วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ของทุกปี พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ถือว่า เป็นวันมาฆบูชา ในวันดังกล่าวพุทธศาสนิกชนทั้งในและต่างประเทศได้บำเพ็ญบุญกุศลกันเป็นพิเศษ คือ การสมาทานศีล ตักบาตรทำบุญ ฟังพระธรรมเทศนา เพื่อเป็นการบูชาพระอรหันต์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น อันเป็นมงคลแห่งชีวิตในข้อที่ว่า การบูชาบุคคลที่ควรบูชา เป็นมงคลอันสูงสุด
โบราณจารย์ทั้งหลายเรียกวันมาฆบูชานี้อีกอย่างหนึ่งว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” เพราะเป็นการประชุมประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 4 ประการคือ
- พระภิกษุสงฆ์ 1,250 องค์มาประชุมกันที่เวฬุวนารามกรุงราชคฤห์โดยมิได้นัดหมาย
- พระภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา ได้รับการบรรพชาอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า
- พระภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ สิ้นกิเลสบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายสิ้นเชิง
- วันนั้นเป็นวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 เป็นวันพระจันทร์เต็มดวง
การประชุมครั้งสำคัญหรือการประชุมสุดยอดของพระอรหันต์แบบนี้มีเพียงครั้งเดียว จึงเรียกว่า อัศจรรย์ ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านล้วนเป็นพระอรหันต์ ก็คือ ความอัศจรรย์เพราะการจะได้พบพระอรหันต์เพียงองค์เดียวก็ยากเย็นแสนเข็ญแต่การประชุมครั้งนี้มีถึง 1,250 องค์ รวมทั้งพระพุทธเจ้าด้วยก็เป็น 1,251 องค์นับเป็นเรื่องอัศจรรย์ครั้งสำคัญบนโลกใบนี้อย่างแท้จริง
พระภิกษุสงฆ์ที่มาประชุมกันนั้น ต่างมีใจตรงกันว่าจะมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เวฬุวัน โดยมิได้นัดหมายหรือส่งสัญญาณใดๆ จึงนับเป็นความมหัศจรรย์ที่สังฆสามัคคีเกิดขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกัน
องค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งซึ่งอัศจรรย์ไม่น้อยคือ พระภิกษุสงฆ์อรหันต์ขีณาสพเหล่านั้น ล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ ได้รับการบรรพชาและอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า โดยมิได้มีพระภิกษุจากพระอุปัชฌาย์อื่นเจือปนเลย จึงนับเป็นความอัศจรรย์อย่างไม่มีทางเป็นอย่างอื่นในยุคสมัยต้นพุทธกาลเช่นนั้น
วันประชุมนั้นเล่า พระอรหันต์แต่ละท่านต่างเลือกเอาวันเพ็ญเดือน 3 อันเป็นปลายฤดูหนาวของประเทศอินเดียที่อากาศไม่หนาวนักไม่ร้อนนัก การเดินทางไปมาสะดวก ที่พักอาศัยตามแบบสมณศากยบุตรต้นพุทธกาลที่พระภิกษุพักตามโคนต้นไม้ก็พักได้สบาย ไม่ต้องกลัวฝนเปียกชุ่มแฉะ บรรยากาศก็ไม่มืดนักพระจันทร์วันเพ็ญสว่างจ้านวลผ่อง เหมาะสำหรับพระผู้สิ้นอาสวะแล้ว มีชีวิตกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติ เป็นการประชุมที่สะท้อนถึงความรักธรรมชาติ อันมนุษย์สามารถอาศัยธรรมชาติดำรงชีพได้โดยไม่ต้องปรุงแต่งด้วยการทำลายธรรมชาติแต่อย่างใด เป็นชีวิตที่เอื้อเฟื้อ ทั้งฝ่ายกาย และฝ่ายจิตที่มีความสมบูรณ์ได้
พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ จึงเป็นธรรมแท้บริสุทธิ์ผุดผ่องอันวางลงในพระอรหันต์ผู้บริสุทธิ์ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการประกาศหลักแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อันเป็นไปเพื่อพัฒนาชีวิตให้เติบโตไปพร้อมกันทั้งกายและจิตอย่างเหมาะสม
ในวาระแห่งวันมาฆบูชา อันเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนที่เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้งในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 นี้ อาตมาขออวยพรให้ท่านพุทธศาสนิกชนที่เดินตามรอยบาทแห่งพระอรหันต์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น จงประสบแต่ความสงบกายสงบใจ ปรารถนาสิ่งใดที่เป็นไปโดยชอบประกอบด้วยธรรม ขอสิ่งนั้นจงพลันสำเร็จตามสมควรแก่ธรรมที่ได้ปฏิบัติดีแล้วนั้นเถิด
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 9.32 น.
วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย
ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ