การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ผ่านพ้นไปแล้ว พลเมืองผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนได้ไปลงคะแนนกันอย่างพร้อมหน้า รักพรรคไหน ชอบผู้สมัครคนไหน ก็ได้เลือกไปแล้วตามความพึงพอใจ ผลการเลือกตั้งว่าพรรคใดได้คะแนนเท่าไร ก็คงทราบกันเป็นอย่างดีแล้ว ทั้งการเมืองและสมาชิกพรรคการเมืองแต่ละพรรคการเมืองต่างมีความรู้สึกแตกต่างกัน พรรคที่ได้รับชัยชนะก็ดีใจ พรรคที่พ่ายแพ้ก็เสียใจ การแพ้หรือการชนะเป็นเรื่องธรรมดาของการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแข่งขันอะไร ฝ่ายชนะก็ดีใจ ฝ่ายพ่ายแพ้ก็เสียใจ ส่วนคนที่ไม่ลงแข่งขันและไม่เชียร์ข้างไหนก็ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ก็สบายไปอีกแบบหนึ่ง
บทเรียนสำคัญจากการติดตามข่าวการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือ สรุปสั้นๆ ว่า สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว จะเห็นว่า ประชาชนทุกคนคือผู้นำความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงทิศทางการเมือง เปลี่ยนแปลงโฉมหน้านักการเมือง เปลี่ยนแปลงบทบาทของการเมือง เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางการเมือง การทำใจให้สงบมองความเปลี่ยนแปลงแห่งปรากฏการณ์ทางการเมือง แล้วยอมรับความเปลี่ยนแปลงว่ามีอยู่จริงแล้วปล่อยผ่านไปไม่ยึดติดมากนั้น จะทำให้จิตใจปกติ ตื่นรู้พร้อมที่จะอยู่กับกระแสความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งภายนอกและภายในได้อย่างไม่เดือดร้อน
ก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง 1 วัน มีการเรียกร้องกันอย่างกว้างขวางว่า ช่วยกันเลือกคนดีไปทำหน้าที่ในสภา โดยการยกพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาแบ่งปันกันอ่านใจความว่า
…ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดี และคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมือง มีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือนร้อนวุ่นวายได้
วงสนทนาการเมืองจึงสนทนากันว่า คนดีมีลักษณะอย่างไร นักการเมืองดีมีลักษณะอย่างไร บัดนี้ทุกท่านที่ไปลงคะแนนก็คงจะให้คำจำกัดความคำว่า “คนดี” เป็นที่ประจักษ์แล้วจึงตัดสินใจเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งไปทำหน้าที่ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติแทนท่านผู้ลงคะแนนทุกท่าน การตัดสินใจของท่านถือว่าเป็นที่สุด ท่านได้ใช้อำนาจอธิปไตยของท่านอย่างครบถ้วน ต่อไปนี้ท่านที่ลงคะแนนแล้วก็ต้องติดตามเฝ้าดูการทำหน้าที่ของสมาชิกที่ท่านเลือกไปอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลายเหล่านั้นได้ผ่านการกลั่นกรองมาอย่างดีแล้ว แต่การทำหน้าที่ในสภาต้องมีคุณธรรมเพื่อความถูกต้องดีงาม และเป็นประโยชน์แก่มหาชนทั่วผืนแผ่นดินไทย จึงขอแบ่งปันหลักธรรมะเพื่อจะได้สภาที่ดีตามหลักพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สภาใดไม่มีสัปบุรุษ (คนดีมีใจสงบ) สภานั้นไม่เป็นสภา” พระพุทธภาษิตนี้เป็นความจริงแท้ หากสภาไม่มีคนดีเข้าไปทำงานร่วมกัน สภา อาจจะกลายเป็นซ่องโจรเป็นที่รวมของโจรปล้นชาติ เป็นแก๊งเปรตหิวโหยที่กินทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่ต่างอะไรกับปล่อยเสือเข้าคอกวัว เพราะผู้มีอำนาจถ้าเห็นแก่ตัวย่อมใช้อำนาจอธิปไตยที่ประชาชนมอบให้แสวงหาประโยชน์ เพื่อตน เพื่อครอบครัว เพื่อพวกพ้องพี่น้อง เพื่อพรรคของตน อันเป็นเหตุเสียหายให้แก่ประเทศชาติเหลือคณานับ
ในทางตรงกันข้ามถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีคุณธรรมสูง ตั้งอยู่ในความยุติธรรม ไม่ลำเอียงเพราะรัก เพราะชัง เพราะไม่รู้และเพราะความกลัว ย่อมใช้อำนาจอธิปไตยสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้แก่มหาชนได้ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ นอกจากนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรควรตั้งมั่นอยู่ในธรรมของคนดี 7 ประการ คือ
- ธัมมัญญุตา เป็นผู้รู้จักเหตุ กล่าว คือ คนดีต้องรู้แน่ชัดว่า อะไรเป็นเหตุแห่งความเสื่อม อะไรเป็นเหตุแห่งความเจริญ เมื่อทราบเหตุอย่างแท้จริงแล้ว หน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐบาลต้องช่วยกันสร้างเหตุแห่งความเจริญทุกด้าน โดยบริหารทุกหน่วยงานเพื่อการสร้างเหตุแห่งประโยชน์สุขของมหาชนส่วนมากของประเทศไทยอย่างไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ นโยบายของรัฐบาลคือ ต้นทางแห่งความเจริญหรือความเสื่อม สมาชิกสภาผู้แทนราฎรต้องช่วยกันใช้โยนิโสมนสิการให้นโยบายเหล่านั้นไม่มีความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนเลย
- อัตถัญญุตา เป็นผู้รู้จักผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนต้องตระหนักว่า ผลที่เกิดขึ้นแก่ประเทศชาติและประชาชน เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษาที่กำลังเผชิญหน้าอยู่นั้นมีสาเหตุมาจากอะไร เมื่อทราบสาเหตุได้ชัดก็จะแก้ไขอย่างตรงประเด็น ทุกวันนี้ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตร รอการแก้ไข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องช่วยกันคิดว่า ราคาตกต่ำเพราะเหตุใด จะสร้างเหตุอะไรให้ราคาสูงขึ้น
- อัตตัญญุตา การรู้จักตน กล่าว คือ การรู้จักว่า ตนเองมีความรู้ความสามารถด้านใด ได้คิดได้ทำแล้ว จะก่อให้เกิดความเสื่อมต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างไร หรือความสามารถของตนจะนำไปสร้างประโยชน์แก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศชาติอย่างไร ตนเองมีข้อเด่นข้อด้อยอย่างไร ทำความเข้าใจให้ดีแล้ววางตนอย่างถูกต้อง สอดคล้องกับความถนัดก็จะบริหารจัดการบ้านเมืองได้ดี
- มัตตัญญุตา การรู้จักประมาณ หมายถึง การทำ การพูด การคิดที่พอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป เช่น ไม่แสดงความเห็นมากจนกลายเป็นคนไร้สาระไม่มีใครเชื่อถ้อยฟังคำ แต่พูดให้ถูกต้องตรงประเด็นฟังแล้วดีมีสาระควรค่าแก่การติดตาม
- กาลัญญุตา การรู้จักกาล คือ รู้จักเวลาว่า เวลาไหน ควรทำอะไร เวลาไหน ควรนั่งเงียบ หรือแสดงความคิดเห็นอะไร หากวางได้ถูกต้องจะเป็นสัปบุรุษที่มีทั้งความดีและความสงบอย่างครบถ้วนเป็นคนดีตามหลักพุทธวจนะจริงๆ
- ปริสัญญุตา การรู้จักชุมชน หมายถึงการรู้จักความแตกต่างระหว่าง วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ในแต่ละท้องที่ล้วนมีเอกลักษณ์ของตน การเข้าไปบริหารจัดการให้สิ่งเหล่านี้ยังดำรงอยู่อย่างเข้มแข็ง เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาแต่ละชุมชนเป็นสิ่งที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละเขตจะต้องตระหนัก และนำมาใช้เพื่อการพัฒนาวิถีชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพในทุกด้าน
- ปุคคลปโรปรัญญุตา การรู้จักบุคคล หมายความว่า สามารถแยกแยะคนดี คนชั่ว คนพาล และบัณฑิตออกได้อย่างชัดเจน ใครทำดี พูดดีและคิดดี และยกย่องคนที่ทำดีพูดดีและคิดดี ก็พึงทราบว่า เป็นคนดีเป็นบัณฑิต พึงยกย่องส่งเสริมและคบเป็นมิตร ส่วนผู้ใด ชอบทำชั่ว พูดและคิดชั่ว พึงทราบว่า เป็นคนพาล ไม่พึงคบหาสมาคมหรือเข้าใกล้ หรือ แม้จะต้องคบหาสมาคมก็ต้องทำอย่างระมัดระวัง ตั้งใจไม่ประมาท นอกจากนี้ต้องมีเมตตาสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ มีความสามารถในการสื่อสารเป็นอย่างดี มีมิตรภาพกับคนดีทุกคน
ในวาระที่ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ จะได้เข้าไปทำหน้าที่แทนปวงชนชาวไทยในสภาอันทรงเกียรติตามเวลาที่กำหนด ขอให้ทุกคนภูมิใจที่ได้รับฉันทานุมัติให้ทำหน้าที่อันทรงเกียรติครั้งนี้ ขอให้ทุกท่านปฏิบัติหน้าที่โดยธรรม ถือความถูกต้องสอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายเรื่องต่างๆ กฎระเบียบจรรยาบรรณ ตลอดถึงศีลธรรมอันดีของสังคม เพื่อความเจริญรุ่งเรืองสงบร่มเย็นมั่งคั่งสมบูรณ์ของประเทศชาติ และประชาชนทั่วทั้งแผ่นดิน ขออวยพรให้ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จงประสบความสำเร็จในการทำงานโดยธรรมในครั้งนี้ด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ
ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ
เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
วันที่ 24 มีนาคม 2562 เวลา 19.16 น.