สันติวิธี

By | 04/15/2020

ขณะนี้ประชาชนทั่วทุกมุมโลก ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลในประเทศของตนให้ปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน คือ Social distancing อยู่ห่างกัน   โรงงาน สถานบริการ ธุรกิจหลายชนิดต้องปิดตัวลงเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ประชาชนจำนวนมากจึงต้องอยู่กันแต่ในบ้าน เพื่อไม่ไปรับเชื้อโควิด-19 และไม่นำเชื้อโควิด-19 ไปแพร่ให้แก่ใคร    ในชีวิตปกติ ประชาชนต้องออกจากบ้านไปทำงาน ต้องพบปะสังสรรค์ มีปฏิสัมพันธ์กันในสถานที่ทำงานหรือในสถานเริงรมย์ต่างๆ กินดื่มเที่ยวเล่นอย่างเสรี พอมาถูกกักตัวแบบนี้เป็นเวลานานๆ จิตใจเริ่มดิ้นรนกระวนกระวาย เพราะไม่คุ้นเคยกับการอยู่นิ่งๆ กับที่นานๆ

ประชาชนกลุ่มหนึ่งเมื่อพบว่า โควิด-19 นี้ มิใช่มีผลกระทบทางกายเท่านั้น แต่มีผลกระทบทางใจด้วย จึงเริ่มหันหน้ามาสนใจเรื่องทางจิตใจมากขึ้น แสวงหาแนวทางที่จะเข้าถึงความสงบ เพื่อให้ใจได้พักไม่ดิ้นรนกระวานกระวาย หากไม่รีบฝึกฝนจิตให้สงบอาจจะพบกับโรคประสาทมาเยือนอีกโรคหนึ่งก็เป็นได้ มีคนหลายคนถามมาเหมือนกันว่า พอมีวิธีง่ายๆ ที่จะยังใจให้สงบได้ไหม จึงขอแบ่งปันตามประสบการณ์ที่เคยปฏิบัติมาโดยมีจุดมุ่งหมายง่ายๆ ว่า กายอยู่ไหน ใจอยู่นั่น สัก 3 หรือ 4 วิธี

1. เมื่อว่างจากกิจวัตรประจำวันที่จะพึงกระทำตามความจำเป็น และรู้สึกว่า มีเวลาว่างจริงๆ หาสถานที่ที่สงบ เช่น ในสวน ในทุ่งนา ใต้ร่มไม้ หากอยู่ในสังคมเมือง มีเนื้อที่ไม่กว้างขวางนัก ขอแนะนำห้องนอนของตนนั่นเอง เวลานั่งจะนั่งบนเก้าอี้ หรือนั่งบนเตียงก็ได้ เมื่อรู้สึกว่า นั่งแล้วสบาย เลือดลมเดินได้สะดวก ก็เทความสนใจไปที่ลมหายใจออกและหายใจเข้า ตัดความสนใจอื่นๆ ออกไปชั่วขณะตั้งใจว่า จะนำกายกับใจมาอยู่ใกล้ๆ กัน หายใจเข้ารู้สึกว่า สบาย หายใจออกรู้สึกว่า ผ่อนคลาย ทำไปแบบสบายๆ ไม่ต้องบังคับ หายใจตามธรรมชาติ สัมผัสความรู้สึกสบายและผ่อนคลายไปเรื่อยๆ

2. หากนั่งไปสักระยะหนึ่ง เมื่อจิตใจแนบแน่นใกล้ชิดกับกายสัมผัสได้ถึงความสงบ ก็สัมผัสกับความรู้สึกดีๆ มีความสุขนั้นอย่างซื่อๆ ยอมรับความสุขอันเกิดจากความผ่อนคลายนั้น แต่ไม่เผลอ   ดึงความรู้ตัวกลับมาที่ลมหายใจต่อไป เหมือนเดินทางเข้าตามสวนสาธารณะแม้พบสวนดอกไม้งามก็ชมพอสมควรแล้วเดินผ่านไปที่อื่น

3. ในชีวิตปกติธรรมดา ต้องมีการเคลื่อนไหว เช่น การยืน เดิน วิ่ง และการทำกิจกรรมต่างๆ ต้องใช้ความเคลื่อนไหวทั้งสิ้น ความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นเมื่อไร ก็เทใจไปสู่ความเคลื่อนไหวนั้น ทำแบบสบาย ผ่อนคลาย ไม่ต้องบังคับบัญชา ปล่อยความเคลื่อนไหวเป็นไปตามธรรมชาติ เพียงใส่ความรู้สึกต่อทุกความเคลื่อนไหวนั้น แบบสบายๆ ใกล้ชิด เป็นกันเอง

4. วางใจไว้ในสัมผัส   ในชีวิตแท้ๆ ล้วนมีการสัมผัสมากมาย ตั้งแต่ลืมตาจนกระทั่งหลับตาทีเดียว จะเข้าห้องน้ำ จะหั่นผัก ต้มแกง ผัด ถูพื้น หิ้วของ ดูดฝุ่น ขับรถ ล้างจาน ล้วนต้องใช้สัมผัสทั้งสิ้น ปล่อยให้สัมผัสนั้นดำเนินตามความถนัด เพียงแต่ใส่ความรู้ตื่นเข้าไปในทุกสัมผัส มากเท่าที่จะใส่ได้ เพียงตั้งใจในตื่นรู้ก็เป็นมหากุศลยิ่งแล้ว

5. การฟังธรรมจากยูทูป ปัจจุบันนี้มีธรรมะหลากหลายมีทั้งแนวสงบ แนวธรรมดา แนวซุปเปอร์ฮาเลือกฟังตามชอบใจ การฟังธรรมเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้ใจสบายและผ่อนคลายมากอีกวิธีหนึ่ง   ลองตรวจดูว่า ชอบแนวธรรมแบบไหนก็ตั้งใจฟังแนวทางนั้น หลายท่านเล่าให้ฟังว่า ไม่เคยสนใจธรรมะมาก่อน แต่ตอนนี้ชอบฟังธรรม ชอบภาวนา เพราะเป็นความสุขเพียงอย่างเดียวที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม

เมื่อชีวิตต้องเปลี่ยน ทำใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงอย่างเท่ห์ เปลี่ยนห้องนอนให้เป็นห้องภาวนา เปลี่ยนบ้านทั้งบ้านเป็นสถานปฏิบัติธรรม นำใจที่เคยท่องเที่ยวไป กลับมาอยู่ใกล้ๆ เป็นเพื่อนกาย เมื่อกายกับใจอยู่ด้วยกัน จะไม่มีโลกแห่งความฝัน จะมีแต่ความจริงแท้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปัจจุบันขณะ คือเวลาแห่งความจริงแท้ ที่ไม่มีสิ่งใดเข้ามาแทรกแซงได้ ความสะอาด สว่าง สงบมีครบอยู่ในนั้น ขอเพียงรู้แจ้งต่อปัจจุบันขณะให้เพียงพอ ความทุกข์ใดๆ ก็ไม่รบกวน เมื่อความสุข อยู่ใกล้ๆ หาได้ฟรีๆ แล้วจะหนีไปแสวงหาความสุขที่ไหนกันเล่า

วันที่ 15 เมษายน 2563 เวลา 6.12 น.

วัดอุโมงค์ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

ดร.พระมหาจรรยา  สุทฺธิญาโณ

Leave a Reply