หมอชีวก โกมารภัจจ์
เปิดกระโหลกรักษาโรคปวดหัว
เศรษฐีในกรุงราชคฤห์ป่วยเป็นโรคปวดหัวมาเป็นเวลา ๗ ปี นายแพทย์ทิศาปาโมกข์หลายคน เข้ามารักษาก็รักษาไม่หาย เศรษฐีต้องจ่ายเงินไปเป็นจำนวนมาก บรรดานายแพทย์เหล่านั้น บางคนก็บอกว่า ไม่มีใครรักษาโรคนี้ให้หายได้ บางคนบอกว่า ท่านเศรษฐีจะตายภายใน ๕ วัน บางคนกล่าวว่า ท่านเศรษฐีจะตายภายใน ๗ วัน
ต่อมาคณะพ่อค้าชาวกรุงราชคฤห์ได้ทราบข่าวนั้น จึงปรารภกันว่า เศรษฐีกรุงราช
คฤห์มีคุณูปการต่อบ้านเมืองมาก แต่เวลาป่วยหมอกลับบอกเลิกการรักษากลางคัน เป็นที่น่าสงสารยิ่งนัก อย่ากระนั้นเลย พวกเราน่าจะช่วยกันหาทางรักษาเศรษฐีให้ถึงที่สุด
เมื่อคณะพ่อค้านักธุรกิจในเมืองราชคฤห์ปรึกษาหารือกันอย่างนี้แล้ว จึงได้พากันเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารแล้วกราบทูลความปรารถนาดีของตนให้ทรงทราบ แล้วขอพระราชทานวโรกาศให้พระเจ้าพิมพิสารส่งหมอชีวกไปรักษาเศรษฐี
พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบความจากเหล่าพ่อค้าครบถ้วนแล้วจึงรับสั่งกับหมอชีวกว่า เจ้าจงไปรักษาเศรษฐีที่กำลังป่วยอยู่เถิด
หมอชีวก รับสนองพระบัญชาแล้วเดินทางไปยังบ้านเศรษฐีกรุงราชคฤห์ขอตรวจร่างกายอย่างถ้วนถี่แล้วถามท่านเศรษฐีว่า ถ้าผมรักษาท่านหาย ท่านจะมีอะไรเป็นรางวัลบ้าง
ท่านเศรษฐีตอบว่า ผมจะยกทรัพย์สมบัติทุกอย่างให้อาจารย์ และผมจะขอเป็นคนใช้ท่านด้วย ขอเพียงแต่รักษาให้หายทีเถอะ
หมอชีวกจึงถามเศรษฐีต่อไปว่า ท่านจะนอนตะแคงข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้ไหม
เศรษฐีตอบว่า นอนตะแคงได้ อาจารย์
หมอชีวกถามต่อไปว่า ท่านจะนอนตะแคงอีกข้างหนึ่งตลอด ๗ เดือนได้ไหม
เศรษฐีตอบว่า นอนตะแคงได้ อาจารย์
หมอชีวกถามต่อไปว่า ท่านจะนอนหงายอีก ๗ เดือนได้ไหม
เศรษฐีตอบว่า นอนได้ อาจารย์
ขณะนั้น ท่านเศรษฐีรู้ชะตากรรมของตนแล้วว่า คงจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน จึงยอมทำทุกอย่างตามที่หมอสั่งโดยไม่ต้องคิดบ่ายเบี่ยงต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น พยายามต่อสู้กับอาการปวดหัวที่ตนเองเป็นเรื้อรังมานานให้ถึงที่สุด แม้ตัวตายก็ต่อสู้จนวาระสุดท้าย เศรษฐีคนนี้นับว่า เป็นคนไข้ที่เชื่อฟังหมอและมีศรัทธาในตัวหมอสูงแม้หมอถามว่าจะให้ทำสิ่งที่ยากลำบากแค่ไหนก็จะทำให้ได้ทุกอย่าง หมอที่รักษาก็สบายใจและเต็มใจที่จะรักษา
การถามถึงค่ารักษาของหมอชีวก คงมิได้มีความหมายไปถึงความโลภ อยากได้ค่ารักษาแพงๆ แต่น่าจะเป็นการทดสอบความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ที่คนไข้มีต่อหมอที่มารักษา หรือ เป็นการทดสอบพละ คือ กำลังใจ ๕ ประการได้แก่ ศรัทธา ความเชื่อมั่น วิริยะ ความพากเพียร สติ ความระลึกรู้ สมาธิ ความตั้งใจแน่วแน่ และปัญญา ความรอบรู้เรื่อง
ราวต่างๆ อย่างถ่องแท้ในเรื่องที่กระทำอยู่ ถ้าในกรณีผู้ป่วยก็รู้ว่า ถ้ารักษาอย่างนั้น อย่างนี้แล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร
เมื่อถึงวันนัดรักษา หมอชีวก ให้เศรษฐีนอนบนเตียงแล้วมัดติดไว้กับเตียง ขั้นต่อมาจึงผ่าตัดถลกหนังศรีษะเปิดรอยประสานกระโหลก นำสัตว์มีชีวิตออกมาจากกระโหลก ๒ ตัว แล้วปิดแนวประสานกระโหลก เย็บหนังศรีษะทายาสมานแผลติดกันดุจดังเดิม
หมอชีวกอธิบายให้ประชาชนที่ไปเยี่ยมไข้เศรษฐีว่า สัตว์มีชีวิตสองตัว ตัวหนึ่งเล็ก อีกตัวหนึ่งใหญ่ พวกหมอที่กล่าวว่า เศรษฐีจะตายภายใน ๕ วันเพราะมองเห็นสัตว์ตัวใหญ่ว่า จะกินสมองเศรษฐีแล้วจะตายภายใน ๕ วัน เป็นการทำนายได้แม่นยำ ส่วนหมอที่บอกว่า ท่านเศรษฐีจะตายภายใน ๗ วันก็ทายถูกเพราะสัตว์ตัวเล็กจะใช้เวลากินสมองเศรษฐีนานกว่าตัวใหญ่ เศรษฐีจึงจะตายภายใน ๗ วัน
ครั้นเวลาผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ เศรษฐีกล่าวกับหมอชีวกว่า อาจารย์ ผมไม่สามารถจะนอนตะแคงข้างเดียวได้ ๗ เดือนแล้วละ
หมอชีวกจึงทวงถามเศรษฐีว่า อ้าว ไหนท่านจะนอนตะแคงข้างซ้าย ๗ เดือน ข้างขวา ๗เดือน นอนหงายอีก ๗เดือนได้ไง แล้วตอนนี้ทำไมมาเปลี่ยนใจเสียละ
เศรษฐีตอบว่า จริงครับอาจารย์ ผมเคยสัญญาไว้จริง แต่ตอนนี้ ถ้าผมต้องนอนตะแคงข้างละ ๗เดือน และ นอนหงายอีก ๗ เดือน ก็คงไม่รอดแน่ๆ ละอาจารย์
หมอชีวก จึงกล่าวกะท่านเศรษฐีว่า ถ้าผมไม่บอกท่านไว้เช่นนั้น ท่านจะนอนไม่ได้เลย ผมทราบอยู่ก่อนแล้วว่า ท่านจะหายภายใน ๓ สัปดาห์ ลุกขึ้นเถิดท่านเศรษฐี บัดนี้ท่านหายป่วยแล้ว ท่านจะให้อะไรเป็นรางวัลค่ารักษาก็ให้ได้แล้วนะ
เศรษฐียืนยันคำสัตย์ที่ให้ไว้ก่อนรักษาว่า ท่านอาจารย์ครับ ผมจะยกทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ทั้งหมดแก่ท่านอาจารย์ และผมเองจะเป็นคนใช้ของท่านอาจารย์ตลอดไป
หมอชีวกกล่าวว่า อย่าเลยท่านเศรษฐี ท่านไม่ต้องยกสมบัติทั้งหมดให้ผมหรอก และท่านก็ไม่ต้องเป็นคนรับใช้ผมด้วย เพื่อสนองตอบความตั้งใจดีของท่าน ผมขอเงินจำนวน 100,000 กหาปณะ และทูลเกล้าถวายพระเจ้าแผ่นดินอีก 100,000 กหาปณะก็พอแล้ว
เศรษฐีได้ฟังดังนั้นจึงจัดการถวายเงินแก่พระเจ้าแผ่นดิน 100,00 กหาปณะ และมอบเป็นค่ารักษาแก่หมอชีวก 100,000 กหาปณะ ด้วยความยินดียิ่ง
ข้อความทั้งหมดนี้เรียบเรียงมาจาก พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม ๕ พระวินัยปิฎกมหาวรรค ภาค ๒ หน้า ๑๘๖-๑๘๘
นับเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่บ่งชี้ว่า วิทยาการการผ่าตัดสมองได้มีมาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล เป็นเวลาสองพันกว่าปีมาแล้ว และจากการที่ท่านเศรษฐีได้สัญญาที่จะปฏิบัติตามหมอทุกอย่างและพร้อมที่จะเสียสละทรัพย์สมบัติทั้งหมดเพื่อให้อาการปวดหัวที่เรื้อรังมานานได้หาย ชี้ให้เห็นว่า เวลาป่วยไข้จะได้สัจธรรมว่า ชีวิตมีค่ามากกว่าทรัพย์สินสมบัติใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเมื่อรักษาชีวิตไว้ได้ทรัพย์อื่นๆ ก็หาได้ในภายหลัง เศรษฐีแสดงออกถึงความประทับใจ และ เห็นคุณค่าของหมอที่ช่วยรักษาชีวิตด้วยการบอกว่า หากหมอรักษาให้หายจากโรค แม้ต้องเป็นคนรับใช้คุณหมอก็ยอมนี่ก็แสดงให้เห็นว่า การมีชีวิตอยู่เป็นคนใช้ก็ยังดีกว่าตายไป
เรื่องหมอชีวกยังไม่จบแค่นี้ ยังมีเรื่องการรักษาอีกหลายรายจะได้นำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกันอีกในคราวต่อไป
วันอาทิตย์ที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
เวลา ๐๕:๕๘:๓๖ น.
ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ
เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญาและวัดลอยฟ้า
www.buddhapanya.org & www.skytemple.org