รู้แล้วทำเลย
จิตแพทย์คนหนึ่ง สนใจวิชาสมาธิภาวนา มาขอภาวนาด้วย ก่อนจะได้ภาวนา คุณหมอได้สนทนาธรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติที่อ่านมาจากตำราต่างๆ มากมาย จนจัดว่า คุณหมอเป็นผู้มีความรู้ด้านภาวนาดีคนหนึ่งในวงการชาวพุทธทีเดียว
อาตมาพิจารณาแล้วว่า ผู้มีความรู้เช่นนี้ มีสมองเป็นเลิศ คิดเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว หากสนใจสมาธิภาวนาก็ควรได้ลงมือปฏิบัติให้มากกว่าจะชวนคิดชวนคุยต่อไปจึงนัดวันกันว่า ทุกวันจันทร์และวันศุกร์จะมาฝึกฝนการภาวนาด้วยกันตั้งแต่เวลา 9.00-10.00 น.
คุณหมอเป็นคนขยันมีระเบียบวินัยตรงต่อเวลาและเป็นผู้มีฉันทะและอิทธิบาทข้ออื่นๆ ครบถ้วนจริงๆ สิ่งที่แสดงว่าคุณหมอสนใจการฝึกมากก็คือ เมื่อได้เวลาฝึก คุณหมอจะมาก่อนเวลาเสมอ มาถึงแล้วไม่รอช้าลงมือฝึกฝนกันเลยทีเดียว
การฝึกที่ว่านี้คือนั่งสมาธิ ต่างคนต่างนั่งหันหน้าเข้าหาองค์พระพุทธปฏิมา แล้วตั้งใจภาวนาเพื่อพัฒนาตัวรู้โดยมีลมหายใจเป็นหลักในการวางสติหรือในการที่สติจะเกาะติดสมกับคำว่าอานาปานสติ การใช้สติกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก
การลงมือปฏิบัติอย่างนี้คือการเข้าไปสู่ประสบการณ์การมีสติและการรู้สึกตัวทั่วพร้อมโดยตรง รู้สึกมากเท่าไร ก็เป็นสมาธิเท่านั้น ส่วนที่เผลอสติ ปล่อยใจให้ท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่เนิ่นนานแค่ไหน ก็ถือว่าไม่เป็นสมาธิ
นี่คือวิธีปฏิบัติที่ง่ายที่สุด ไม่ต้องท่องจำมนต์บทใด ไม่ต้องรู้ภาษาบาลีที่ยากเย็นแต่ประการใด รู้เข้าไปตรงๆ เลย เมื่อรู้ก็บอกว่ารู้ เมื่อไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ รู้ก็รู้ ไม่รู้ก็รู้ว่าช่วงใดไม่รู้ นั่นแหละเรียกว่า เจริญสติ คือ มีความระลึกรู้สึกได้
เมื่อฝึกฝนเสร็จก็ได้สนทนากันต่อ คุณหมอได้เล่าถึงความรู้สึกว่า การนั่งวันนี้สงบเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ฟุ้งซ่านถึง 80 เปอร์เซ็นต์
อาตมาบอกคุณหมอว่า การเรียนรู้เริ่มบังเกิดแล้ว คือ สามารถรู้ว่าฟุ้งเท่าไร สงบเท่าไร สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือ ทำอย่างไรจึงจะเพิ่มความสงบจากเดิมขึ้นไปเรื่อยๆ
ไม่มีทางอื่นใดนอกจากฝึกฝนๆ ฝึกฝน เท่านั้น คุณหมอท่านได้ทราบแล้วไปฝึกต่อที่บ้านอีก
สัปดาห์ต่อมาคุณหมอมาฝึกอีกคราวนี้บอกว่า ฝึกได้ดีกว่าวันก่อนๆ ที่เคยฝึกมาเพราะฝึกที่บ้านหลายรอบๆ ละ 45 นาที ตอนนี้มีอาการเหมือนติดสมาธิ
อธิบายให้คุณหมอฟังว่า ไม่ติดสมาธิหรอก แต่เป็นการเพลิดเพลินในธรรม ใคร่ในธรรม มีความสุขในธรรม ดั่งคำที่ว่า ธัมมกาโม ภะวังโหติ แปลว่า ผู้ใคร่ธรรมเป็นผู้เจริญ ตอนนี้คุณหมอกำลังอยู่ในอาการใคร่ธรรม พยายามประคองอาการเช่นนี้ไว้
จะทำให้เกิดฉันทะในการภาวนายิ่งขึ้น เพราะทำสิ่งใดมีความสุขก็จะเพลิดเพลินกับการกระทำนั้น จะเป็นพลังขับเคลื่อนการภาวนาให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป
วันต่อมาหลังจากคุณหมอนั่งสมาธิภาวนาเรียบร้อยแล้ว ได้อธิบายความรู้สึกว่า เมื่อเช้าก่อนจะขึ้นมาภาวนาได้เห็นอุบาสิกาคนหนึ่งกำลังทำสวนอกไม้อยู่หน้าศาลาวัดพุทธธรรม รีบทักทายแล้วขึ้นมาเจริญภาวนา เริ่มภาวนาไปได้สัก 10 นาทีก็หวนกลับมานึกถึงพยาบาลคนนั้นว่า เคยทำงานกันมากี่ปี ทำอะไรบ้าง เธอเป็นคนดีอย่างไรบ้าง จนกระทั่งลืมพิจารณาลมหายใจไปเสียสนิทเลย
อาการอย่างนี้เรียกว่าอย่างไร
จึงอธิบายว่า นี่คือการเกิดขึ้น ของสัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ในขันธ์ห้า กล่าวคือ พอตาเห็นรูป วิญญาณขันธ์ก็ปรากฏ ตากับรูป เป็นรูปขันธ์ รู้สึกพอใจ เป็นเวทนาขันธ์ จำได้ว่าเป็ใคร เป็นสัญญาขันธ์ คิดแล้วคิดอีกเรื่องที่จำได้นั้นก็เป็นสังขารขันธ์ คิดวนไปเวียนมาไม่ยอมไปที่ไหนอื่นจัดเป็นสังสรวัฏฏ์ในสังขารขันธ์ คือเวียนไปเวียนมาไม่ออกไปไหนอยู่เป็นเวลานาน คิดไปคิดมาถ้าสักว่าคิดก็ไม่เป็นไรแต่ถ้ามีตัณหาและอุปาทานเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ก็เป็นทุกข์ดั่งคำว่า สังขารา ปรมา ทุกขา ยิ่งคิดมาก ยิ่งเป็นทุกข์
หรือถ้านั่งคิดถึงคนๆที่ได้เห็นเป็นเวลานานๆ โดยลืมคิดถึงเรื่องอื่นทั้งหมด เท่ากับว่า สังขารขันธ์ หนึ่งในห้าขันธ์ กำลังทำงานอย่างเต็มที่ อันสอดคล้องกับบทกรวดน้ำของสวดมนต์แปลที่ว่า มีขันธ์ขันธ์เดียว กำลังท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ คือ กำลังคิดถึงเรื่องใหญ่บ้าง เรื่องเล็กบ้าง อย่างกัดติดไม่เคลื่อนไปไหน
นี่คือประสบการณ์การศึกษาที่ผ่านการภาวนาจิตได้สัมผัสสัจธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงจากสภาวธรรมชาติที่แท้จริงแบบตรงๆ ไม่ต้องคาดคะเนอีกแล้ว คุณหมอเป็นนักวิทยาศาสตร์จึงได้สัมผัสพุทธธรรมตรงๆ ในภายในเมื่อเฝ้ามองด้านในอย่างนี้ เป็นประสบการณ์ตรงแล
สนทนาธรรมกันพอสมควรแล้ว คุณหมอก็กราบพระพุทธรูปในอุโบสถและกราบพระสงฆ์ที่ร่วมภาวนาด้วยอย่างน้อยอีกหนึ่งสัปดาห์จะได้มาพบกันเพื่อสร้างสรรส่งเสริมเพิ่มเติมความสะอาด ความสว่างและความสงบพบสันติสุขต่อไป
วัดพุทธธรรม เมืองวิลโลบรูค รัฐอิลลินอยส์
วันที่ 9 มิถุนายน 2558
ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ
เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา, วัดพุทธธรรมและวัดลอยฟ้า
www.buddhapanya.org & www.skytemple.org