ชาวพุทธ คงได้ยิน คำว่า สังขาร มาอย่างคุ้นเคย จึงนำมาสนทนากันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อส่งเสริมความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้น อันจะเป็นแนวทางแห่งการประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อก่อให้เกิดความสงบสุขในชีวิตของผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลายสืบไป
คำว่า สังขาร แปลตามรูปศัพท์ว่า การปรุงแต่ง หรือ สิ่งที่เหตุปัจจัยปรุงแต่ง หากมองรอบๆตัวจะพบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ล้อมรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นอะไร จะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ล้วนเป็นสังขาร คือ ปรากฏ หรือ เกิดมาจากปัจจัยปรุงแต่งทั้งนั้น จอคอมพิวเตอร์ที่กำลังพิมพ์ข้อมูลเข้าไป ก็เป็นสังขารชนิดหนึ่งเพราะมาจากการปรุงแต่งด้วยเครื่องประกอบต่างๆมากมาย เครื่องคอมพิวเตอร์ที่กำลังใช้งานอยู่ก็มีองค์ประกอบของคอมพิวเตอร์อีกมากมายหลายอย่าง ตามเหตุปัจจัยที่เพียงพอต่อการประกอบกันเป็นคอมพิวเตอร์
หนังสือพิมพ์ที่อยู่ในมือของท่านก็เป็นสังขาร เพราะองค์ประกอบมีมากมายหลายอย่างกว่าจะมาเป็นกระดาษ และเป็นหนังสือพิมพ์ คนส่งหนังสือพิมพ์ ขับรถมาส่งหนังสือพิมพ์ตามบ้านหรือตามสำนักงานล้วนเป็นความเคลื่อนไหว ในเชิงสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ของสังขารทั้งสิ้น
ในทางพระพุทธศาสนาแบ่งสังขารออกเป็น 2 อย่างคือ
- สังขารที่มีใจครอง เช่น มนุษย์และสัตว์น้อยใหญ่
- สังขารที่ไม่มีใจครอง เช่น กระดาษ หนังสือ โต๊ะ ตู้เตียง ปากกา กระดาษ แม้แต่น้ำดื่มก็เป็นสังขารเพราะมาจากการประกอบของ ไฮโดรเจน และออกซิเจน
เวลาบ่ายๆ มีคนขับรถนำหนังสือพิมพ์มาส่ง ก็เป็นปรากฎการณ์แห่ง สังขารที่มีใจครอง นำสังขารที่ไม่มีใจครองมาส่ง เจ้าของบ้านสังขารที่มีใจครองจึงรับหนังสือพิมพ์เอาไว้ ความเคลื่อนไหวบนพื้นพิภพนี้ไม่มีอะไรนอกเหนือจากความเคลื่อนไหว ที่มีสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์แห่งสังขารเท่านั้น
พระพุทธเจ้าตรัสกฎของสังขารทั้งหลายว่า “เกิดมาจากเหตุปัจจัย แปรเปลี่ยนไป เสื่อม สลาย และดับไปในที่สุด”
พระนางธรรมทินนาเถรี พระอรหันต์หญิงผู้เป็นเลิศในการแสดงธรรม ได้อธิบายสังขาร ในความหมายว่า ปรุงแต่งเอาไว้ 3 ความหมาย คือ
- กายสังขาร การปรุงแต่งกาย สิ่งที่มาปรุงแต่งกายที่สำคัญที่สุด คือ ลมหายใจ นั่นก็หมายความว่า ตราบใดยังมีลมหายใจ อันเปรียบเหมือนกุญแจชีวิตที่เริ่มขึ้นและสืบเนื่อง ธาตุและเหตุปัจจัยต่างๆที่ทำหน้าที่ปรุงแต่งก็ทำงานได้ต่อไป ตราบใดชีวิตยังสืบต่อไปในฐานะสังขารที่เกิดมาจากการปรุงแต่งตามเหตุตามปัจจัย ชีวิตก็ดำรงอยู่ต่อไป แต่เมื่อลมหายใจยุติลง การปรุงแต่งกายก็ยุติลง สังขารเดินเข้าสู่กฎธรรมชาติ คือ แปรปรวน เสื่อม สลาย และดับไปในที่สุด
- วจีสังขาร แปลว่า สิ่งที่ปรุงแต่งวาจา ความตรึกตรอง เป็นปัจจัยสำคัญแห่งการปรุงแต่งวาจา กล่าวคือ ก่อนจะพูดอะไรออกไป ต้องใคร่ครวญ ตรึกตรองเสียก่อน การตรึกตรองเพื่อปรุงแต่งวาจานั้น เป็นไปทั้งสองด้านคือ ปรุงออกมาให้เป็นคำหยาบ คำส่อเสียด คำเพ้อเจ้อ คำเท็จก็ได้ หรือ จะปรุงออกมาเป็นคำอ่อนหวาน ไพเราะ ภาษาที่ใช้ร้อยเรียงก็สละสลวยสวยงามอย่างเช่น บทกวี บทเพลงต่างๆและสุนทรพจน์ จำนวนแสนจำนวนล้านชิ้น ล้วนเป็นผลงานแห่งตรึกตรองแห่งวจีสังขารทั้งสิ้น
- จิตตสังขาร การปรุงแต่งจิต องค์ประกอบสำคัญที่ปรุงแต่งจิต คือ ความรู้สึก สุข ทุกข์ และความรู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์ ความทรงจำ ความสำคัญมั่นหมายสิ่งต่างๆที่ผ่าน เรียกตามภาษาวัดว่า เวทนา และสัญญา เป็นเครื่องปรุงแต่งจิต นอกจากสังขารหมายถึงร่างกายและสิ่งของอย่างที่เคยเข้าใจกันโดยทั่วไปแล้ว สังขารยังหมายถึงความคิด หรือ สิ่งที่มาปรุงจิตให้คิดไปต่างๆนานา นวนิยาย สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ภาพวาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆล้วนมาจากสังขารทั้งสิ้น เครื่องบิน รถไฟ รถยนต์ โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ ปัจจัยสี่ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ภูมิทัศน์ต่างๆอันตระการตาที่ดารดาษอยู่ทั่วพื้นพิภพ ล้วนมาจากจิตตสังขาร สู่งานสร้างสรรค์อันอลังการต่างๆมากมาย เป็นงานสื่อจากจิตภาพ ที่เป็นนามธรรม สู่กายภาพที่เป็นรูปธรรมให้ได้ชื่นชมและใช้สอยประโยชน์อำนายความสะดวกต่างๆเหลือคณานับ สิ่งที่ปรากฏอยู่บนพื้นโลกทั้งที่ติดอยู่กับที่และเคลื่อนที่ได้ล้วน เป็นผลงานของจิตตสังขารทั้งสิ้น จิตตสังขารสร้างงานไว้ให้แก่โลก เป็น 3 ลักษณะ คือ ดี ไม่ดี และกลางๆ สิ่งที่ดีเช่น อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค สิ่งไม่ดี เช่น ยาพิษ อาวุธทุกชนิด ยาเสพติดทุกชนิด สิ่งที่เป็นกลางๆ เช่น แก้วน้ำ จาน เงิน แก้วน้ำเปล่าๆยังไม่ดีไม่ชั่ว หากนำไปใส่ยาพิษก็ไม่ดี หากนำไปใส่นมหรือน้ำส้มดื่มก็จะดีมีประโยชน์ จานเปล่ายังไม่ดีไม่ชั่ว ถ้านำไปใส่อาหาร จะเป็นจานอาหารดี ถ้านำไปใส่ยาพิษจะไม่ดีชีวิตได้รับอันตราย เงิน ถ้านำไปสร้างสรรค์ปัจจัยสี่ ส่งเสริมการศึกษา เรียนรู้เพื่อ เมตตา ปัญญา และสันติภาพ จะดี แต่ถ้า นำไปสร้างอาวุธฆ่าคน นำไปผลิตยาเสพติดมาทำลายสุขภาพและชีวิตมนุษย์ก็ไม่ดี
การปรุงนั้นจะดี ที่เรียกว่า กุสลา หรือไม่ดี เรียกว่า อกุสลา หรือ เป็นกลางๆ เรียกว่า อัพยากตา ขึ้นอยู่กับว่า ปรุงมาด้วยความรู้สึกอย่างไร ถ้าปรุงด้วยเมตตา กรุณา สิ่งที่ถูกปรุงมาจะช่วยกันรักษาดูแลชีวิตมนุษย์ เช่น ยารักษาโรคต่างๆ อาหารบำรุงร่างกายต่างๆเกิดมาจากความดีที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ ส่วนปืนหรือระเบิด มีความโหดร้ายอันตรายและความเสี่ยงแฝงอยู่เพราะมันคือ ที่มาแห่งความบาดเจ็บล้มตาย คนที่ออกแบบ ก็ออกแบบมาด้วย ความโลภ เห็นแก่ค่าจ้าง หรือ ผลิตออกมาเพราะความโกรธแค้น หรือ สร้างผลิตภัณฑ์ออกมาโดยไม่รู้ถึงผลกระทบอะไรที่จะตามมา คิดได้ว่าทำแล้วได้เงินก็ทำไปโดยไม่ยั้งคิด ปัญญาของมนุษย์เพียงอย่างเดียว ยังไม่ปลอดภัย ต้องประกอบด้วย สติ รู้จักพิจารณาโดยแยบคายก่อนว่าออกแบบไปแล้ว มีผลกระทบด้านไหนอย่างไรบ้าง ต้องมีสมาธิ คือ ความตั้งใจหนักแน่นบริสุทธิ์ เป็นอิสระจากความเกลียดชัง ความโลภ หรือ ความไม่รู้ การสร้างสรรค์ต่างๆจึงมีประโยชน์ถ่ายเดียว
การศึกษาของโลกจึงต้องกลับมาทบทวนกันว่า การสอนให้มนุษย์คิดเก่ง คิดเป็นแล้วสร้างสรรค์สิ่งต่างๆได้นั้นก็ถูกต้องในระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะให้โลกปลอดภัยต้องสอนให้คนที่คิดเก่ง ออกแบบเก่ง สร้างสรรค์เก่ง ต้องมีความยั้งคิด มีเหตุ มีผล มีความเมตตากรุณาเห็นแก่เพื่อนมนุษย์มากกว่าจะเห็นแก่ประโยชน์ตน พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนการบำเพ็ญประโยชน์ไว้อย่างสมดุลว่า “เธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด” พระดำรัสนี้มีความหมายพอเพียงที่จะยังมนุษย์ให้รักกันและยังโลกนี้ให้มีสิ่งตระการตาต่างๆอย่างปลอดภัย ไม่เบียดเบียนกัน ไม่มีสงครามทุกรูปแบบและทุกระดับของสังคม อันจะนำไปสู่สันติภาพโลกที่ยั่งยืน
มองโดยความเป็นปัจเจกบุคคล จิตตสังขาร การปรุงแต่งทางจิต คือ ความคิดนี้เอง มีรากฐานมาจาก ผัสสะ คือ การเห็น การได้ยิน การดมกลิ่น การลิ้มรส การถูกต้อง และความน้อมนึก มากระตุ้นให้เกิดความคิด สิ่งที่ผ่านการกระทบบางอย่างกระตุ้นมาก เร้าใจมาก ก็ทำให้คิดมาก บางอย่างไม่น่าสนใจรู้แล้วก็ปล่อยผ่านไปไม่คิดเลย ถ้าคิดมากจนเกินไปจะพบกับสภาพเหนื่อยใจ หรือความเครียด พระพุทธเจ้าตรัสถึงสังขารไว้สองแนวทางว่า “ปรุงแต่งมากทุกข์มาก ระงับการปรุงแต่งเสียได้เป็นสุข”
หรือ อาจจะใช้ภาษาง่ายๆว่า คิดมากเครียดมาก คิดน้อย เครียดน้อย ไม่คิดอะไร ไม่เครียด
ขอสรุปบทความตามแนวทางพระพุทธเจ้าตรัสไว้นี่แหละว่า ถ้าคิดมาก เป็นทุกข์มาก ก็ลองคิดน้อยๆ ดู หรือ คิดเท่าที่จำเป็น ถ้าหมดความจำเป็นก็พักใจไม่คิดบ้างจะได้เป็นสุข อ่านบทความนี้แล้วใครสนใจนำไปทดลองได้ ส่งเสริมด้วยความเต็มใจ ความสุขกับความทุกข์อยู่ที่ใจของทุกคนแล้ว ทุกคนมีทางเลือกเท่ากัน สุดแล้วแต่จะเลือกสุขหรือทุกข์ ถ้าต้องการความทุกข์และความเครียดก็คิดต่อไป ถ้ารู้สึกเหนื่อยต้องการพักเพื่อความผ่อนคลาย ลองพักจิตด้วยการหยุดคิด มีเพียงความรู้ชัดๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องไปปรุงไปยุ่ง แล้วสังเกตดูว่าหยุดคิดแล้วจะสุขเพียงใด จงพิจารณาให้เห็นประจักษ์แก่ใจของตนๆ เถิด
วันที่ 28 กันยายน 2561 เวลา 13.48 น.
วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย
ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ
เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา