น ไร้ญาติขาดมิตรที่ทรงอิทธิพลที่จะไปทำอะไรพวกเขาได้ จะสับจะโขกอย่างไรก็ทำได้ตามชอบใจ แต่อย่าลืมว่า พระภิกษุสงฆ์ไทย ล้วนมีเจ้าของเหมือน
กัน เจ้าของนั้นคือ พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ วิถีชีวิตของพระสงฆ์ไทยจะอด จะอิ่ม จะเป็น จะตาย จะร้าย จะดีอย่างไร มิใช่กำหนดโดยสภาปฏิรูปหรือรัฐบาลใดๆ ทั้งสิ้น แต่กำหนดโดยปวงชนชาวไทยที่กระจายกันอยู่ทุกตารางนิ้วของประเทศไทย
แม้สมาชิกสภาปฏิรูปอาจจะเห็นว่าพระสงฆ์ทั้งหลายต่ำต้อยด้อยศักดิ์ศรี ไม่มีค่า เป็นดังกาฝากของสังคม จะเหยียบย่ำอย่างไรก็ได้ แต่สมาชิกสภาปฏิรูป ควรเกรงใจเจ้าของคือ พุทธศาสนิกชนที่ดูแลพระสงฆ์บ้าง ก็จะทำให้ปวงชนชาวไทยอยู่ร่วมกันด้วยสันติมากกว่าที่เป็นอยู่
วันที่ 29 มีนาคม 2558 เวลา 1.29 น.
พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ
วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิร์เนีย
ประเทศสหรัฐอเมริกา