หลังจากเข้าซ่อมแซมหัวใจด้วยการทำ Angiogram ที่โรงพยาบาล AHMC Anaheim Regional Medical Center รัฐแคลิฟอร์เนียในวันที่ 3 เมษายน 2562 แล้ว ได้พักฟื้นอย่างเต็มที่ประมาณหนึ่งสัปดาห์ จนรู้สึกได้ถึงการปรับตัวของร่างกายที่อ่อนเพลียมากในตอนแรก ก็ค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ ในช่วงที่พักฟื้นอยู่นั้นก็มีญาติโยมห่วงใยไต่ถามอาการมาเป็นระยะๆ ไม่ได้ขาด ญาติโยมส่วนใหญ่บอกว่า ทราบข่าวจากบทความเรื่อง “เพราะมีความแก่ จึงมีความเจ็บ” จึงเข้าใจได้ว่า มีญาติโยมจำนวนหนึ่งติดตามความเคลื่อนไหวในความเป็นอยู่และปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ จากบทความในหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์ในมหานครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา สัปดาห์ละครั้ง
ญาติโยมหลายท่านที่เดินทางมาเยี่ยมสะดวก ก็เดินทางมาเยี่ยมพร้อมกับนำข้าวของผลไม้และผักที่มีประโยชน์ต่อการดูแลหัวใจมาถวาย และพูดคุยให้คำแนะนำถึงการดูแลรักษาหัวใจกันในระยะยาว ทุกคนดีใจเมื่อรู้ว่าผลการตรวจหลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจออกมาดีและมีการซ่อมแซมด้วย stent ถ่างเส้นเลือดให้เลือดไหลเวียนผ่านหัวใจได้สะดวก ไม่ให้มีไขมันมาอุดตันในบริเวณนั้นอีก ญาติโยมหลายคนที่มาเยี่ยมเยือนเคยผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเลือดที่ตีบตัน 2-3 เส้นกันมาแล้ว ได้ให้กำลังใจอาตมาว่า อาจารย์ยังนับว่าโชคดี ที่ไขมันเริ่มก่อตัวอุดตันเพียงเล็กน้อยยังไม่ถึงหนึ่งเส้นด้วยซ้ำไป อดีตพยาบาลหลายท่านบอกว่า แปลกเหมือนกันที่อุดตันแค่นี้ คือ อุดตันไม่ถึงเส้น คงจะเรียกว่าไขมันกีดขวางทางเดินของโลหิตไปเลี้ยงหัวใจจะเหมาะกว่า
เมื่อการพักฟื้นผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ เริ่มปฏิบัติศาสนกิจได้บ้าง มีบางครั้งที่อ่อนเพลียจัด จึงวัดความดันโลหิตดู ผลออกมาต่ำกว่าที่เคยเป็นมา เฝ้าวัดดูทุกวันก็อยู่ในเกณฑ์ปกติค่อนข้างดี คือ ส่วนใหญ่ตัวบนไม่เกิน 120 หรือต่ำกว่า 110 เสมอ เมื่อวานนี้วันที่ 21 เมษายน 2562 ได้เดินออกกำลังกายไปเรื่อยๆ เป็นเวลา 3 ชั่วโมงกว่า คือ ออกเดินตั้งแต่เวลา 05.00 น. กลับมาถึงวัด 8.15 น. ยามเช้า เพราะเดินสบายท่ามกลางอากาศ 50 องศาฟาเรนไฮต์ ขณะที่เดินก็พกเครื่องวัดระยะทาง Fitbit ไปด้วยเมื่อกลับมาถึงวัดเครื่องวัดระยะทางบอกว่า เดินได้ระยะทาง 10.27 ไมล์ นับเป็นก้าวได้ 21,913 ก้าว เมื่อกลับมาถึงวัด ได้วัดความดันโลหิตผลออกมาว่า ตัวบน 102 mmHg. นับว่าการเดินไกลๆ ทำให้ระบบการไหลเวียนของโลหิตดีมากทีเดียว
หลังการผ่าตัดในช่วงพักฟื้น นอกจากจะมีญาติโยมมาคุยด้วยหลายท่านที่เคยผ่าตัดมาแล้ว ก็แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันอย่างมีคุณค่า เมื่อมีเวลาก็ลองศึกษาเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการตรวจและซ่อมแซมเส้นเลือดส่งเลือดไปเลี้ยงหัวใจเพิ่มเต็ม เขาก็อธิบายไว้ทุกแง่ทุกมุมพร้อมบอกประเภทอาหารหลายชนิดที่เป็นอาหารเสริมอยู่ในมื้ออาหาร ที่จำได้แน่ๆ และนำมาปฏิบัติคือ บร็อคโคลี่สีเขียว กะหล่ำหัวเล็กสีเขียว มะเขือเทศสีแดง แอปเปิ้ลสีแดง ผลไม้ไวตามินซี หรือ ผักและผลไม้สีแดงล้วนช่วยให้โลหิตที่ไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจเดินทางได้สะดวกมากขึ้น ไม่มีลิ่มเลือดกีดขวางทางเดินโลหิต เมื่อโลหิตปกติไม่มีอะไรเข้าไปสะสมตกค้าง การไหลเวียนก็สะดวก เป็นการป้องกันโรคหัวใจในเบื้องต้นเลยทีเดียว
การดูแลรักษาสุขภาพหลังพักฟื้นที่ได้ปฏิบัติไป คือ ฉันยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพราะยาทุกชนิดที่แพทย์สั่งมาให้ฉันล้วนผ่านการวิจัยมาอย่างดี สอดคล้องกับการซ่อมแซมอวัยวะภายในของร่างกายในขณะนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี เมื่อฉันไปได้ระยะหนึ่ง เมื่อแพทย์สั่งหยุด ก็หยุดตามแพทย์สั่ง เพราะไม่มีแพทย์คนไหนสั่งยามาให้อย่างไม่จำเป็น หลายคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือ เบาหวาน ชอบมาคุยให้ฟังว่า ตนเองไม่ยอมทานยาที่แพทย์สั่งให้ รับมาก็ทิ้งหรือให้คนอื่นกิน นับว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์เลยทีเดียว เพราะก่อนแพทย์จะสั่งจ่ายยาอะไรให้ผู้ป่วยต้องผ่านการตรวจและวินิจฉัยชัดว่า จะต้องใช้ยาอะไรเพื่อไปซ่อมแซมส่วนไหนให้ดีขึ้น อาตมามีความคิดอย่างนี้เลยไม่มีปัญหาในเรื่องฉันยาตามแพทย์สั่ง และรู้สึกว่าได้ผลดี
การเดินออกกำลังก็เป็นส่วนประกอบของการซ่อมแซมหัวใจอย่างยิ่ง การเดินหลังพักฟื้นค่อยๆ ออกเดินเรื่อยๆ สังเกตอาการ ถ้าวิงเวียนศีรษะ หรืออ่อนเพลียต้องหยุดทันที แต่ถ้ารู้สึกสดชื่นแข็งแรงดีก็เดินต่อไปตามสมควร เป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางในหมู่คนที่ชอบดูแลสุขภาพว่า แต่ละวันควรจะเดินให้ได้อย่างน้อย 7,000 กว่าก้าว ถ้าจะให้ดีกว่านั้นต้องไม่น้อยกว่า 10,000 ก้าว การเดินนั้นค่อยๆ เดินตามสบายไม่ต้องเร่งรีบแต่ประการใด ถ้าเดินไวไม่ได้ก็เดินช้าๆ เพราะเวลาเดิน ร่างกายเคลื่อนไหว เป็นการกระตุ้นอวัยวะภายในหลายส่วนให้ได้ทำงาน โดยเฉพาะการสูบฉีดโลหิตของหัวใจ จะทำงานได้ดี สังเกตได้ว่า หัวใจเต้นแรง แต่ไม่เจ็บหน้าอกเหมือนในสมัยก่อน ทำการซ่อมแซม ทำให้การเดินเพลิดเพลินขึ้นทีเดียว
เรื่องของการฉันอาหารในฐานะที่เป็นพระสงฆ์ ได้รับความอุปถัมภ์จากญาติโยมเป็นอย่างดี ทราบว่า ผักต่างๆ มีประโยชน์ต่อการซ่อมแซมหัวใจก็ได้นำไปปรุงอาหารมาให้ ได้ยินญาติโยมรับประทานอาหารแล้วคุยกันเรื่องอาหารที่มีอุปการะคุณต่อการดูแลหัวใจ ฟังแล้วก็ชื่นใจ ในเวลาที่ญาติโยมนำอาหารมาถวายตามปกติก็เลือกพิจารณาหลีกเลี่ยงในส่วนที่เป็นโทษต่อร่างกาย เลือกเฉพาะที่เป็นคุณแก่ร่างกายตามหลักที่พระพุทธเจ้าให้พระสงฆ์พิจารณาอาหารก่อนฉันในข้อที่ว่า ฉันอาหารเพื่อให้ร่างกายเป็นไปได้ รู้สึกผาสุก และอาหารต้องไม่เป็นโทษ เมื่อศึกษาให้เข้าใจกว้างๆ ว่าอะไรคือ อาหารที่แสลงกับโรคหัวใจก็ตั้งใจหลีกเลี่ยง และเลือกฉันในส่วนที่ช่วยให้เลือดลมเดินสะดวก ตามหลักแห่งการพิจารณาอาหารก่อนฉันทุกประการไม่ขัดกันแต่ประการใด
กำลังใจของตนเองและผู้อยู่ใกล้ชิดกันเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยในเรื่องการพักฟื้น เบื้องต้นถ้าได้ฝึกภาวนามาบ้างทุกครั้งที่มีอาการป่วยไข้มากๆ จะไม่เสียกำลังใจ เวลาพักฟื้นก็พิจารณาธรรมลงไปตรงที่ความป่วยไข้ที่มาเยือนว่าเป็นธรรมดาที่ทุกคนต้องพบสิ่งเหล่านี้ หากการป่วยไข้ครั้งนั้นยังไม่ถึงเสียชีวิตก็ถือว่า เป็นสัญญาณดีที่บอกว่าอย่าประมาทครั้งนี้ไม่ตาย จะต้องตายสักครั้งหนึ่งไม่คราวใดก็คราวหนึ่ง การรอดไปครั้งนี้ต้องเร่งบำเพ็ญกุศลความดีเจริญสติให้มากขึ้น สำหรับอาตมาที่พบว่า เส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงหัวใจมีไขมันกีดขวางเพียงเล็กน้อยยังไม่อุดตัน ยังโชคดีที่จะต้องดูแลเส้นโลหิตที่มีอยู่ให้ปกติไม่มีอะไรเข้าไปติดค้างขัดขวางการเดินของเลือด สิ่งที่มักจะไปกีดขวางทางเดินของโลหิตกว้างๆ ก็คือ ไขมัน เกลือและน้ำตาลที่ร่างกายใช้งานไม่หมด กำจัดไม่หมด ก็ถูกเก็บไว้ในเส้นโลหิตด้วย ถ้าสิ่งเหล่านี้มีมาก โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจก็จะมาเยือนอีก การดูแลเรื่องต่างๆ ให้สมดุลจึงเป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งที่จะป้องกันบรรเทาโรคยอดฮิตทั้ง 3 โรคได้ไม่มากก็น้อย
ขอขอบคุณทุกท่านที่เคยติดตามผลงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทุกช่องทางที่ส่งกำลังใจและส่งความห่วงใยกันมา ขอใช้บทความนี้รายงานให้ทราบว่า หลังจากพักฟื้น 3สัปดาห์ผ่านมาแล้ว ร่างกายแข็งแรงเป็นปกติดีขึ้นสามารถปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ ได้ดั่งที่เคยปฏิบัติมา ขอให้ความปรารถนาดีและพรทั้งหลายที่ท่านส่งมาให้อาตมาจงเป็นความปรารถนาดีและเป็นพรย้อนกลับไปสู่ทุกท่าน ขอให้ทุกท่านดำเนินชีวิตอย่างปลอดภัย สุขกายสุขใจ ทุกคืนวัน ทุกท่านทุกคนเทอญ
ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ
วันที่ 22 เมษายน 2562 เวลา 4.49 น.
วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา