ความเป็นมาของผ้ากรานกฐิน

By | 10/24/2018

สมัยหนึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี พระภิกษุจำนวน 30 รูปจากเมืองปาเฐยยะ เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี แต่พอพระภิกษุเหล่านั้นเดินทางมาถึงเมืองสาเกต ระยะทางไกลจากเมืองสาวัตถี 6 โยชน์ วันเข้าพรรษาก็มาถึง พระภิกษุเหล่านั้นเอื้อเฟื้อต่อพระวินัยเรื่องจำพรรษามาก จึงอธิษฐานเข้าพรรษากัน ณ เมืองสาเกต

ภิกษุเหล่านั้นเมื่อออกพรรษาแล้ว แม้ฝนยังตกลงมาอย่างหนักติดต่อกันหลายวัน ก็มิได้ประหวั่นพรั่นพรึงต่อความเปียกปอนจากน้ำฝน หรือหนทางที่เต็มไปด้วยโคลนตมแต่อย่างใด ยังคงมีจิตใจมุ่งมั่นต่อการเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงอย่างเดียว ทุกรูปรีบเดินทางฝ่าฝนลุยโคลนด้วยความลำบากตรากตรำ จนไปถึงเมืองสาวัตถี จึงได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมตามความมุ่งมาดปรารถนาอย่างแรงกล้า แม้ผ้าผ่อนจะเปียกปอนไปด้วยน้ำฝน เปรอะเปื้อนด้วยโคลนตม แต่จิตใจผ่องใสไร้ความขุ่นมัวประดุจผ้าขี้ริ้วห่อมณีอันล้ำค่าฉะนั้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้นที่เปียกปอนเปรอะเปื้อนด้วยโคลนตม จีวรเปียกปอนขาดรุ่งริ่ง เมื่อทรงปฏิสันถารถึงความเป็นอยู่ การเดินทาง และเรื่องราวต่างๆด้วยพระมหากรุณายิ่งแล้ว ทรงปรารภจีวรที่เก่าคร่ำคร่าของภิกษุเหล่านั้นเป็นต้นเหตุแล้วทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาสแล้ว แสวงหาผ้าทำจีวรผืนใหม่ได้พร้อมด้วยทรงอนุญาตผ่อนปรนข้อปฏิบัติพระวินัยบางข้อ เกี่ยวกับจีวร อาหารและการเดินทางเป็นการชั่วคราว การผ่อนปรนพระวินัยดังกล่าวนี้เรียกว่า อานิสงส์กฐิน มีด้วยกัน 5 ข้อคือ

  1. เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา ตามปกติเวลาพระภิกษุเดินทางออกจากอารามไปไหนต้องบอกลาพระภิกษุที่อยู่ในวัด เพื่อให้ทราบว่าจะไปไหน เวลาใครมาถามหาจะได้ให้ข้อมูลถูกต้องว่า ไปปฏิบัติศาสนกิจ ณ ที่ใด
  2. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ ตามปกติเวลาที่พระภิกษุจะเดินทางไปไหนต้องนำจีวรไปครบทั้งสามผืนเรียกว่าไตรจีวร แต่พอได้รับอานิสงส์กฐินแล้ว เวลาเดินทางไกล พระภิกษุจะนำผ้าไปผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ เพื่อมิให้เป็นภาระในการนำไป เป็นความจริงว่า การถือของมากชิ้นเวลาเดินทางไกล จะทำให้หนักเดินทางได้ล่าช้า เหนื่อยยากลำบาก แต่ถ้านำของใช้สอยไปน้อยชิ้นเท่าที่จำเป็น จะเดินทางเบาสบายง่ายต่อการเคลื่อนย้าย
  3. ฉันคณโภชนะได้ ตามปกติพระภิกษุสงฆ์จะฉันในบาตรของตนๆ แต่พอได้รับอานิสงส์กฐินแล้วจะฉันอาหารร่วมกันเป็นวง เป็นกลุ่มกับเพื่อนสหธรรมิกได้
  4. ทรงอดิเรกจีวรไว้ได้ตามต้องการ ตามปกติพระสงฆ์จะใช้ผ้าเพียงสามผืนที่เรียกว่าไตรจีวร แต่เมื่อรับกฐินแล้วสามารถเก็บผ้าได้เกินสามผืน เพราะคำว่าอดิเรกแปลว่า เกิน ในที่นี้หมายถึง เก็บผ้าไว้ได้เกินกว่าที่เคยมีเคยใช้สามผืน
  5. พระภิกษุจะได้จีวรที่เกิดขึ้นในที่นั้น เมื่อพระภิกษุเดินทางไป ณ ที่ใด อุบาสก อุบาสิกา ถวายผ้าจีวร พระภิกษุสามารถรับและครองจีวรนั้นได้

อานิสงส์ดังกล่าวนี้พระภิกษุจะได้รับเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 โดยการนับแบบจันทรคติ ต่อจากนั้นพระภิกษุสงฆ์ต้องปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติจนกว่าจะได้รับอานิสงส์ในปีต่อไป

ในยุคต้นพุทธกาล เมื่อถึงฤดูกาลกฐิน พระภิกษุสงฆ์ต้องแสวงหาผ้าทำจีวร ด้วยการเดินไปตามกองขยะคุ้ยเขี่ยหาผ้าผืนเล็กผืนน้อย ที่เรียกว่า ผ้าบังสุกุล คือ ผ้าเปื้อนฝุ่น ครั้นได้ตามต้องการแล้วก็นำมาซักให้สะอาดตากให้แห้งแล้วนำมาเย็บต่อๆกัน การเย็บผ้าผืนเล็กผืนน้อยต่อกันเข้า เป็นสิ่งที่จะต้องช่วยกันเป็นสังฆสามัคคี นับเป็นกิจสงฆ์อย่างหนึ่ง เมื่อได้ผ้าผืนใหญ่ขนาดที่จะทำจีวรได้แล้วจึงนำเย็บเป็นจีวร  กระบวนการเย็บจีวรตามพระบรมพุทธานุญาตนี้ พระภิกษุต้องใช้ไม้มีขอบสี่ด้าน มาขึงผ้าให้แน่นเพื่อจะเย็บได้สะดวก ไม้สะดึงที่ขึงผ้านี้แหละ ภาษาบาลีเรียกว่า กฐิน การนำผ้ามาขึงที่ไม้สะดึงแล้วช่วยกันเย็บนี้เรียกว่า กรานกฐิน

ต่อมาพระพุทธเจ้าทรงมีพระบรมพุทธานุญาตเพิ่มเติมให้ ทายกทายิกานำผ้ามาถวายแก่พระภิกษุสงฆ์เพื่อกรานกฐินได้ เพื่อถวายความสะดวกแก่พระภิกษุ ลดภาระการแสวงหาผ้าบังสุกุลตามกองขยะ เดินหน้าทำจีวรได้เลย เมื่อเย็บเสร็จก็ย้อมแล้วพิจารณาถวายแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่คณะสงฆ์เห็นว่าเหมาะสม

ปัจจุบันนี้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีก้าวไกล ร้านค้าต่างๆจำหน่ายผ้าจีวรมากมาย ทายกทายิกาผู้ปรารถนาจะถวายผ้าไตรจีวรเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาสได้กรานกฐิน ก็ไปซื้อผ้าไตรจีวรสำเร็จรูปที่ได้ ตัดเย็บย้อมเรียบร้อยแล้ว พระภิกษุสงฆ์รับผ้าจีวรสำเร็จรูปมาทำสังฆกรรมกฐินและคณะสงฆ์ที่ร่วมสังฆกรรมอนุโมทนา เพื่อได้อานิสงส์ร่วมกัน

พุทธศาสนิกชนผู้มีความขวนขวายแสวงหาผ้าไตรจีวรมาถวายพระสงฆ์ ย่อมได้บุญตามบุญกริยาวัตถุหลายประการตามกิจกรรมที่จัดทำกันขึ้น การถวายผ้าจีวร ถือว่า เป็นการให้ทานในข้อต้นแห่งบุญกิริยาวัตถุ แต่ถ้าถวายผ้ากฐิน เป็นทานพิเศษเรียกว่า กาลทาน เพราะหนึ่งปีถวายผ้าเพื่อกรานกฐินได้ 1 ครั้งต่อ 1 วัด นับเป็นทานที่กระทำได้ยากจึงมีบุญมาก มีอานิสงส์มาก เพราะได้บำเพ็ญทั้งประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ได้บำรุงพระพุทธศาสนาด้วยการสืบทอดสังฆกรรมตามพระบรมพุทธานุญาตให้ยืนยาวต่อไป การรักษาและสืบทอดพระธรรมวินัยคือ การสืบทอดอายุพระพุทธศาสนานั่นเอง

ในวาระพิเศษแห่งฤดูกาลถวายผ้า เพื่อให้พระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาในอารามต่างๆ ได้กรานกฐินและได้รับอานิสงส์กฐินนี้ ขอส่งความปรารถนาอนุโมทนาแก่ท่านพุทธศาสนิกชนที่ขวนขวายบุญใหญ่จากกาลทานที่สมัครสมานสามัคคีทำกันอยู่ทุกมุมโลกในขณะนี้ จงมีแต่ความสุขสงบเย็นภายใต้ร่มธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกท่านทุกคน ทุกคืน ทุกวันเทอญ

วันที่ 23 ตุลาคม 2561 เวลา 20.07 น.

วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

ดร.พระมหาจรรยา  สุทฺธิญาโณ

เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา

 

Leave a Reply