นักเรียนแพทย์ชีวก โกมารภัจจ์
เจ้าชายอภัยเลี้ยงดูชีวกด้วยความรักทะนุถนอมจนเจริญเติบโตเป็นหนุ่ม ตั้งแต่เวลาที่รู้เดียงสา ชีวกเฝ้าถามเจ้าชายอภัยอยู่เสมอๆ ว่า ใครคือบิดามารดาของเกล้ากระหม่อม
เจ้าชายอภัยตอบด้วยความกรุณาเสมอว่า ลูกเอ๋ยแม้พ่อก็ไม่รู้จักว่า ใครคือมารดาของเจ้า แต่พ่อนี้แหละคือพ่อของเจ้า เพราะพ่อได้เลี้ยงเจ้ามา
แม้ชีวกจะได้รับความรักเมตตาจากเจ้าชายอภัยประดุจว่า เป็นบิดาแท้ๆ แต่ชีวกก็รู้สึกว่า ตนเองเป็นกำพร้าอยู่นั่นเอง
แทนที่ชีวกจะน้อยเนื้อต่ำใจใฝ่ต่ำ เพราะตนเองเกิดมามีปมด้อยขาดทั้งพ่อและแม่หรือ คิดว่า ตนเองเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าฟ้าแห่งมคธแล้ว ใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานผลาญทรัพย์สินของบิดาเลี้ยงเพื่อเติมเต็มสิ่งที่ตนเองขาดแคลนหรือหาความอบอุ่นให้แก่ตนเองในทางที่ผิด แต่ชีวกกลับพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสด้วยความดำริชอบว่า คนที่ไม่มีศิลปวิทยาจะพึ่งราชสกุลนั้นยาก อย่ากระนั้นเลย เราควรเรียนศิลปวิทยาเอาไว้
ขณะนั้นแม้ชีวกจะพึ่งราชสุกลมีความเป็นอยู่เยี่ยงเจ้าชายน้อย แต่ก็ตระหนักหลักแหลมว่า หากไม่มีศิลปวิทยาจะพึงคนอื่นต่อไปก็ไม่ง่ายนัก จึงตัดสินใจหาความรู้ใส่ตัวเพื่อจะได้พึ่งตัวเองต่อไปในภายภาคหน้า เพราะการพึ่งตนเองเป็นการพึ่งพาที่ยั่งยืน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตนเป็นที่พึ่งของตนนั่นเอง
ความคิดแบบนี้ของชีวก โกมารภัจจ์ นับเป็นความดำริชอบประกอบด้วยกุศลอย่างแท้จริง เมื่อความดำริชอบเกิดขึ้นแล้ว การทำ การพูด อื่นๆ ที่จะตามมาก็ล้วนเป็นความถูกต้องชอบธรรมต่อไปตามเหตุปัจจัยและจิตที่ตั้งไว้แล้วอย่างถูกต้อง
อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อความคิดของชีวก ตกผลึกดีแล้ว จึงแอบเดินทางออกจากกรุงราช
คฤห์โดยมิได้บอกลาเจ้าชายอภัยแต่อย่างใด เขาเดินทางรอนแรมเป็นเวลาหลายวันจนถึงกรุงตักสิลา อันเป็นเมืองที่มีสถาบันการศึกษาที่เรืองนามในสาขาต่างๆ มากมายในสมัยนั้น
ชีวกได้ทราบว่า นายแพทย์ทิสาปาโมกข์ มีชื่อเสียงในการรักษาผู้ป่วยจนเป็นที่รู้จักกันทั่วทิศจึงได้เข้าไปมอบตัวเป็นศิษย์ของอาจารย์ท่านนี้ โดยการแสดงเจตนารมณ์ให้อาจารย์ทราบว่า ท่านอาจารย์ครับ ผมใคร่จะศึกษาศิลปวิทยาครับ
อาจารย์ทิสาปาโมกข์จึงรับเป็นศิษย์ว่า พ่อชีวก ถ้าเช่นนั้น เธอจงศึกษาเถิด
จากนั้นชีวก โกมารภัจจ์ จึงตั้งใจศึกษาเล่าเรียนวิชาแพทย์จากอาจารย์ด้วยความตั้งใจดี ด้วยความรักความพอใจในวิชาที่เรียน ขยันหมั่นเพียรทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เอาใจใส่งานน้อยใหญ่ที่อาจารย์มอบให้ ทำความเข้าใจปรับปรุงประยุกต์ทั้งความรู้และงานภาคสนามอย่างเพลิดเพลินและสนุกกับความรู้ใหม่ๆ ที่ได้รับมาจากอาจารย์และการศึกษาค้นคว้า
พระวินัยปิฎกภาษาไทยเล่ม 5 พรรณาคุณสมบัติของนักเรียนแพทย์ชีวกไว้ว่า ชีวก โกมารภัจจ์ เรียนได้มาก เรียนได้เร็ว ทรงจำได้ดี ที่เรียนแล้วก็ไม่ลืมเลือน (หน้า 182)
เวลาผ่านไป 7 ปี ชีวกจึงคิดว่า เราเรียนได้มาก เรียนได้เร็ว เรียนได้ดี ที่เรียนแล้วก็ไม่ลืมเลือน และ เรียนมาถึง 7 ปีแล้ว ก็ยังไม่จบสักที เมื่อไร เราจะจบศิลปวิทยานี้เสียที คิดดังนี้แล้ว จึงเข้าไปหาอาจารย์ถามว่า เมื่อไรผมจะจบศิลปวิทยานี้เสียทีขอรับ
นายแพทย์ทิสาปาโมกข์ไม่ได้บอกว่า เมื่อไรจะจบศิลปวิทยา แต่ได้ให้งานภาคสนามชิ้นหนึ่งว่า พ่อชีวก ถ้าเช่นนั้นเธอจงถือเสียมแล้วเดินไปรอบๆ กรุงตักสิลาในระยะ 1 โยชน์ พบสิ่งที่ไม่ใช่ตัวยาจงเก็บนำมาด้วย (พระวินัยปิฎกเล่ม 5 หน้า 182)
คำสั่งงานนี้ของท่านอาจารย์ทิสาปาโมกข์คือ ข้อสอบไล่จบการศึกษานั่นเอง แต่ท่านออกข้อสอบด้วยความชาญฉลาด แทนที่จะให้นักศึกษาไปรวมรวมต้นไม้ใบหญ้าที่เป็นยามาอธิบายสพรรคุณให้ฟัง แต่กลับให้หาต้นไม้ใบหญ้าสิ่งที่มิใช่ตัวยามาให้ดู
ชีวก โกมารภัจจ์ คว้าเสียมเดินทางไปรอบๆ เมืองตักสิลาในรัศมี 1 โยชน์ หรือ 400 เส้นขุดค้นต้นไม้ใบหญ้าทุกชนิดที่ได้พบเห็นชนิดพลิกแผ่นดินจนไม่มีเหลือ ต้นไม้ใบหญ้าแต่ละต้นที่ได้พบก็ศึกษาทั้งลำต้น ทั้งกิ่ง ทั้งราก ทั้งใบ ดอก ผล ไม่ให้มีส่วนเหลือเพื่อศึกษาว่า แต่ละส่วนของต้นไม้ใบหญ้า แต่ละชนิดมีสรรพคุณหรือมีโทษแตกต่างกันอย่างไร
หลังจากเดินขุดค้นศึกษาจนทั่วถึงไม่มีหลงเหลือ จึงแบกเสียมกลับมาหาอาจารย์แล้วรายงานผลการขุดค้นศึกษาวิจัยภาคสนามว่า ท่านอาจารย์ครับ ผมเดินไปรอบๆ กรุงตักสิลาในระยะ 1 โยชน์แล้ว ไม่พบเห็นสิ่งใดที่ไม่เป็นตัวยาแม้สักอย่างเดียว
นั่นก็หมายความว่า ต้นไม้ใบหญ้าทุกชนิดบริเวณรอบๆ เมืองตักสิลารัศมีหนึ่งโยชน์นั้น ล้วนเป็นยาแทบทั้งสิ้น การออกข้อสอบของอาจารย์เป็นการแสวงหาความรู้อย่างบริสุทธิ์ ไม่ต้องใช้เครื่องมือมาก ประหยัด ไม่ต้องใช้ภาชนะบรรจุต้นไม้ใบหญ้ามานำเสนอแต่อย่างใด บอกความคิดรวบยอดได้ว่า ต้นไม้ใบหญ้าทุกต้นเป็นยาทั้งสิ้น ต้นไม้ใบหญ้าเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ที่เดิมมิได้ถูกตัด ถอน หรือ ทำลายเพื่อนำมาแสดงประกอบการนำเสนอแต่อย่างใด เป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปในเวลาเดียวกัน
เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า การศึกษาสมัยโบราณเน้นการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์ สัตว์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยพึ่งพาอาศัย ส่งเสริมซึ่งกันและกัน แต่มิใช่ทำลายสิ่งหนึ่งเพื่อให้สิ่งหนึ่งดำรงอยู่ได้ จึงเป็นการศึกษาที่สมดุลของชีวิตธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสรรพสิ่ง
ท่านอาจารย์ทิสาปาโมกข์ได้รับรายงานการขุดค้นและวิจัยแล้ว จึงประกาศผลการศึกษาวิจัยของนักศึกษาแพทย์ชีวก โกมารภัจจ์ว่า พ่อชีวก เธอเรียนได้ดีแล้ว ความรู้เท่านี้พอครองชีพได้แล้ว(182)
คำประกาศผลสอบนี้ชี้ว่า การศึกษาของชีวก โกมารภัจจ์ ครบถ้วนจบบริบูรณ์ตามหลักสูตรของสถบันการแพทย์ศึกษาตักสิลาทุกประการ
คำประกาศของาจารย์ทิสาปาโมกข์แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งที่บอกว่า เธอเรียนได้ดีแล้ว หมายความว่า คะแนนหรือเกรดการศึกษาของชีวก โกมารภัจจ์ อยู่ในขั้นเรียนดี หรือ ถ้าเทียบเกรดปัจจุบันก็ คือ เกรดเอ
คำประกาศส่วนที่สอง บอกว่า ความรู้เท่านี้พอเลี้ยงชีพได้แล้ว หมายความว่า จุดมุ่งหมายสำคัญของการศึกษาคือ ให้มีความรู้จนไปประกอบอาชีพให้เลี้ยงชีพได้ การศึกษาเพื่อการเลี้ยงชีพแบบนี้จึงอยู่ที่ความรู้แท้ ที่ได้รับจากกระบวนการศึกษามิใช่อยู่ที่ใบประกาศ หรือ แผ่นกระดาษรับรองเพียงอย่งเดียว แต่การศึกษาที่แท้ต้องมีคุณภาพใช้เลี้ยงชีพได้ พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
เมื่อชีวกจบการศึกษาแล้ว จึงลาอาจารย์ทิสาปาโมกข์กลับบ้านกลับเมือง แม้ชีวกจะผ่านการศึกษาด้านปฏิบัติการ และ วิชาการแล้วแต่อาจารย์ยังมีกิจกรรมสุดท้ายคือ การทำสอบว่า วิชาที่ชีวกเรียนจบไปนั้นจะเลี้ยงชีพตนเองได้จริงหรือไม่ ฉะนั้นในวันเดินทางกลับอาจารย์จึงให้เสบียงอาหารติดตัวเพียงเล็กน้อย แม้ชีวกจะเดินทางเร็วแค่ไหนสเบียงอาหารที่น้อยนิด ก็จะหมดลงระหว่างทาง และจุดนั้นนั่นเองคือจุดทดสอบว่า เมื่อเสบียงหมดลงบัณฑิตจากตักสิลาอันเลื่องชื่อจะเอาชีวิตรอดอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไปได้
วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2557
เวลา 9.30 น.
วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า มลรัฐแคลิฟอร์เนีย
ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ
เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญาและวัดลอยฟ้า
www.buddhapanya.org & www.skytemple.org