พุทธศาสนิกชนชาวไทยมีโอกาสได้ศึกษา ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาอย่างใกล้ชิดมาช้านาน มีความรู้ความเข้าใจถึงแก่นพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี สิ่งที่เรียกว่าแก่นศาสนานั้นปรากฏอยู่ที่กาย วาจา และใจ แม้จะมีชื่อเรียกผ่านสมมติแห่งภาษาต่างๆ กัน แต่ธรรมแท้หยั่งรู้ได้ด้วยใจ โดยไม่ต้องผ่านภาษาใดภาษาหนึ่งเพราะภาษาสื่อแค่ความเข้าใจและความรู้สึกได้บางส่วนเท่านั้น แต่ความลึกซึ้งในธรรมแท้ปรากฏแก่ความรู้สึกที่มีเฉพาะตนดั่งที่พระพุทธเจ้ายืนยันว่าพระธรรมของพระองค์นั้นอันวิญญูชนรู้ได้เฉพาะตน
เมื่อความรู้ธรรมแท้เป็นไปเฉพาะตนการสื่อธรรมออกมาจากสิ่งที่รู้ก็สื่อออกมาจากภาษาของตน พุทธศาสนิกชนจึงพูดจาสื่อธรรมะจากใจที่เข้าถึงธรรมไว้มากมายในบรรดาคติธรรมที่สื่อสัจธรรมอันลึกซึ้งในสังคมไทยๆ นั้น มีคำว่า พกหินอย่าพกนุ่น คำสอนนี้เป็นคำสอนที่พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย มักจะสอนลูกหลานเวลามีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนๆ ที่เล่นกันอย่างสนุกสนานแล้ว กระทบกระทั่งกันหรือ ทะเลาะกันไปแล้ว หรือบางทีอาจจะชกต่อยหน้าตาปูดบวมไปตามๆ กัน แล้วก็ต่างไปฟ้องพ่อแม่ของตนๆ ให้มาช่วยจัดการคนที่สร้างความไม่พอใจให้แก่ตน
พ่อแม่ที่มองเห็นธรรมชาติของเด็กๆ ว่าโกรธง่ายหายเร็วตั้งสติได้ไม่เข้าข้างใครแล้วหาโอกาสบอกลูกหลานว่า ลูกเอ๋ยหลานเอ๋ย พกหินไว้ดีกว่าพกนุ่น ความหมายก็คือ ทุกคนก็เป็นเพื่อนกันเล่นด้วยกันเมื่อมีการกระทบกระทั่งกันบ้างควรทำใจหนักแน่น การที่ผู้ใหญ่สอนเด็กให้หนักแน่นนี่หมายความว่า กำลังบอกให้เด็กทำสมาธิเลยทีเดียว เพราะคำว่า หนักแน่นมั่นคงไม่หวั่นไหว ล้วนเป็นคุณสมบัติของสมาธิทั้งสิ้น
ผู้ใหญ่ที่มีธรรมในวิถีชีวิตแทนที่จะตัดสินว่าใครผิดโดยใช้หลักนิติศาสตร์ แต่ใช้ความผิดพลาดนั้นมาเป็นบทเรียนแล้วดำเนินชีวิตเสียใหม่ด้วยจิตใจที่มั่นคงดั่งหินผาไม่ใช่อ่อนแอดั่งนุ่นที่พร้อมจะลอยไป โอนเอนอ่อนไหวเมื่อต้องลมการที่ผู้ใหญ่ใจมีธรรมพร่ำสอนลูกหลานแบบนี้ เพื่อให้ลูกหลานที่เป็นเพื่อนเล่นกันในปัจจุบันและจะต้องอยู่ด้วยกันต่อไปอีกไม่รู้กี่ปีจะรักสามัคคีกัน แต่ถ้าไปตัดสินว่าใครถูกใครผิดโดยไม่ชักชวนให้มาทบทวนและปรับปรุงตนเอง ความร้าวฉานก็เกิดขึ้นง่าย ความปริร้าวถึงความแตกแยกก็เกิดขึ้นได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
การรู้จักทำใจให้มั่นคงตามหลักในพระพุทธศาสนาคือการพัฒนาคุณลักษณะธรรมดาของมนุษย์ทั่วไปให้เป็นบัณฑิต เพราะพระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสลักษณะของบัณฑิตอีกประการหนึ่งว่าต้องไม่หวั่นไหวเพราะนินทาและสรรเสริญ ดั่งพระพุทธภาษิตว่า
ภูเขาศิลาล้วน เป็นแท่งทึบ ย่อมไม่สะเทือนเพราะลม ฉันใด
บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะนินทาหรือสรรเสริญ
พระพุทธภาษิตนี้เปรียบจิตใจที่แข็งแกร่งกับหินชนิดแท่งทึบ เปรียบลมกับการนินทาและสรรเสริญ พระพุทธเจ้าทรงตรัสความจริงสูงสุดว่าลมปากพัดมาโดนใจทำให้ไหวได้ ลมปากนี่มีพลังแรงกว่าพายุร้ายต่างๆ ที่พัดผ่านมาแล้วผ่านไปอาจจะทิ้งความเสียหายโศกเศร้าเสียใจไว้ข้างหลังบ้าง ไม่นานความโศกเศร้าเสียใจจากความสูญเสียนั้นก็ผ่านไป
ส่วนจิตใจที่ลมปากพัดมากระทบแม้เวลาผ่านไปนานสักเท่าไร แต่ยังคงพบความเสียใจไม่หาย ความเสียใจจากลมปากพัดกระทบกระทั่งช่างเรื้อรังและรักษาซ่อมแซมได้ยากจริงๆ แม้พระพุทธเจ้าจะประทานยาแก้เสียใจจากลมปากที่ชื่อว่าอภัยทาน แต่ลึกๆบางทีก็ยังหายไม่สนิท พลังแห่งลมปากที่พัดมาหวั่นไหวไปทั่วทิศดูง่ายๆ ตอนนี้เวลานักการเมืองคนสำคัญของโลกหรือของประเทศพูดอะไรสักประโยคหนึ่งจะโดนใจคนไปทั้งประเทศหรือโดนใจคนไปทั้งโลก ลมปากพัดไปไกลกว่าลมพายุร้ายหลายเท่านัก ไม่มีขอบเขตที่แน่นอน พยากรณ์ไม่ได้
ลมปากที่พัดโดนใจให้ไหว ก็มี 2 อย่างเท่านั้น ลมหอม คือสรรเสริญ เมื่อใจอ่อนๆเจอสรรเสริญเยินยอก็อ่อนไหวไหลไปตามได้ง่าย บางทีก็ถลำลึกจนยากแก่การถอนตัวออกมา เพราะความไหวและไหลไปตามสิ่งที่ชอบใจ ส่วนลมปากแห่งการนินทาว่าร้ายกระทบใจแล้วให้ผลทันทีทุกข์โศกเดี๋ยวนั้น
ส่วนบัณฑิตทั้งหลายใช้สติรับรู้เข้าใจประจักษ์แจ้งว่า ทั้งสรรเสริญและนินทา ทั้งหวาน ทั้งขม ทั้งหอม ทั้งเหม็น มีค่าเท่ากันคือผ่านมาแล้วผ่านไป ฟังแล้ว รับรู้ ดูเห็นว่ามันเปลี่ยนแปลงแล้วปล่อยวางคืนสู่ธรรมชาติ มาจากทางไหนก็ไปทางนั้น
จึงเป็นอันว่าบัณฑิตพกหินและสิ่งที่จะรักษาใจให้แกร่งดุจหินก็คือ การเห็นแจ้งสรรพสิ่งตามความเป็นจริงว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ ธรรมชาติทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เขาไม่ใช่ของเขาเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ขอร้องห้ามปรามแค่ไหน ทำให้ตามคำขอร้องนั้นไม่ได้ จึงต้องปล่อยไป
เสียงที่เปล่งออกมาย่อมเป็นสังขารเรียกว่า วจีสังขาร มาจากการปรุงแต่งด้วยความตรึกตรอง เมื่อเป็นสังขารก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทั้งเสียงสรรเสริญและนินทาจึงไม่มีอะไรเที่ยง เพราะมาจากปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เมื่อเป็นสังขารก็ทนอยู่ที่เดิมไม่ได้ต้องสลายไปโดยเร็ว เรียกว่า ทุกข์ ทนได้ยากคือ ปรากฏชั่วขณะสั้นๆ แล้วก็หายไป เสียงทั้งสรรเสริญและนินทาเป็นอนัตตา คือห้ามปรามขอร้องไม่ได้ มันตั้งขึ้นแล้วก็เสื่อมไปเอง เรียกว่า ไม่ต้องไปทำอะไรมันก็เป็นไปของมันเอง
เมื่อมันไม่เป็นตัวตน มันเป็นอะไรละ มันเป็นธรรมชาติ เกิดมาจากการปรุงแต่ง เมื่อมันไม่ใช่ของเราก็ของใครละ ก็เป็นของธรรมชาติ เพราะลมเป็นของธรรมชาติ มากระทบหูก็เป็นของธรรมชาติ เป็นเพียงธรรมชาติประการหนึ่งไปกระทบธรรมชาติประการหนึ่งแล้วต่างก็สลายไป
บัณฑิตมองเห็นความจริงแห่งเสียงว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ทนไม่ได้ ไร้ตัวตน จึงไม่หวั่นไหวในเสียงเหล่านั้น บัณฑิตทั้งหลายจึงเป็นบุคคลต้นแบบที่พกหินไม่พกนุ่นชีวิตจึงไม่ว้าวุ่นเพราะนินทาและสรรเสริญ
หวังว่า ทุกท่านคงจะพกหิน มีศีล มีสมาธิ มีความสุขสงบและมั่นคงในชีวิตตลอดไปเทอญ
วันที่ 2 ธันวาคม 2561 เวลา 9.50 น.
วัดพุทธปัญญาเมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ