อริยทรัพย์
หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชา แสวงหาโมกขธรรม คือ ความหลุดพ้นจากบ่วงพันธนาการแห่งกิเลสทั้งปวง และได้แสดงพระธรรมเทศนาโปรดมหาชนผู้ใฝ่ธรรมจนตั้งอยู่ในมรรคผลนิพพานเป็นจำนวนมากแล้ว จึงได้เสด็จยังกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติที่ใฝ่ธรรมปรารถนาจะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าโดยตรงเป็นจำนวนมาก
บรรดาประยูรญาติทั้งหลายที่มาเฝ้าพระพุทธเจ้าในวันนั้น พระนางพิมพา หรือ ยโสธราที่เคยเป็นพระชายาของเจ้าชายสิทธัตถะ ได้นำเอาพระราหุลปิโยรสน้อยอายุได้เจ็ดพรรษามาเฝ้าอยู่ด้วย เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาใกล้ๆ พระนางพิมพาได้แนะนำให้พระราหุลทราบว่า พระองค์ผู้ทรงสง่างามที่เสด็จนำหน้าพระสงฆ์ทั้งปวงนั่นแหละคือ พ่อของลูก ขอให้ลูกจงกราบพระบาทและทูลขอทรัพย์สมบัติที่พ่อยังไม่ได้บอกแม่ตั้งแต่ตอนออกบวชว่าอยู่ที่ใด
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จใกล้เข้ามา พระราหุลได้เข้าไปกราบพระบาทแล้วทูลถามว่า ทรัพย์สมบัติของพ่ออยู่ ณ ที่ใด ขอจงบอกที่เก็บทรัพย์สมบัตินั้นแก่ลูกด้วยเถิด
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ลูกเอ๋ยทรัพย์สินสมบัติเหล่านั้นจะมีมากมายสักปานใด สุดท้ายก็ย่อมแตกสลายหายไปตามกาลเวลา มิได้ช่วยให้พ้นจากความทุกข์ได้ พ่อจะให้อริยทรัพย์ที่จะช่วยให้ลูกพ้นไปจากทุกข์ได้
พระราหุลถามว่า อริยทรัพย์นั้นอยู่ที่ไหน โปรดบอกลูกด้วย
พระองค์ตรัสว่า จะต้องบวชเสียก่อน แล้วจึงจะรับอริยทรัพย์นี้ได้
พระราหุลจึงตกลงใจเดินตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปยังอารามที่ทางพระญาติเตรียมไว้ถวายใกล้ๆ เมืองหลวงนั้น จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงมอบหน้าที่ให้พระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์ให้การบรรพชาแก่พระราหุล นับได้ว่า พระราหุลเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนาที่บรรพชาเมื่ออายุได้เพียงเจ็ดขวบ จึงถือเป็นประเพณีว่า เยาวชนจะเป็นหญิงหรือชายถ้าจะบวชเป็นสามเณรหรือสามเณรีจะต้องมีอายุ เจ็ดขวบเป็นต้นไป
เมื่อพระราหุลได้บวชเป็นสามเณรแล้ว พระพุทธเจ้าจึงได้แสดงธรรมเรื่องอริยทรัพย์เจ็ดประการแก่พระราหุลตามที่ได้สัญญาไว้ อริยทรัพย์เจ็ดประการที่พระองค์ทรงประทานให้แก่พระราหุลและพุทธบุตรพุทธธิดาทุกคนผู้ปรารถนาทรัพย์ที่ยั่งยืนคือ
- สัทธา แปลว่า ความเชื่อ ได้แก่เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เชื่อในกรรมคือการกระทำที่ประกอบไปด้วยเจตนา เชื่อผลแห่งกรรม คือผลจากการกระทำทางกาย วาจา และใจ ที่ประกอบไปด้วยเจตนา เชื่อว่าทุกคนมีกรรมเป็นของตน ไม่มีใครช่วยให้ใครบริสุทธิ์หรือเศร้าหมองได้ ต้องประกอบกรรมดีเข้าไว้ตลอดเวลาจึงจะได้เก็บเกี่ยวผลแห่งกรรมดีไปตามลำดับ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า หว่านพืชเช่นใดได้ผลเช่นนั้น ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว หรือ ทำดี ดีทันที ทำชั่ว ชั่วทันที นี่เป็นความเชื่ออันเป็นอริยทรัพย์อย่างหนึ่งในชีวิตที่ดีงาม
- สีล คือ การรักษา กาย วาจา และใจให้เป็นปกติ โดยเฉพาะต้องรักษาใจให้ปกติ ไม่ฟู ไม่แฟบ ไม่ขึ้น ไม่ลงด้วย อำนาจกิเลสทั้งหลาย มีความโลภ ความโกรธ และความหลงเป็นต้น เมื่อใจปกติ การกระทำและการพูดก็ปกติ ดังคำที่กล่าวกันว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว เมื่อนายดี บ่าวก็ดี เมื่อนายเพี้ยน บ่าวก็เพี้ยนตามไปด้วย การรักษาใจให้ปกติ คือ การเริ่มต้นสร้างและรักษาความดีที่ต้นทาง
- หิริ แปลว่า ความละอายต่อการทำ การพูด การคิด ที่ชั่ว ด้วยการปรารภ ชาติ ตระกูล อายุ และสถานที่ตนเองเป็นอยู่ ชีวิตนี้เกิดมาทั้งทีด้วยอำนาจบุญและความดี ไม่ควรนำตนไปเกลือกกลั้วความชั่ว ความบาปให้ชีวิตต้องเศร้าหมอง
- โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อผลของบาปที่จะเกิดขึ้น ทั้งในขณะที่กำลังทำอยู่และจะติดตามมาในกาลต่อๆ ไปตามเวลาที่เหมาะสมที่ผลแห่งกรรมชั่วนั้นจะให้ผล เพราะผลแห่งกรรมดีหรือผลแห่งกรรมชั่วทำลงไปเท่าไรจะได้รับผลเท่านั้น ตามสมควรแก่กรรมที่ทำแล้วจริงๆ ไม่ขาดไม่เกิน แต่ต้องรอเวลาที่ให้ผลอย่างเหมาะสม คล้ายๆ กับพืชที่เพาะปลูกแล้วจะให้ผลตามฤดูกาลที่เหมาะสมในระยะสั้นบ้างยาวบ้าง
- สุตะ แปลว่า การสดับรับฟัง ได้แก่การฟังสิ่งที่ดี เป็นความรู้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาชีวิตให้สูงส่งขึ้น หรือการฟังธรรมที่ทำใจให้สงบมีความฉลาดสามารถกำหนดรู้ได้ว่า ชีวิต ควรจะรับสิ่งใด ควรจะละสิ่งใดด้วยตนเอง ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงยกย่องผู้ฟังมาก ว่าเป็นพหูสุตะ หรือ พหูสูตร แปลว่า ได้ยิน หรือได้ฟังมามาก ผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่า เป็นเลิศด้านพหูสุตร คือ พระอานนท์ เป็นผู้ที่ฟังธรรมของพระพุทธเจ้ามากที่สุด จนเป็นแกนนำในการทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่หนึ่งหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้เพียงสามเดือน
- จาคะ แปลตรงๆ ว่า สละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ คำๆ นี้เป็นคำที่ยิ่งใหญ่เป็นคำที่ใช้เรียกนิพพานได้ ที่เรียกตามภาษาธรรมะว่า เป็นไวพจน์ของพระนิพพาน อันได้แก่การละกิเลสทั้งปวง สิ่งนี้แหละที่เป็นแก่นแท้ของอริยทรัพย์ที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ทั้งปวง ซึ่งไม่สามารถจะซื้อหาได้ด้วยทรัพย์ทั่วๆ ไป
- ปัญญา แปลตรงตัว ว่า ความรอบรู้ ในสิ่งที่ควรรู้ คือ รู้จักทั้งวิชาในการทำมาหากินและวิชาชีวิตคือเข้าใจกองแห่งขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ตามความเป็นจริงแล้วไม่ยึดมั่นในขันธ์ห้า มองขันธ์ห้าเพียงกองแห่งธาตุที่ตั้งขึ้นมาด้วยกิริยาและปฏิกิริยาต่อกันทั้งนามและรูปเพียงชั่วขณะๆไปแล้วสลายไปไม่ตั้งอยู่อย่างจีรังยั่งยืน ชีวิตนี้ไม่มีแก่นสารใดๆ มีเพียงเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปสลับกันไป ดั่งสายน้ำที่ไหลไปแล้วไม่หวนกลับคืน ทุกลมหายใจเราจึงควรได้มองอย่างภาวนาว่า
พองหนอ ยุบหนอ พองหนอ ยุบหนอ
สติเฝ้ารอว่าอะไรเกิดขึ้น
เกิดแล้วดับไปไม่หวนกลับคืน
ยอมรับไม่ฝืนตามความเป็นจริง
พระราหุลได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วได้นำไปทบทวนศึกษาอยู่ทุกเวลานาทีเป็นสามเณรที่อ่อนน้อมอ่อนโยน ไม่ดื้อไม่ถือดีว่า เป็นลูกของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ได้รับการยกย่องว่า เป็นเลิศในด้านใฝ่การศึกษา ทุกๆ วันที่ท่านตื่นขึ้นมาจะกอบทรายขึ้นมากำหนึ่งแล้วอธิษฐานจิตว่า วันนี้จะแสวงหาความรู้ให้ได้มากเท่ากับเมล็ดทรายในกำมือ นับว่า เป็นอุดมการณ์ของท่านผู้ใฝ่รู้ที่เป็นความจริง ไม่ว่ายุคใดสมัยใด ใครมีปณิธานที่จะหาความรู้ตามอุดมการณ์นั้นแล้ว ย่อมกลายเป็นพหูสุตรได้แทบทุกคน และความรู้เหล่านี้ก็เป็นอริยทรัพย์ที่ใครจะมาลักขโมยไม่ได้และเป็นเหตุให้พบกับความสงบสุขเป็นนิรันดร์
พระราหุลได้รับอริยทรัพย์ทั้งในด้านปริยัติและด้านปฏิบัติครบถ้วนตามพุทธประสงค์ทุกประการ เมื่อท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในเวลาไม่นาน อรหัตผล คือ อริยทัพย์ที่พ่อมอบให้แก่ลูก เป็นทรัพย์ที่มีค่ากว่าทรัพย์ทั้งปวง เพราะเป็นเหตุแห่งความสุขอันเกิดจากการไม่รบกวนของกิเลส เป็นความสุขที่ไม่มีเหตุใดๆ ทำให้เป็นทุกข์ได้เลย แม้พระวรชายา พระบิดา และพระญาติมากมายล้วนได้รับอริยทรัพย์อันไปสู่ความพ้นทุกข์จากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย กันถ้วนหน้า นับได้ว่าการออกบวชของพระพุทธเจ้านำประโยชน์และความสุขมาแก่พระองค์เอง พระญาติ ครอบครัว มหาชน และสรรพสัตว์ทั้งหลายไม่มีที่สุดไม่มีประมาณอย่างแท้จริง
วันที่ 26 เมษายน 2557
เวลา 05.30 น.
วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า มลรัฐแคลิฟอร์เนีย
ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ
เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญาและวัดลอยฟ้า