เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน2561 ที่ผ่านมา เป็นวันขอบคุณ(ThanksgivingDay) อันเป็นวันหยุดอย่างเป็นทางการวันหนึ่งของชาวอเมริกันปีนี้วันขอบคุณของชาวอเมริกัน และวันลอยกระทงของชาวไทยมาพ้องในวันเดียวกันอย่างน่าอัศจรรย์เมื่อพิจารณาถึงความเป็นมาของวันสำคัญทั้งสองวันที่เกิดขึ้นคนละซีกโลก แต่มีฐานทางธรรมร่วมกันคือ ความกตัญญูรู้คุณต่อบุคคลหรือ สิ่งที่เคยมีคุณ ความกตัญญูรู้คุณจึงเป็นหลักธรรมสากลที่มนุษย์ทั่วโลกรับรู้เข้าใจและปฏิบัติกันอยู่โดยทั่วไป ผ่านการดำเนินชีวิตประจำวัน พิธีกรรม วัฒนธรรมหรือ ประเพณีตามที่ประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ จะมีความเห็นพ้องต้องกันสร้างสรรค์ขึ้นมา
เมื่อวันขอบคุณและวันลอยกระทงที่ผ่านมา ประชาชนสามารถชมเทศกาลแห่งความสนุกสนานรื่นเริงของทั้ง 2 วันนี้ที่สื่อ ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้พร้อมๆกัน ชาวอเมริกันจัดขบวนแห่อย่างสวยงามอลังการในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ชาวไทยทั้งหลายก็จัดงานลอยกระทงขึ้นเกือบทั่วประเทศ ชุมชน หรือ หมู่บ้านใดตั้งอยู่ริมแม่น้ำลำคลองน้อยใหญ่ก็พากันลอยกระทง หรือ ใครมีเวลา มีทุนทรัพย์อยากจะเห็นงานลอยกระทงที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ก็มุ่งสู่นครเชียงใหม่ ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นเมืองหลวงแห่งวันธรรมลอยกระทง ซึ่งมีกิจกรรมต่างๆ ให้ประชาชนได้ร่วมสนุกและชื่นชมมากมาย
ที่มาแห่งการแสดงความขอบคุณของทั้งสองซีกโลก ก็ไม่แตกต่างกันมากนัก วันขอบคุณของชาวอเมริกันมาจากความซาบซึ้งต่อชาวพื้นเมือง หรือ พระเจ้าที่ช่วยให้ตนมีพืชพันธุ์ธัญญาหารรับประทานอย่างอุดมสมบูรณ์ ซึ่งไม่ต่างจากการขอบคุณน้ำ ซึ่งมีอยู่ใน ห้วย หนอง คลอง บึง แม่น้ำ และสายน้ำต่างๆ ที่มีคุณกับมนุษย์อย่างเหลือคณานับตามคติไทยแต่ยุคโบราณ ด้วยการจัดงานลอยกระทงเพื่อระลึกถึงคุณ บูชา ขอขมาต่อน้ำในทุกแหล่ง
วันขอบคุณของชาวอเมริกันมีเรื่องเล่าย่อๆ ว่า เมื่อชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งมีความปรารถนาดินแดนเสรีในการประกอบพิธีกรรม และปฏิบัติศาสนกิจตามความเชื่อของตน และปรารถนาดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ด้วยดินดำน้ำชุ่ม ที่ทำมาหากินได้ดีกว่าเดิม จึงรวบรวมสมัครพรรคพวกที่ไปประกอบศาสนกิจด้วยกัน จำนวน 103 คน รวมกับกัปตันและลูกเรือ เป็น 130 คน ได้เดินทางออกจากท่าเรือพลีมัท (Plymouth)ในประเทศอังกฤษวันที่ 6 กันยายน 1620 ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติคถึงอเมริกาเหนือแถบ รัฐแมสซาชูเซตส์ในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 1620 แล้วเดินเรือต่อไปทางใต้อีก 2 วันจึงจอดเรือเหยียบแผ่นดินที่ท่าเรือพลีมัทรอค เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 1620
เมื่อคณะผู้แสวงบุญและแสวงโชคลงจากเรือแล้ว ก่อนจะตั้งรกรากลงหลักปักฐาน ณ จุดนั้น ทุกคนได้ลงนามในสัญญา Mayflower Compact คือข้อตกลงร่วมกันว่าทุกคนจะปฏิบัติตามกติกาที่ได้ร่วมกันลงนามนั้น นี่คือ เมล็ดพันธุ์แห่งประชาธิปไตยที่พวกเขาได้ฝังลงในดินแดนที่เขาเรียก โลกใหม่ New World หรือ สวรรค์แห่งใหม่ New Heaven ที่พวกเขาใฝ่ฝันถึงและได้มายืนอยู่ต่อหน้าแล้ว
เนื่องจากเดือนพฤศจิกายน อากาศหนาวเหน็บตามลำดับ พวกผู้ชายทุกคนพยายามเร่งรีบทำงานหนักเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยป้องกันความหนาว ที่กำลังโจมตีเข้ามาทุกทิศทางโดยด่วน เนื่องจากความหนาวเหน็บ และหิมะเริ่มโปรยปรายและตกลงมาหนักขึ้นทุกวัน การทำงานเป็นไปอย่างล่าช้า แต่ไม่ช้าพวกเขาก็พอจะมีที่พักพิงหลับนอนได้บ้างแม้จะไม่หนาแน่นและอบอุ่นพอ เมื่อถึงเดือนมกราคม หิมะตกลงอย่างหนัก นักแสวงบุญเหล่านี้เจ็บป่วยล้มตายไปเกินครึ่งของจำนวนที่เดินทางมา เด็กหลายคนเป็นกำพร้าพ่อบ้างแม่บ้าง หรือ บางคนกำพร้าทั้งพ่อและแม่ ส่วนที่มีชีวิตอยู่ก็จัดการฝังศพที่พากันล้มเจ็บและตายดั่งใบไม้ร่วง และจากนั้นก็ช่วยกันดูแลเด็กๆ อย่างเต็มความสามารถตามเหตุปัจจัยที่จะอำนวย
ฤดูหนาวที่แสนโหดร้ายสำหรับพวกเขาผ่านพ้นไปอย่างเชื่องช้า และฤดูใบไม้ผลิก็ก้าวเข้ามาพร้อมกับนำความอบอุ่นมาฝากทุกคน อากาศอบอุ่นขึ้นตามลำดับจนกระทั่งวันที่ 31 เดือนมีนาคม 1621 ชาวอินเดียนแดงพื้นเมืองสองคนก็ปรากฏตัวขึ้น ตามปกติผู้อพยพทุกคนกลัวชาวอินเดียนแดงพื้นเมืองมากเพราะได้รับการบอกเล่าว่า บุคคลเหล่านี้โหดเหี้ยมถึงกับกินเนื้อคน ผู้อพยพได้ผ่านฤดูกาลอันหนาวเหน็บแล้ว แต่ยังหวาดผวาชาวพื้นเมืองอีกด้วย เมื่อชาวพื้นเมืองสองคนเดินเข้ามาที่กระท่อมที่พวกอพยพพักอยู่ กล่าวคำต้อนรับด้วยภาษาอังกฤษที่แปร่งๆแบบคนพูดอังกฤษภาษาที่สองว่า ยินดีต้อนรับทุกท่าน นั่นแหละผู้อพยพรู้สึกใจชื้นอบอุ่นขึ้น เป็นอันว่าตอนนี้ผู้อพยพทุกคนรู้สึกอบอุ่นทั้งกายและใจ
ชาวอินเดียนแดงพื้นเมือง อาสาสอนวิธีจับปลา วิธีล่าสัตว์ วิธีเตรียมดินปลูกพืช วิธีปลูกพืช และวิธีการดำรงชีพในฤดูกาลต่างๆ ให้ผู้อพยพได้ทราบ พืชที่ปลูกกันในฤดูใบไม้ผลิต่อกับฤดูร้อนนั้นประกอบด้วย ฟักทอง ถั่ว ข้าวโพด นอกจากนี้ชาวอินเดียนแดงพื้นเมืองยังสอนวิธีการหาสมุนไพรต่างๆ มารักษาโรคอีกด้วย นับว่าชาวพื้นเมืองให้ความช่วยเหลือผู้อพยพอย่างมาก
ฤดูร้อนที่ผู้อพยพทำงานอย่างสนุกสนานและมีชีวิตชีวาในดินแดนใหม่ค่อยๆผ่านพ้นไป พืชที่ปลูกไว้ให้ผลอย่างงดงามทุกชนิด บ้านช่องที่อยู่อาศัยก็ถูกสร้างขึ้นใหม่ อย่างมั่นคงพร้อมที่จะต้อนรับฤดูหนาวที่กำลังจะก้าวเข้ามาได้เป็นอย่างดี ฤดูหนาวคราวหน้าคงจะได้อยู่ในบ้านที่อบอุ่นไม่มีใครป่วยไข้บาดเจ็บล้มตายอย่างปีที่ผ่านมาอีก พวกเขาช่วยกันเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจ ครั้นเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว พวกเขารู้สึกประทับใจ ซาบซึ้งความช่วยเหลือที่ชาวอินเดียนแดงพื้นเมือง มอบให้ตลอดเวลาที่รู้จักกัน จึงปรารถนาที่จะจัดงานเลี้ยงขอบคุณขึ้น เมื่อเตรียมการเรื่องราวต่างๆ อย่างพร้อมเพรียงแล้วจึงกำหนดวันจัดงาน ขอบคุณพวกเขาขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 4 ของเดือนพฤศจิกายน 1621 เป็นวันจัดเลี้ยง ผู้อพยพได้เชิญผู้นำชนเผ่าชาวพื้นเมืองและสมาชิกชาวพื้นเมือง มากินเลี้ยงและรื่นเริงด้วยกัน
ผู้อพยพได้ใช้พืชที่ได้จากการเพาะปลูกมาทำเป็นอาหารต่างๆ ตามแบบชาวยุโรป ส่วนชาวอินเดียนแดงพื้นเมือง ได้นำ ไก่งวง ปลา กุ้ง เนื้อกวาง และผลไม้ป่าอื่นๆ จำนวนมากมาร่วมเลี้ยงฉลองกัน งานเลี้ยงฉลองดำเนินไปถึง 3 วันเต็มจึงเลิกรา
ตั้งแต่บัดนั้นมาพอถึงวันพฤหัสบดีที่ 4 ของเดือนพฤศจิกายน ไม่มีกำหนดแน่นอนว่า เป็นวันที่เท่าไร ก็จะได้จัดงานขอบคุณสืบต่อกันมาถึงปัจจุบันนี้ อาหารเด่นของเทศกาลนี้ที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือ อาหารที่ประกอบด้วยไก่งวงและฝักทอง ส่วนสูตรอาหารก็ปรับและปรุงไปตามความนิยม แต่ไม่ลืมเครื่องประกอบทั้งสองประการนี้ที่คู่กันมาตั้งแต่เริ่มตั้งประเทศอเมริกา
ผู้อพยพเหล่านี้เรียกว่า กลุ่ม ผู้แสวงบุญ หรือ นักเดินทาง (Pilgrims) เดิมนั้นคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่แยกตัวออกมาจากคริสต์ศาสนานิกายโรมันแคทอลิก ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลโดยตรง มุ่งเน้นเฉพาะพระวจนะจากไบเบิลเท่านั้น เพราะถือว่า พระวจนะจากคัมภีร์เท่านั้นที่บริสุทธิ์ จึงเรียกกลุ่มตนเองว่า Puritan แปลว่า บริสุทธิ์ จุดประสงค์หลักของการอพยพมายังอเมริกาเหนือนี้เพื่อจะได้ปฏิบัติศาสนกิจของตนอย่างอิสระไม่ถูกคุกคามจากฝ่ายต่อต้าน ซึ่งคอยคุกคามอยู่แทบจะตลอดเวลา พวกเขาจึงต้องหลบๆ ซ่อนๆ ศึกษาคัมภีร์และปฏิบัติศาสนกิจตามความเชื่อของพวกเขา
ดินแดนที่พวกเขามุ่งมาตั้งหลักใหม่นี้เรียกว่า New world แปลว่า โลกใหม่ คือ โลกที่มีสิ่งใหม่ๆ ให้สร้างสรรค์มากมาย บางทีก็เรียกดินแดนแห่งนี้ว่า New Heaven คือ สวรรค์ใหม่ ที่หมายถึงสถานที่ให้สิทธิ์เสรีในทางศาสนาอันจะนำชีวิตเขาไปสู่สวรรค์ หรือ เมื่อดินแดนแห่งนี้อุดมสมบูรณ์หรือเท่ากับดินแดนสัญญาของพระเจ้าที่กล่าวไว้ในไบเบิล ก็เรียกว่า สวรรค์ใหม่ได้
มีประเด็นถามกันว่า ตกลงพวกเขาจัดงานวันขอบคุณนั้นขอบคุณใครกันแน่ ถ้าจะมองจากสายตาชาวพุทธที่ไม่เชื่อในพระเจ้า และเชื่อในความดีงามของมนุษย์ก็ตอบว่า ขอบคุณชาวอินเดียนท้องถิ่นนั้นเอง เพราะทางพระพุทธศาสนาสอนไว้ ใครเคยให้ความอุปการะหรือมีบุญคุณก็ต้องกตัญญูกตเวทีต่อบุคคลนั้น ดั่งพระสารีบุตรที่แสดงความกตัญญูต่อพราหมณ์คนหนึ่งด้วยระลึกถึงข้าวทัพพีเดียวที่พราหมณ์เคยตักบาตร
แต่ถ้าพิจารณาจากภูมิหลังของพวกเขาเองที่เป็นนักการศาสนาที่เคร่งครัดและนับถือพระเจ้าสุดจิตสุดใจ วันขอบคุณที่จัดขึ้นนี้ ไม่มีทางคิดเป็นอย่างอื่นไปได้นอกจากขอบคุณพระเจ้าเท่านั้น เพราะพระเจ้าดลบันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง การปรากฏตัวขึ้นของชาวอินเดียนแดงพื้นเมือง 2 คน คือ การดลบันดาลของพระเจ้าให้ทั้ง 2 คนเดินทางมาให้ความช่วยเหลือ และตั้งแต่บัดนั้นมาชีวิตของพวกเขาดีขึ้นไม่ได้รับอันตรายจากชาวพื้นเมือง มีแต่ได้รับความช่วยเหลือย่างดีมีมิตรภาพ พวกเขาก็เชื่อว่า ทุกอย่างล้วนเป็นลิขิตแห่งพระกรุณาพระเจ้าทั้งสิ้น เมื่อมีชีวิตที่ดีขึ้น จึงต้องจัดวันขอบคุณพระเจ้าที่ประทานชีวิตที่ปลอดภัยและสะดวกสบายมาให้
ส่วนคติธรรมวันลอยกระทงของพวกเราในแง่ศาสนาก็เชื่อกันว่า พวกเราลอยกระทงไปบูชารอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทามหานที และเรื่องของการเห็นคุณค่าของน้ำก็แสดงออกตามหลักความกตัญญูกตเวทีว่า น้ำช่วยให้ชีวิตรอดและดำรงชีวิตอยู่ได้เพราะอาศัยสิ่งต่างๆ ที่ผลิตและสร้างมาจากน้ำ เราจึงหาโอกาส บูชา ขอขมาต่อน้ำที่มีพระคุณต่อเรา พวกเราจึงขอบคุณพระพุทธเจ้าที่สอนให้เราเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ เช่น น้ำ เป็นต้นและขอบคุณน้ำที่มีคุณต่อชีวิตของเราโดยตรง
ความกตัญญูรู้คุณค่าต่อสิ่งต่างๆ ของมนุษย์และช่วยกันแสดงความเคารพรักต่อสิ่งนั้นด้วยการช่วยกันดูแลรักษาประดุจว่าสิ่งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ก็จะช่วยให้โลกยังคงอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่จะค้ำจุนชีวิตทุกชีวิตที่เกิดมาในโลกนี้ตราบเท่านานแสนนานสืบไป
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2561 เวลา 2.38 น.
วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ