สำนักปฏิบัติธรรม

By | 10/23/2018

หากได้ศึกษาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาจากพระไตรปิฎก หรือ วรรณกรรมอื่นๆ ในพระพุทธศาสนาจะพบว่า การบวชของภิกษุ หรือ ภิกษุณีส่วนใหญ่มีจุดประสงค์การบวชที่ชัดเจน คือ บวชเพื่อทำนิพพานให้แจ้ง เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ แม้เวลาที่พระพุทธเจ้าทรงประทานการบรรพชาอุปสมบทแก่พระภิกษุในยุคต้นพุทธกาลก็ทรงตรัสว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด” ก็เป็นการชี้เป้าหมายของการบรรพชาอุปสมบทที่ชัดเจนว่า เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ หรือ ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

ในคำประทานการบรรพชาอุปสมบทนั้นยังตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า “เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เป็นวิถีที่จะบรรลุถึงพระนิพพาน” หรือ การทำที่สุดแห่งทุกข์นั่นเอง การประพฤติพรหมจรรย์นี่เอง ปัจจุบันนี้เรียกกันง่ายๆ ว่า การปฏิบัติธรรม เมื่อค้นคว้าต่อไปก็จะพบว่า การประพฤติพรหมจรรย์ คือ การปฏิบัติไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ และปัญญา หรือ บางแห่งก็ใช้คำว่า อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา

รูปแบบของการประพฤติพรหมจรรย์ในสมัยต้น กลาง หรือปลายพุทธกาล ก็คล้ายๆ กันคือ เมื่อพระภิกษุบวชแล้ว ได้ศึกษาพระธรรมวินัยในสำนักของพระพุทธเจ้าตามสมควรแล้ว เมื่อมีพระเถระหรือพระมหาเถระที่มีพรรษายุกาลมาก มีความรู้ด้านพระธรรมวินัยเป็นอันดีมากราบลาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อไปเจริญสมณธรรมในป่า หรือ อีกนัยหนึ่งมาขอกัมมัฏฐานจากสำนักของพระพุทธเจ้าแล้วไปหาสถานที่สงัดเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม จะมีพระภิกษุที่พรรษาอ่อนกว่า ขออนุญาตพระสัมมาสัมพุทธเจ้าติดตามพระมหาเถระเหล่านั้นไปบำเพ็ญสมณธรรมด้วย

วรรณกรรมบาลียังระบุว่า จำนวนพระภิกษุที่มากราบลาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปบำเพ็ญสมณธรรมนั้น จำนวน 30 รูปบ้าง 100 รูปบ้าง ตามความเหมาะสม การบำเพ็ญสมณธรรมนี้ก็คือ การปฏิบัติธรรมที่รับฟังมาจากสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง

เมื่อทำความเข้าใจเรื่องประเพณีการบวช จุดประสงค์การบวช การประพฤติพรหมจรรย์ การบำเพ็ญสมณธรรม และการแสวงหาสถานที่สำหรับบำเพ็ญสมณธรรมแล้ว เราก็คงจะเห็นวิวัฒนาการของสำนักปฏิบัติธรรมที่สืบทอดมาตามลำดับอย่างชัดเจน แม้ในสมัยพุทธกาลพระสาวกทั้งหลายจะจาริกเคลื่อนที่ไปในสถานที่ต่างๆ มิได้เป็นหลักแหล่ง แต่พระอารามต่างๆ ที่อุบาสกอุบาสิกาสร้างถวายสงฆ์ที่มาจาก 4 ทิศนั้นล้วนเป็นสถานที่เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรมทั้งสิ้น

ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยของเรา มีพระภิกษุสงฆ์ อุบาสกอุบาสิกาสนใจการปฏิบัติธรรมกันมากมาย จึงมีผู้มีจิตศรัทธาสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมเพื่อส่งเสริมให้ผู้ใคร่ธรรมเหล่านี้ได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมกันอย่างสะดวก สำนักปฏิบัติธรรม คือ สถานที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลายนั่นเอง สำนักปฏิบัติธรรมเหล่านี้ จะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เข้าปฏิบัติธรรมในเรื่องต่างๆ ตามสมควรเช่น

  1. ที่พักอาศัย สงบ มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกตามความจำเป็นแก่ผู้มุ่งปฏิบัติธรรมตามสมควร เพราะผู้มุ่งปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ ตั้งใจใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ยินดีด้วยสิ่งที่มีอยู่ นำกาย วาจา และใจสู่การปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง
  2. การเดินทางไปมาสะดวก สถานที่ปฏิบัติธรรมไม่ใกล้ไม่ไกลชุมชนนัก ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถเดินทางไปมาได้สะดวก เมื่อมีความจำเป็น เช่น ป่วยไข้กะทันหันจำเป็นต้องใช้หยูกยาก็สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วทันเวลา
  3. มีพระมหาเถระผู้รู้พระธรรมวินัยดี มีปฏิปทาเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป คอยให้คำแนะนำเมื่อมีข้อข้องใจหรือมีเหตุติดขัดในการปฏิบัติธรรมที่กำลังดำเนินไปนั้น ให้ดำเนินต่อไปได้ด้วยดีไม่มีข้อขัดข้อง
  4. มีกัลยาณมิตรที่เข้าใจกัน เป็นผู้ใฝ่ธรรมเหมือนกัน คอยเป็นกำลังใจให้แก่กันและกัน เพื่อสนับสนุนให้การปฏิบัติธรรมมีความก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปตามสมควรแก่ความพากเพียรพยายามที่ทุ่มลงไปอย่างเต็มที่
  5. อาหารที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การปฏิบัติธรรมก้าวหน้า เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า “ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง” คนที่ความหิวบีบคั้นย่อมปฏิบัติธรรมได้ลำบาก อาหารที่รับประทานแล้ว ช่วยกำจัดความหิว มิให้กระวนกระวาย อาหารไม่มากมายจนเป็นเหตุให้ง่วงเหงาหาวนอน ย่อหย่อนผ่อนคลายความเพียร แต่ต้องเพียงพอต่อการยังอัตภาพให้เป็นไปอย่างผาสุก ไม่มีโทษใดๆ แอบแฝง เพิ่มพลังเพิ่มแรงให้บำเพ็ญความเพียรต่อเนื่องไม่สะดุดหยุดลง
  6. อากาศสบายไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป จนเป็นเหตุป่วยไข้ได้ง่าย สถานที่อยู่ต้องโล่งโปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ปิดทึบอึดอัด อากาศดีช่วยให้ผู้ปฏิบัติธรรมมีความสดชื่นเบิกบาน ไม่ฟุ้งซ่าน หรือ ง่วงเหงาซึมเซา
  7. วิธีปฏิบัติธรรมมีความเหมาะสมกับผู้ปฏิบัติ ไม่อึดอัดรำคาญ ต้องทดสอบตรวจสอบให้แน่ชัดว่า การยืน เดิน นอน หรือ นั่งท่าไหน เลือดลมเดินสะดวก ส่งเสริมการภาวนาให้ดำเนินไปสู่ความสงบและมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมอย่างสม่ำเสมอ

นับเป็นโชคดี ประเทศไทยมีสำนักปฏิบัติธรรมกระจายอยู่ทุกพื้นที่ พร้อมจะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลาย ผู้ปรารถนาหาโอกาส หาสถานที่ฝึกฝนอบรมตนทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวตามความสะดวกตามสติกำลัง นับเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตอย่างสมดุลทั้งกายและจิต ที่พุทธศาสนิกชนเห็นคุณค่าแห่งการภาวนาแล้วช่วยกันเสียสละกำลังกาย กำลังใจและกำลังทรัพย์สร้างกันขึ้นมาด้วยศรัทธาอย่างแท้จริง

ประโยชน์ของสำนักปฏิบัติธรรมมีมากมาย แต่ที่เห็นได้ชัดคือ

  1. ส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้สมาทานศีลอันเป็นเหตุแห่งการยุติการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน เป็นการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นกับตนเองและสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นแก่สังคมทั้งในขณะที่กำลังปฏิบัติธรรมและนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
  2. ส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้เจริญสมาธิภาวนา ได้เพิ่มพูนสติสัมปชัญญะอันเป็นธรรมะที่จำเป็นต่อการรักษาจิต รักษาชีวิต รักษาทรัพย์สิน ให้ดำรงอยู่อย่างถูกต้องดีงาม ปลอดภัยและยั่งยืน
  3. ส่งเสริมการดำรงชีวิตอยู่อย่างไม่ประมาทด้วยการเจริญสมาธิภาวนาที่ฝากกายใจไว้ที่สติ ตามหลักแห่งพระปัจฉิมโอวาทว่า “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด” การเจริญสมาธิภาวนาคือ การดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท ทุกลมหายใจ ทุกความเคลื่อนไหว และทุกก้าวย่าง
  4. หน้าที่ร่วมกันของของสำนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย คือ ส่งเสริมคนรักดีให้ได้ทำดี พูดดี คิดดี คบคนดีและอยู่ในสถานที่ดีๆ อย่างปลอดภัย ได้ประกอบกรรมดีทางกาย วาจา ใจ ตามแรงปรารถนาแห่งมหากุศลที่ตนปรารถนาแล้ว
  5. สำนักปฏิบัติธรรมส่งเสริมการนำเอาธรรมะที่เป็นองค์ความรู้ทั้งหลายมาปฏิบัติให้เป็นจริงๆ ผ่านกิจกรรมและข้อวัตรปฏิบัติอันสอดคล้องกับพระธรรมวินัยที่พร้อมใจกัน กำหนดหมาย ยอมรับด้วยความเต็มใจ ปฏิบัติตามร่วมกัน เพื่อความสมัครสมานสามัคคีสงบสุขของผู้ร่วมปฏิบัติทุกคน ข้อวัตรปฏิบัติเหล่านี้ เป็นพลังหนุนให้มีความคุ้นเคยใกล้ชิดกับพุทธธรรมยิ่งขึ้น
  6. ส่งเสริมความสงบสุขของสังคม หมู่บ้าน ตำบล อำเภอหรือจังหวัดใด มีสถานปฏิบัติธรรมมาก ประชากรในท้องถิ่นนั้นสนใจการปฏิบัติธรรมมาก จำนวนอาชญากรรม โจรกรรม จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ลดความล่มสลายของครอบครัว ยุติการกล่าวร้ายแก่กันอย่างไร้สติ ลดอุบัติเหตุอุบัติภัยทุกประเภทลงได้อย่างมากมาย เป็นที่ประจักษ์กันมาแล้วว่า สำนักปฏิบัติธรรมที่มีอยู่โดยทั่วไปมีแต่คุณไม่มีโทษใดๆ ยิ่งมีสำนักปกิบัติธรรมมากเท่าไร ความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาก็มีมากเท่านั้น เพราะความเจริญอย่างยั่งยืนของพระพุทธศาสนาที่แท้จริงอยู่ที่พุทธบริษัท นำธรรมะมาปฏิบัติจนได้ผลเป็นความสงบร่มเย็นแล้วช่วยกันรักษา และสืบต่อไปยังคนรุ่นต่อๆ ไปด้วยการตระหนักในคุณค่า มิใช่สักแต่ว่าทำตามๆ กันมา

แม้สำนักปฏิบัติธรรมที่มีอยู่ในประเทศไทย และมีสาขาในต่างประเทศหลายๆ แห่งในเวลานี้ จะมีวิธีสอนในรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่หลักการร่วมที่เหมือนกันคือ ต้องการให้ผู้ปฏิบัติได้รับความสงบพบปัญญา เข้าใจชีวิตและโลกตามความเป็นจริง อันจะทำให้ผู้ปฏิบัติดำรงชีวิตอยู่ในโลกท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกเวลานาทีอย่างรู้เท่าทัน ด้วยจิตใจที่มั่นคงสงบเย็นเป็นสุขตามสมควรแก่ธรรมะที่ได้ปฏิบัติแล้ว ดั่งพระพุทธภาษิตที่ว่า             “ธัมโม สุจิณโณ สุขมาวหาติ ธรรมะที่ประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้” สถานที่ปฏิบัติธรรมจึงเป็นแดนสุขาวดีบนโลก ที่จะมอบความสุขให้แก่ผู้ตั้งใจปฏิบัติธรรมทุกคน

วันที่ 19 ตุลาคม 2561 เวลา 16.30 น.

วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย

ดร.พระมหาจรรยา  สุทฺธิญาโณ

เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา

Leave a Reply