ปริศนาธรรมบนธงกฐิน

By | 11/23/2018

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา พุทธศาสนิกชนพากันมาทอดกฐินมากหน้าหลายตา เป็นที่น่าชื่นใจ ทุกท่านที่มาร่วมงานกฐินวัดพุทธปัญญาแล้วต่างสนทนากันว่า มาทอดกฐินครั้งนี้กลับบ้านไปด้วยความอิ่มท้อง อิ่มบุญ อิ่มธรรม และอิ่มใจ ขอให้เก็บความอิ่มทั้งหลายทั้งปวงนี้ไว้เป็นกำลังใจในการดำเนินชีวิตที่สงบสุขต่อไป

เมื่อเจ้าภาพถวายผ้ากฐินเสร็จแล้ว พระสงฆ์นำผ้าจีวรไปทำสังฆกรรมกรานกฐินในเขตสีมาของวัด และนุ่งห่มผ้าไตรจีวรที่กรานกฐินแล้ว และนุ่งห่มผ้าอดิเรกจีวร จากอานิสงส์กฐินแล้วกลับมารับไทยทานบริวารกฐินที่พุทธศาสนิกชนเตรียมมาถวายตามศรัทธาที่ศาลาโปร่งใจแล้ว  มีผู้ปรารภขึ้นมาว่า เวลาทอดกฐินที่วัดพุทธปัญญา ไม่ได้ทำธงกฐิน ถ้าทำด้วยก็จะเพิ่มสีสันสดสวยดีมากขึ้นและจะได้เป็นสัญลักษณ์ของงานกฐินด้วย

อาตมาตอบว่า “ยังไม่เคยทำมาก่อนโดยเน้นความเรียบง่ายตามพระบรมพุทธานุญาตเพื่อให้พิธีกรรมและสังฆกรรมดำเนินไปอย่างสะดวกสบายแบบวัดๆ”   อย่างไรก็ตามแม้มิได้ทำธงกฐินมาติดไว้ แต่ก็พอจะเข้าใจได้ว่า ธงเหล่านั้นคนโบราณที่แสนฉลาดคิดขึ้นมาเพื่อเป็นปริศนาธรรมให้ผู้ที่ได้พบเห็นได้ตีความเป็นธรรมะ เพื่อน้อมนำมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สุขในชีวิตได้

อาตมาจึงขอตีความปริศนาธรรมดังนี้

  1. ธงจระเข้ เป็นปริศนาธรรมสื่อถึง ความโลภ เป็นที่ทราบกันว่าจรเข้นั้น เวลากินอะไรเข้าไปไม่รับรู้รสว่า มีรสชาติอย่างไร เจออะไรก็กลืนเข้าไป โบราณจึงเปรียบพฤติกรรมการกินของจรเข้าด้วยความโลภ กินได้กินดีไม่รู้จักเบื่อ ความโลภก็คือสภาพที่หิวกระหายอยากได้ อยากครอบครองไปเสียทุกอย่าง ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่รู้สึกอิ่ม สภาวธรรมที่ตรงกันข้ามกับความโลภก็คือ ทาน การให้ เมื่อจิตคิดจะให้จะสบายกว่าจิตที่คิดจะเอา เมื่อไรความรู้สึกเสียสละเกิดขึ้นความอิ่มก็จะตามมาทันที คือ ความอิ่มใจเกิดจากการให้และการเสียสละ คนที่มาร่วมงานทอดกฐิน คือ คนอิ่มที่มาด้วยความเสียสละ อันได้แก่ความเสียสละทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังความสามารถและกำลังทรัพย์
  2. ธงตะขาบ คนโบราณซ่อนปริศนาธรรม คือ ความโกรธไว้ในความหมายของตะขาบ เวลาความโกรธเผาใจ ร่างกายเร่าร้อนเดินไปเดินมาหยุดอยู่กับที่ไม่ได้เปรียบเสมือนตะขาบที่มีขาออกมามากมาย ใครเข้าไกล้ตะขาบก็จะถูกกัดจนเจ็บ เวลามีความโกรธหากทำร้ายใครไม่ได้ก็จะใช้คำพูดกัดคนอื่นให้เจ็บใจ ซึ่งบางทีความเจ็บที่ใจอันเกิดจากการกัดด้วยวาจานั้นหายช้ากว่าแผลที่กัดด้วยปากตีด้วยไม้เรียวหรือด้วยมือเสียอีก ปริศนาธรรมจากตะขาบเตือนว่า อย่าไปกัดใครเข้านะ แผลที่กัดนั้นจะหายช้า ส่วนสภาวธรรมที่ตรงกันข้ามกับความโกรธก็คือ ความเมตตาและกรุณา เมื่อใดที่ความเมตตากรุณาสถิตอยู่ในใจ เวลาพูดจาก็ออกมาหอมหวานประดุจดอกไม้และน้ำผึ้ง เวลาแสดงออกทางกายก็น่าประทับใจ จึงควรเจริญเมตตาเป็นประจำเพื่อทำให้ใจสงบอันจะเป็นผลดีต่อการแสดงออกทางกายและวาจาที่น่ารักน่าประทับใจสืบไป
  3. ธงเงือก สัตว์ในวรรณคดีมีลักษณะคล้ายปลาหรือครึ่งปลาครึ่งคน ซ่อนปริศนาธรรม แห่งความหลงเอาไว้ หมายถึงมนุษย์ทั่วไปหลงไหลในความงาม จึงใช้สัญลักษณ์เงือกสื่อถึงความหลง โบราณได้สอนธรรมะผ่านปริศนาธรรมนี้ว่า การเดินเข้าวัด เพื่อฝึกหัดให้ชีวิตมีปัญญา คือ รู้เท่าทันสรรพสิ่งตามความเป็นจริง มิใช่เข้าวัดหรือเข้าหาธรรมะเพื่อลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งใดๆ ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะหรือธรรมารมณ์
  4. เต่า เป็นสัญลักษณ์แห่งการสำรวมและระวัง เต่ามีกระดองเป็นเครื่องป้องกันอันตราย อวัยวะที่โผล่พ้นออกมาจากกระดองมี หัว หาง และเท้า 4 เท้ารวมเป็น 6 เมื่อเจออันตรายใครจะทำร้ายหรือสัตว์อื่นจะทำร้ายเต่าจะเก็บอวัยวะเหล่านี้เข้าไปในกระดอง เปรียบเหมือน มนุษย์มีอายตนะ6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ถ้าเผลอไม่ระวังเมื่อใด กิเลสก็จะขบกัดเอาทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ถ้าสำรวมระวังได้กิเลสก็จะไม่ขบกัดเอาเหมือนเต่าเก็บอวัยวะในกระดอง สติที่ห้ามความชั่วและกิเลสทั้งปวงได้เปรียบเหมือนกระดองเต่า เต่ามีกระดองป้องกันทุกข์ภยันตรายจนมีอายุยืนยาวดังคำที่ว่าเต่าล้านปี อายุจริงของเต่าจะถึงล้านปีหรือไม่ก็ไม่เป็นไรแต่สำนวนนี้ย่อมสื่อว่า เต่าอายุยืน สาเหตุหลักที่เต่ามีอายุยืนเพราะมีกระดองป้องกันอันตราย มนุษย์ก็เช่นกันถ้ามีสติสำรวมระวังกายวาจาและใจ ก็มีอายุยืนและสงบสุขปลอดจากการคุกคามของกิเลสถึงสุขทั้งกายและใจอย่างยั่งยืนได้เช่นกัน

งานกฐินวัดต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศทั่วโลกงวดเข้ามาทุกที เมื่อผ่านฤดูกาลนี้ไปแล้ว ต้องรอถึงปีหน้า จึงควรเจริญธรรมทั้ง 4 ประการนี้ไว้เพื่อให้มีความสุขกายสบายใจรอดพ้นจากอันตรายทั้งกายและใจ เพื่อมีชีวิตยืนยาวได้ทำบุญทอดกฐินเพื่อค้ำจุนพระพุทธศาสนาในปีต่อๆ ไป

วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2561 เวลา 9.30 น.

ดร.พระมหาจรรยา  สุทฺธิญาโณ

Leave a Reply