เมื่อกระแสข่าวการฆ่าล้างวัดที่จังหวัดนราธิวาสเบาบางสร่างซาลง ข่าวใหม่ที่เข้ามาแทนกระแสข่าวการฆ่าล้างวัด คือ พระพุทธศาสนาในระบบการศึกษาไทย ควรจะอยู่ ณ จุดใด เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ แต่ได้รับการกล่าวถึงและแสดงความคิดเห็นกันมาแต่อดีตแล้ว บางเวลาเรื่องนี้ก็ได้รับความสนใจจากสังคมสูง มีคนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเผ็ดร้อนกว้างขวาง ความคิดเห็นแตกต่างกันออกไปตามภูมิหลังและเจตจำนงของผู้แสดงความคิดเห็น อาตมาไม่มีข้อมูลการวิจัยหรือหลักวิชาใดๆ มายืนยันหรืออ้างอิงในการเขียนบทความชิ้นนี้ ขอเพียงพื้นที่แสดงความคิดเห็นตามหน้าที่พลเมืองไทยในฐานะหลวงตาในพระพุทธศาสนารูปหนึ่ง ที่มีอายุไม่น้อยกว่าผู้เกษียณอายุจากทางราชการทั้งหลาย ความเห็นต่างๆ เป็นเรื่องของประสบการณ์มากกว่าวิชาการ แต่มีความปรารถนาดีเป็นพื้นฐาน ที่จะเสนอไว้ให้ท่านที่มาพบเจอได้อ่านและแสดงความคิดเห็น เพื่อหาที่อยู่ให้กับวิชาพระพุทธศาสนา หรือวิชาศีลธรรมที่เคยเรียกขานกันมาอย่างเหมาะสม
การเดินทางของวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียน มีความเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงมาตามลำดับพอจะฉายภาพกว้างๆ ให้เห็นได้ดังนี้
- นักการศึกษาที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมที่เติบโตมาในยุคก่อนหรือกึ่งพุทธศตวรรษ ย่อมคุ้นเคยกับวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรมเป็นอย่างดี เนื้อหาสาระของการเรียนการสอนมีทั้งโดยตรงและโดยอ้อมที่ผสมผสานอยู่ในวิชาต่างๆ เช่น ภาษาไทยและสังคมศึกษา นักการศึกษาเหล่านี้มีความเชื่อมั่นว่า การศึกษาทำให้มนุษย์มีความเจริญเติบโตทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม และทัศนคติ วิชาศีลธรรมที่จัดเข้าไปในหลักสูตรมีส่วนในการส่งเสริม ความเจริญงอกงามด้านจิตใจ สติปัญญา อารมณ์ และทัศนคติโดยตรง
- ต่อมามีนักการศึกษาอีกกลุ่มหนึ่ง ได้พิจารณาเห็นว่า โลกกำลังก้าวเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ มากมาย ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จะมีผลกระทบต่อจิตใจของเยาวชนตลอดถึงวัยรุ่นและผู้ใหญ่ไม่น้อย หากไม่มีจิตใจที่แข็งแกร่งที่ประกอบไปด้วยปัญญาอันเฉียบคมและชาญฉลาดเพียงพอ ก็จะไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาดุจสายน้ำป่าคราพายุฝนได้ จึงมีการปรับปรุงจากวิชาหน้าที่พลเมืองศีลธรรม เป็นการเรียนวิชาพระพุทธศาสนาโดยตรง แม้จะเรียนสัปดาห์ละหนึ่งคาบๆ ละ 50 นาทีก็ตาม แต่การมีเนื้อหาการเรียนการสอนที่ค่อนข้างเจาะลึก ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวของบุคลากรทางการศึกษา ครูบาอาจารย์ และพระสงฆ์ที่เตรียมพร้อมในการสอนวิชาพระพุทธศาสนาหลักสูตรใหม่กันอย่างคึกคัก การประชุมสัมมนาทางพระพุทธศาสนามีตั้งแต่ศาลาวัดถึงโรงแรมหรูกลางกรุง เพื่อขับเคลื่อนวิชาพระพุทธศาสนามากล่อมเกลาจิตใจของเยาวชนให้เข้าถึงธรรมะจนสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ การเรียนการสอนในชั้นมัธยมมีหลักสูตรเกี่ยวกับสมาธิภาวนา และเรื่องการเกิดทุกข์และการดับทุกข์อยู่ในหลายบท ที่ปลุกให้ครูอาจารย์ตื่นตัวนำเยาวชนเข้าวัดศึกษาพุทธศาสนาและเจริญภาวนากันอย่างจริงจัง จนก่อให้เกิดกระบวนการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาเสริมนอกโรงเรียนที่เรียกว่าค่ายคุณธรรมอย่างกว้างขวาง เป็นอันว่าการที่ผู้ใหญ่ตั้งใจทำอะไรให้แก่เยาวชน ผลที่ได้ก่อนทันทีคือผู้ใหญ่ได้รับความรู้ทางพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งกว้างขวาง
- เนื่องจากอาตมาต้องมีภารกิจมาปฏิบัติหน้าที่พระธรรมทูตประจำที่สหรัฐอเมริกา 10 กว่าปีแล้ว ขาดการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในด้านนี้อย่างลึกซึ้ง แต่รับข้อมูลทางสื่ออย่างผิวเผินจึงไม่ทราบทิศทางของวิชาพระพุทธศาสนาว่า สิบกว่าปีที่ผ่านมาโรงเรียนต่างๆ จัดวางวิชาพระพุทธศาสนาไว้ในจุดใด แต่การรับข้อมูลอย่างผิวเผินทำให้ทราบว่า วิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนถูกเขย่าจนสั่นคลอนเป็นระยะทั้งจากนักการศึกษาและนักเรียนหัวก้าวหน้า ที่พยายามเคลื่อนไหวเรียกร้องวิพากษ์วิจารณ์เพื่อถอดวิชาพระพุทธศาสนาออกจากวิชาแกนที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้เหมือนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษโดยมีเหตุผลมากมายหลายประการ เช่น นักเรียนที่มุ่งมั่นเรียนหนังสือเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือ เน้นการงานอาชีพก็มักจะบ่นว่า เรียนวิชาพระพุทธศาสนา เสียเวลาเพราะนำไปใช้อะไรไม่ได้ ไม่มีความสำคัญต่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือ การสอบเข้าทำงานแต่ปะการใด บางพวกก็มองว่า การบรรจุวิชาพระพุทธศาสนาไว้ในกลุ่มวิชาหลักนั้น ทำให้กระทบต่อนักเรียนที่มิได้เป็นพุทธศาสนิกชน ต้องกัดฟันเรียนวิชาที่ตนมิได้นับถือ หากไม่ตัดวิชาพระพุทธศาสนาออกไปจากโรงเรียน ก็ควรจะจัดไว้ในกลุ่มวิชาเลือกเสรีเท่านั้น ใครอยากจะเรียนก็เรียน หากไม่อยากเรียนก็ไม่ต้องเรียน เรียกว่าจัดการเรียนการสอนตามใจผู้เรียนเป็นหลัก ไม่ควรบังคับให้ใครต้องเรียนศาสนาเพราะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล การบังคับให้เรียนศาสนาอาจจะขัดหลักสิทธิและเสรีภาพสากลเบื้องต้นก็เป็นได้
- นักการศึกษาอีกส่วนหนึ่ง ที่มองการเรียนพระพุทธศาสนาตามกระแสโลกาภิวัฒน์มองว่า โลกปัจจุบันแคบลง คนต่างศาสนาที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยมีมากขึ้น หากไปเน้นการเรียนการสอนศาสนาใดๆ ศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ อาจจะมีผลกระทบต่อสังคมพหุวัฒนธรรมได้ นักการศึกษากลุ่มนี้มองว่า คำว่า พุทธศาสนาแสลงใจคนนอกศาสนามาก ทำให้พวกเขาไม่สบายใจอันเป็นเหตุเกิดความขัดแย้งอันนำไปสู่การก่อการร้ายได้ จึงควรตัดคำว่า พระพุทธศาสนาออกไปจากหลักสูตร ไม่ต้องมีทั้งวิชาแกนและวิชาเลือก แต่ถ้าหากจะคงตัวคุณธรรมของศาสนาไว้ในภาษาร่วมสมัยที่ไม่ต้องมีศัพท์แสงภาษาบาลีกำกับที่บ่งบอกอัตลักษณ์ของพระพุทธศาสนา ก็น่าจะรับได้ คุณธรรมต่างๆ ที่เป็นสากล เช่น ความเพียร ความอดทน ความรัก ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์สุจริต ความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน การเคารพความเป็นมนุษย์ หน้าที่ของมนุษย์ โดยไม่ต้องระบุจำเพาะเจาะจงว่าเป็นคุณธรรมของศาสนาใด อันทำให้ศาสนิกชนทุกศาสนารู้สึกว่า คุณธรรมเหล่านี้มาจากศาสนาของตนเช่นกัน จะไม่รู้สึกถึงความขัดแย้ง และสามารถหาจุดร่วมทางสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันด้วยสันติมากขึ้น ส่วนใครจะเรียนศาสนาของตนให้ลึกซึ้งเพียงใด ก็เป็นเสรีภาพส่วนบุคคลที่จะไปแสวงหากันเองตามศาสนสถานโดยที่โรงเรียนหรือระบบการศึกษาชาติไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง คงเดินหน้าจัดการศึกษาเพื่อให้บุคลากรของชาติพร้อมที่จะแข่งขัน ช่วงชิง ครอบครองทรัพยากรธรรมชาติข้าวของเงินทองตามอำนาจของ ความโลภ โกรธ หลง มาเป็นของตนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อมุ่งสร้างสรรค์คนร่ำรวยของประเทศหรือของโลกขึ้น แม้ว่าในการแข่งขันนั้นจะเห็นแก่ตัว สร้างความเดือดร้อนต่อบุคคลอื่นมากน้อยเพียงใดไม่ต้องคำนึงถึง ต้องเดินให้ถึงเป้าหมายคือ ความมั่งคั่งร่ำรวยเป็นเรื่องที่น่านับถือยกย่อง นักการศึกษากลุ่มนี้ปรารถนาที่จะแยกศาสนาออกไปจากรัฐให้เป็นเรื่องปัจเจกบุคคลที่มีเสรีภาพจะเลือกได้ตามความพอใจของตน
เท่าที่ได้ฟังข้อมูลมาจากแหล่งข่าวต่างๆ คงจะได้ภาพกว้างๆ เพียงแค่นี้ มองดูสถานะของพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาซึ่งเคยเป็นวิชาแกนที่ได้รับการดูแลอย่างดีมายาวนานตั้งแต่การศึกษาไทยเริ่มก่อร่างสร้างตัวในวัด คงจะถึงวาระถูกตัดหางปล่อยวัดหรือส่งกลับวัดอย่างเป็นทางการเสียแล้วกระมัง
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะคงสถานะของวิชาพระพุทธศาสนาไว้ในหลักสูตรของการศึกษาไทยจะในกลุ่มไหนก็ตาม หรือจะส่งกลับวัดให้เป็นเรื่องของพระภิกษุสงฆ์และคนที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา เพื่อนำชาติไทยก้าวเข้าสู่ความเป็น Secular state คือ รัฐฆราวาสที่นักการศึกษา นักเรียน หรือนักการเมืองที่เรียกกลุ่มตัวเองว่า กลุ่มก้าวหน้าชอบฝันถึง สังคมไม่ควรปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านพ้นไปง่ายๆ และเงียบหายไปกับสายลม แต่ควรที่จะใช้วิถีประชาธิปไตยแสวงหาคำตอบเรื่องนี้ร่วมกัน กระบวนการประชาธิปไตย ที่เน้นการทำความเข้าใจร่วมกันโดยผ่านการประชุมพูดคุยทั้งวงเล็กวงใหญ่ ใช้สื่อต่างๆ ที่มีอยู่อย่างดาษดื่น ในการสื่อสารทำความเข้าใจอย่างกว้างขวาง ดูทิศทางและแนวโน้มว่าน่าจะวางวิชาพระพุทธศาสนาไว้ในสถานะใดที่ทุกฝ่ายเข้าใจยอมรับได้ ไร้ความขัดแย้ง โดยไม่ควรให้คนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กลุ่มเล็กๆ ใช้อคติส่วนตัวตัดสินอย่างไร้เหตุผลบนพื้นที่แห่งความจริงของสังคมไทยที่มีอยู่หลากหลายมิติ ขอฝากเรื่องนี้ให้พลเมืองไทยทุกคนใช้ระบอบประชาธิปไตยหาทางออกอย่างสันติได้พบคำตอบร่วมกันว่า จะวางวิชาพระพุทธศาสนาไว้ในจุดใดของการศึกษาไทย
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 5.00 น.
วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา
ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ