สามัญญลักษณะ
สามัญญลักษณะ แปลตรงตัวว่า ลักษณะที่เหมือนกันของสิ่งทั้งปวง มีอยู่สามประการคือ อนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกขัง (ทนได้ยาก) อนัตตา (มิใช่ตัวตน)
สามัญญลักษณะนี้เป็นอมตธรรมดำรงอยู่ตลอดกาล ทำหน้าที่ควบคุมสรรพสิ่งตั้งแต่ธุลีดินไปถึงโลกและดวงอาทิตย์ในสากลจักรวาลให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในนิยามสูตรอันว่าด้วยเรื่องพระธรรมเป็นผู้กำหนดว่า พระตถาคตจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา มีอยู่ตลอดเวลา พระองค์เป็นผู้มาตรัสรู้และนำมาบอกกล่าวเล่าให้ฟัง เปิดเผยให้ทราบเท่านั้น
พระองค์ตรัสว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เป็นอย่างนี้อยู่เสมอ
พระพุทธเจ้าทรงตรัสอธิบายวิธีพิจารณาความไม่เที่ยงและความเป็นอนัตตาไว้ในคิริมานนทสูตรว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง
แม้เรื่องความไม่เที่ยงจะเป็นกฎธรรมชาติที่ควบคุมสรรพสิ่งครอบคลุมไปทั่วสากลจักรวาลก็ตาม แต่หากพิจารณาเพื่อความพ้นทุกข์ พระองค์ทรงนำพระพุทธสาวกให้กลับมาสู่ชีวิตเพื่อพิจารณาขันธ์ห้าอันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของชีวิตว่า ไม่เที่ยง
พระองค์ได้ทรงสั่งสอนวิธีพิจารณาอนัตตาเอาไว้ว่า ตา เป็นอนัตตา หู เป็นอนัตตา จมูกเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา กาย เป็นอนัตตา ใจ เป็นอนัตตา นี่คือ อายตนะภายใน ที่แปลว่า รอยต่อ หรือจุดเชื่อมแห่งองค์ความรู้ซึ่งเชื่อมกับอายตนะภายนอก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ แล้วเกิด วิญญาณ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ตามลำดับ
พระพุทธเจ้าสอนว่า ทั้งอายตนะภายนอกและอายตนะภายในที่ทำหน้าที่ต่อกันเพื่อให้เกิดความรู้นี่แหละเป็นอนัตตาหมด ไม่มีอะไรที่เป็นอัตตาเลยแม้แต่เรื่องเดียว ดังที่พระองค์ทรงตรัสสอนเสมอว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
คำว่า ธรรมในที่นี้แปลว่า ธรรมชาติ ซึ่งครอบคลุมทั้งกายทั้งจิต ทั้งนาม ทั้งรูป ไม่มีข้อยกเว้นแม้แต่พระนิพพานอันเป็นสภาวธรรมสูงสุด
ในอนัตตลักขณสูตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสลักษณะของอนัตตาไว้ชัดเจนว่า จะไม่สามารถบังคับบัญชาหรือขอร้องขันธ์ห้า ว่า อย่าให้ป่วย อย่าให้เป็นอย่างนั้น อย่าให้เป็นอย่างนี้ จงเป็นอย่างนั้นจงเป็นอย่างนี้ ใดๆ ได้เลย
ในอนัตตลักขณสูตรเช่นกัน พระองค์ตรัสลักษณะเด่นของ ทุกข์ ไว้ว่า สิ่งใด ไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา
คำว่า มีความแปรปรวนเป็นเป็นธรรมดา คือ คำจำกัดความของคำว่าทุกข์ ที่ครอบคลุมสังขารทั้งที่มีใจครองและไม่มีใจครองทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมไปได้ทั้งหมด สิ่งใดสิ่งหนึ่งปรากฏแล้วย่อมแปรปรวนไป เป็นธรรมดา ความแปรปรวนนี้เป็นผลตามกระบวนการลูกโซ่มาจากความไม่เที่ยงนั่นเอง
เป้าหมายของความเข้าใจเรื่องไตรลักษณ์ หรือกระทำให้แจ้งเรื่องไตรลักษณ์อยู่ที่ การไม่สำคัญมั่นหมายว่าเป็นเราหรือเป็นของเราตามพระพุทธพจน์ที่ว่า ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา
พระองค์ได้ทรงแสดงสัจธรรมนี้แก่ปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี เมื่อปัญจวัคคีย์สดับธรรมตามพระองค์ไป ได้ประจักษ์แจ้งสามารถแทงตลอดธรรมนั้น แล้วตอบพระพุทธองค์ว่า ไม่ควรเลยพระพุทธเจ้าข้า
ตามประวัติเล่าว่า ครั้งแรกพระพุทธเจ้าแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร พระอัญญาโกณฑัญญะเท่านั้นที่บรรลุเป็นพระโสดาบันด้วยบทสรุปว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นจากเหตุเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงก็ดับไปเพราะเหตุเป็นธรรมดา
ต่อมาพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเบ็ดเตล็ดอีกระยะหนึ่ง ปัญจวัคคีย์ทั้งหมดบรรลุพระโสดาบัน จากนั้นพระองค์จึงเรียกประชุมพระปัญจวัคคีย์มาฟังอนัตตลักขณสูตรพร้อมกัน นำให้พระปัญจวัคคีย์บรรลุพระอรหันต์ พร้อมกัน
เป้าหมายหลักของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงขันธ์ห้าว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพื่อให้สาวกเข้าถึงความจริง ปล่อยวางทุกสิ่งเข้าสู่พระนิพพานนั่นเอง
แม้พระองค์จะตรัสถึง ทั้งอนิจจัง ทุกขังและอนัตตาอย่างละเอียดละออยิ่ง แต่เพราะจุดเน้นเป้าหมายปลายทางอยู่ที่อนัตตา จึงเรียกสูตรนี้ว่า อนัตตลักขณสูตร
เนื้อหาสาระแห่งไตรลักษณ์หลักๆ ที่พอจะประมวลมาเล่าสู่กันฟังย่อๆ ขอยุติแค่นี้ก่อนโอกาสหน้าจะมาเล่าสู่กันฟังใหม่ ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านจงเข้าถึงพระไตรลักษณ์ถอนรักถอนชังในขันธ์ห้า เข้าถึงความร่มเย็นแห่งบรมธรรมตามลำดับเทอญ
วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า มลรัฐแคลิฟอร์เนีย
วันที่ 20 กรกฎาคม 2558
เวลา 8.10 น.
ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ
เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา, วัดพุทธธรรมและวัดลอยฟ้า
www.buddhapanya.org & www.skytemple.org